เทคนิคเพิ่มน้ำนม
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น เป็นสิ่งดีที่สุด และเป็นสิ่งที่คุณแม่ทุกคนปรารถนา ที่จะมอบสิ่งนี้ให้ลูกน้อย ในวันแรกที่เขาลืมตาขึ้นมาดูโลก แต่ในคุณแม่หลายๆคน ไม่เป็นไปตามความตั้งใจ เนื่องจากนมแม่ไม่มี นมแม่ ไม่มา นมแม่น้อย อย่าพึ่งเศร้านะคะ วันนี้ Baby2talk.com นำ เคล็ดลับดีๆ 18 ข้อ เพื่อเพิ่มน้ำนม มาฝากค่ะ
1. ดูดเร็ว คือให้ลูกดูดทันทีหลังคลอด หรือภายใน 30 นาทีแรกหลังคลอด เพื่อให้เกิดการสร้างสายใยระหว่างแม่ลูก และเพื่อให้ลูกคงสัญชาตญาณของการกินนมแม่ไว้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้น้ำนมแม่ออกมาเร็วขึ้น เพราะช่วงนี้ลูกมีแรงดูดนมที่ดีมาก หันหาหัวนมและดูดนมแม่ได้เองธรรมชาติ ถ้าเราไปขัดขวางการดูดนมในระยะนี้ อาจต้องใช้เวลานานในการฝึกให้ลูกกลับมาดูดนมแม่ได้ดีเหมือนตอนแรก
2. ดูดบ่อย ให้ลูกดูดทุกครั้งที่ต้องการ ลืมเรื่องการดูนาฬิกาไปเลยนะคะ ไม่ต้องสนใจว่าลูกดูดนานแค่ไหน แล้วต้องดูดอีกเมื่อไร ในช่วงแรกเป็นระยะปรับตัวของทั้งคุณและลูก ซึ่งต้องใช้เวลาอีกสักพักว่าจะรู้ใจกันดี (ส่วนใหญ่จะเป็นตอนเข้าเดือนที่ 2 – 3 ) คุณแม่มือใหม่ส่วนใหญ่มักไขว้เขวในช่วงเดือนแรกนี่แหละค่ะ พอผ่านเดือนนี้ไปแล้ว ทุกอย่างจะเข้าร่องเข้ารอยมากขึ้น ใจเย็นๆนะคะ
3. ดูดถูกวิธี คือดูดให้ได้น้ำนมและแม่ต้องไม่เจ็บ เทคนิคเล็กๆคือต้องให้ลูกอมให้ลึกถึงลานนม โดยหันตะแคงตัวลูกเข้าหาเต้าแม่แบบทั้งตัวไม่ใช่หันแต่หน้าลูกเข้าหาแม่ แล้วตัวลูกกลับนอนหงาย คุณแม่ลองหันไปด้านข้างแล้วกลืนน้ำดุสิคะว่าลำบากขนาดไหน ลูกก็ลำบากเหมือนกันค่ะเพราะฉะนั้นใช้สูตรท้องลูกเพื่อให้ลูกอมลานนมได้ลึกและตัวเขาก็จะตะแคงหาตัวเรา หากให้นมไม่ถูกท่า คุณแม่ก็จะเจ็บหัวนม และหัวนมจะแตกในที่สุด
4. เชื่อมั่น หากคุณแม่เชื่อมั่นว่ากำลังทำในสิ่งที่ถูกและดีนั่นคือคุณแม่ชนะแล้วละค่ะ หากเชื่อมั่นว่าเรากำลังมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ลูก คุณแม่ก็จะมีกำลังใจให้ตัวเอง กำลังใจที่เข็มแข็งนั้นจะแผ่ซ่านไปถึงลูกด้วยค่ะ ดิฉันมีวิธีสร้างกำลังใจให้กับตัวเองที่ได้ผลชะงัดนัก คุณแม่ลองทำกันดูนะคะ “ให้คุณแม่หาที่สงบๆ(ตอนลูกหลับก็ได้) แล้วหลับตา เอามือทั้งสองมาประสานกันตรงหน้าท้องแล้วกำหนดลมหายใจ โดยหายใจเข้า (ท้องป่อง) ลึกๆ นับ 1 – 5 หายใจออก (ท้องแฟบ) ยาวๆ นับ 1 – 10 ประมาณ 5 รอบ แล้วพูด (เบาๆ) แต่สิ่งที่ดีหรือพูดในเชิงบวก เช่น ‘ฉันเป็นแม่ที่ดี ฉันมีความสุขเหลือเกินที่ได้เลี้ยง (ชื่อน้อง) ลูกก็เป็นสุขที่มีฉันเป็นแม่เพราะฉันรักเขาเหลือเกิน ฉันดูแลเขาเป็นอย่างดี ให้สิ่งที่ดีที่สุดกับเขานั่นก็คือน้ำนมที่กลั่นจากอกของฉันเอง ฉันมีน้ำนมมากพอให้เขากิน ฉันจะอดทนและตั้งใจทำสิ่งที่ดีเพื่อลูกที่ฉันรัก แม่รักลูกจ๊ะ….’ แล้วหายใจเข้าลึกๆ นับ 1 – 5 หายใจออกยาวๆ นับ 1 – 10 อีกครั้ง นับ 1 – 3 แล้วค่อยๆลืมตา..ถามใจตัวเองดูนะคะว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง ”
5. ตั้งใจ คุณแม่ต้องตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยค้นคว้าหาข้อมูล เมื่อมีปัญหาต้องรู้ว่าควรจะปรึกษาใคร และพาตัวเองไปหาแหล่งความรู้นั้นๆ เพราะทั้งหมดนี้จะนำพาคุณแม่ไปสู่ความสำเร็จได้โดยง่าย ดีกว่าการทนอยู่กับความไม่รู้และไม่มั่นใจ
6. อดทน คุณแม่ต้องอดทนให้ลูกดูดนมแม่จากอกบ่อยๆไม่ควรให้ลูกกินนมผสมหรือน้ำ แม้จะไม่มีน้ำใจนมแม่ให้เห็นในช่วง 3 – 4 วันแรกหลังคลอด เพราะลูกมีอาหารสะสมตั้งแต่ยังอยู่ในท้องแม่มากพอ และต้องการนมเพียงมื้อละ 1 – 2 ช้อนชา (5-10 ซี.ซี) เท่านั้นซึ่งถ้าให้ลูกดูดนมแม่ ก็จะมีการสร้างน้ำนมแม่ออกมาเท่าที่ลูกต้องการและไหลเข้าปากลูกหมด ไม่มีน้ำนมแม่เหลือให้คัดและไม่มีน้ำนมไหลออกมาให้เห็น
7. พักผ่อนให้พอ ควรนอนพร้อมๆลูก ไม่ต้องกังวลอะไรมาก ปล่อยวางเสียบ้าง
8. ไม่เครียด ความเครียดเป็นตัวการสำคัญมากถึงมากที่สุดที่ ที่ทำให้น้ำนมน้อย เพราะเมื่อคุณแม่เครียด สมองจะสั่งให้ร่างกายคอยๆหยุดผลิตน้ำนมไปเอง บางครั้งความพยายามที่มากเกินไปกลับส่งผลในทางลบ ลองทำใจให้สบายแล้วคิดว่าเราทำดีที่สุดแล้วคิดเสมอว่า แม่ทุกคนย่อมมีน้ำนมมากพอสำหรับลูกของตัวเองอย่างแน่นอน
9. กินอาหารให้มากพอ ควรกินให้ได้ประมาณหนึ่งเท่าครึ่งของตนเองก่อนท้องนะคะ ไม่ต้องกลัวอ้วน เพราะส่วนเกินของคุณแม่จะไปอยู่กับลูก จะทำให้ลูกตัวฟูสมบูรณ์ดีค่ะ แต่ต้องให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว ไม่ให้อาหารอื่นและไม่ให้น้ำเสริมเลย แล้วน้ำหนักของคุณแม่จะเข้าที่เข้าทางในเวลาประมาณ 6 เดือน กินอาหารที่มีประโยชน์และครบทั้ง 5 หมู่ อย่ากินของหมักดองหรืออาหารที่ปรุงสุกๆดิบๆนะคะ
