เเจ้งเกิดลูกต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง

22 September 2020
15362 view

เเจ้งเกิดลูก

เมื่อคุณแม่เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ย่อมมีทั้งความตื่นเต้นบวกกับความกังวลเป็นธรรมดา ทั้งเรื่องการเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อมก่อนที่จะคลอด เตรียมของใช้ต่าง ๆ เพื่อนำไปโรงพยาบาล และยังมีอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่คุณพ่อ คุณแม่ มือใหม่ต้องจัดการก็คือการแจ้งเกิดลูกน้อยนั่นเองค่ะ แต่เอ๊ะ!!การแจ้งเกิดต้องแจ้งที่ไหน ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง วันนี้ Mama Expert รวบรวมข้อมมูลมาให้แล้ว ทั้งแบบแจ้งเกิดภายในกำหนด และเกินกำหนด

1. การแจ้งเกิดลูกภายในกำหนด

หลักเกณฑ์หรือคุณสมบัติในการแจ้งเกิดลูกภายในกำหนด เมื่อมีคนเกิดต้องแจ้งชื่อคนเกิดให้ถูกต้องตามหลักการตั้งชื่อบุคคล พร้อมกับการแจ้งการเกิด

การแจ้งเกิดลูกกรณีคนเกิดในบ้าน ให้เจ้าบ้านหรือบิดาหรือมารดา แจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีคนเกิดในบ้าน ภายใน 15 วันนับแต่วันเกิด

การแจ้งเกิดลูกกรณีคนเกิดนอกบ้าน ให้บิดาหรือมารดา แจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ ที่มีคนเกิดนอกบ้านหรือแห่งท้องที่ที่จะพึงแจ้งได้ ภายใน 15 นับแต่วันเกิด ในกรณีจำเป็นไม่อาจแจ้งได้ตามกำหนด ให้แจ้งภายหลังได้ แต่ต้องไม่เกิน 30 นับแต่วันเกิด

เอกสารที่ใช้ในการแจ้งเกิดลูก
1. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
2. บัตรประจำตัวประชาชนผู้แจ้ง
3. หนังสือรับรองการเกิดจากโรงพยาบาล (ถ้ามี)
4. บัตรประจำตัวประชาชนของบิดาและมารดา (ถ้ามี)

ขั้นตอนการการแจ้งเกิดลูก
1. ผู้แจ้งยื่นเอกสารและหลักฐานต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่เด็กเกิด
2. นายทะเบียนตรวจสอบหลักฐานกับทะเบียนบ้าน และลงรายการในสูติบัตรแล้วเพิ่มชื่อเด็กในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน แล้วมอบสูติบัตรตอนที่ 1 และสำเนาทะเบียนบ้านคืนให้กับผู้แจ้ง

สถานที่แจ้งเกิดลูก
1. สำนักงานเขตในพื้นที่ที่มีคนเกิด
2. ที่ว่าการอำเภอ
3. สำนักงานเทศบาล

สถานที่ติดต่อสอบถาม
1. สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง
2. กรุงเทพฯ สำนักงานเขตทุกแห่ง
3. ต่างจังหวัด ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเทศบาลทุกแห่ง

2. การแจ้งเกิดลูกเกินกำหนด

หลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขกรณีการแจ้งเกิดลูกเกินกำหนด การแจ้งเกิดเกินกำหนดเป็นการแจ้งเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับ แจ้งช้าเกินกว่า 15 วัน นับตั้งแต่วันเกิด มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

เอกสารหรือหลักฐานกรณีการแจ้งเกิดลูกเกินกำหนด
1. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
2. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งเกิด
3. พยานบุคคลที่ให้การรับรอง และบัตรประจำตัวประชาชน
4. รูปถ่ายของบุคคลที่ขอแจ้งการเกิด 1 รูป ในกรณีที่ผู้ขอแจ้งการเกิดมีอายุเกิน 7 ปีบริบูรณ์
5. บัตรประจำตัวประชาชนของบิดา มารดา (ถ้ามี)
6. หนังสือรับรองการเกิดจากโรงพยาบาล (ถ้ามี)
7. เจ้าบ้านหรือมารดาเด็ก ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนที่เด็กเกิด
8. นำพยานบุคคลมาให้ถ้อยคำประกอบ คือ ผู้ทำคลอด ผู้เห็นการเกิด ผู้มีฐานะมั่นคง ซึ่งมีภูมิลำเนาในท้องที่ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือข้าราชการชั้นสัญญาบัตร อย่างน้อย 2 คน และหลักฐานเช่นเดียวกับการแจ้งเกิดภายในกำหนด

ขั้นตอนการแจ้งเกิดลูกกรณีเกินกำหนด
1. ผู้แจ้งเกิดยื่นเอกสารและหลักฐานต่อนายทะเบียนในท้องที่ที่เด็กเกิด
2. นายทะเบียนตรวจสอบหลักฐาน และสอบสวนผู้แจ้งเกิด บิดา หรือมารดาถึงสาเหตุที่ทำให้มาแจ้งเกิดเกินกำหนดเวลา
3. นายทะเบียนนำเสนอนายอำเภอในท้องที่เพื่อพิจารณาอนุมัติออกสูติบัตร และเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน

สถานที่แจ้งเกิดลูกกรณีเกินกำหนด
1. กรุงเทพฯ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเขตในพื้นที่ที่มีคนเกิด
2. ต่างจังหวัด สามารถติดต่อได้ที่ที่ว่าการอำเภอและเทศบาล ภายในพื้นที่ที่มีคนเกิด

เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับการแจ้งเกิดลูกที่ Mama Expert นำมาฝากกันคราวนี้คุณพ่อคุณแม่ ก็หายกังวลเกี่ยวกับการแจ้งเกิดลูกน้อยกันแล้วใช่ไหมคะ แล้วกลับมาพบกับสาระดี ๆ กันได้ใหม่นะคะ

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. คุณแม่หลังคลอด อย่าลืมดูแลตัวเอง เพื่อครอบครัวและตัวเอง
2. วิธีตรวจสอบสิทธิ์เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด พร้อมความหมายของตัว E
3. เกณฑ์การรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ใครลงทะเบียนได้บ้าง เรื่องนี้คุณแม่ไม่รู้ ไม่ได้

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง :

  1. ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน1111. การแจ้งเกิดภายในกำหนด.เข้าถึงได้จาก http://www.gcc.go.th/webgcc/?p=3984 . [ค้นคว้าเมื่อ 4 กันยายน 2563]
  2. ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน1111. การแจ้งเกิดเกินกำหนด.เข้าถึงได้จาก http://www.gcc.go.th/webgcc/?p=3990 . [ค้นคว้าเมื่อ 15 กันยายน 2563]