10. ดื่มน้ำให้มาก ให้ได้วันละ 3 ลิตรนะคะ ไม่ว่าจะเป็นน้ำอุ่นๆน้ำขิงน้ำตะไคร้ น้ำใบเตย นมสด น้ำเต้าหู้ เต้าทึงร้อน ไมโล โอวัลติน หรือน้ำแกงอุ่นๆ
11. ปั้มและบีบให้บ่อย เหมือนกับการให้ลูกดูดนมให้บ่อยนั่นแหละค่ะ ถ้าร่างกายรู้ว่าเรามีความต้องการน้ำนมมาก ก็จะผลิตน้ำนมออกมามากขึ้น เราจึงต้องหลอกด้วยการปั๊มให้บ่อย ได้นิดได้หน่อยก็ไม่เป็นไร ค่อยๆเก็บสะสมไปไม่ต้องเครียดนะคะ
12. อย่าปล่อยให้คัดหน้าอกนาน หากร่างกายรู้ว่าผลิตออกมาแล้วไม่มีผู้บริโภคก็จะผลิตน้อยลง ดังนั้นเมื่อรู้สึกคัดต้องรีบระบายออกทันที เพราะยิ่งปล่อยไป รังแต่จะส่งผลร้าย คือ นอกจากแม่จะเจ็บปวดมากและปั๊มออกยากแล้ว เมื่อให้ลูกดูดก็จะงับไม่ค่อยติด เพราะลานนมรั้งหัวนม และหัวนมก็แข็งจนงับไม่ติดพองับได้ นมก็จะพุ่งจนเขาสำลัก บางครั้งต้องบีบทิ้งบ้างเพื่อทำให้กินได้ง่ายขึ้น
13. กินเต้าเดียว เก็บอีกเต้าไว้ปั๊ม คุณแม่ทำงานควรเตรียมสต๊อกตั้งแต่เนิ่นๆ พอเข้าเดือนที่สองก็เริ่มสะสมไปเรื่อยๆโดยให้ลูกดูดจากเต้าหนึ่ง แล้วพอดูดเสร็จก็ปั๊มจากอีกเต้าเก็บไว้เลย เพราะร่างกายจะสั่งให้ผลิตน้ำนมออกมามากๆและผลิตมาเลยทั้งสองเต้า
14. กินเต้าเดียวและปั๊มอีกเต้าในเวลาเดียวกัน อันนี้เหมาะกับคุณแม่มือเก๋าค่ะ คุณแม่มือใหม่จะลองทำก็ได้ค่ะ รับรองว่าได้ผลเกินคาดเลยเชียวละ
15. กินเสร็จแล้วปั๊มต่อให้เกลี้ยงทั้งสองเต้า เพื่อให้ร่างกายผลิตน้ำออกมามากๆอย่างสม่ำเสมอ
16. ประคบหน้าอกด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น โดยใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น โดยใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นพันเต้านมเป็นเลข 8 และหากรู้สึกว่ายังมีก้อนแข็งๆอยู่ แต่ก็ปั๊มและบีบไม่ออก ให้เอาผ้าขนหนูมามัดให้แน่นคล้ายลูกประคบแล้วชุบน้ำนมมาคลึงส่วนที่เรามักมองข้าม บางครั้งจะมีการก่อตัวเป็นก้อนตรงส่วนนี้ หากเราไม่เอาออกก็จะผลิตน้ำนมได้น้อยลง
17. เปิดทางระบายน้ำนมเวลาคัด ให้คุณแม่ลองใช้น้ำอุ่นราดที่เต้านม แล้วถ้ามีน้ำนมพุ่งออกมา อย่ารีบปิดเพราะเสียดาย ควรปล่อยให้น้ำนมไหลออกมาบ้าง เพื่อระบายและขยายเส้นทางเดินน้ำ
18. เมนูเด็ด เช่น แกงเลียง ยำหัวปลี ต้มโคล้งหัวปลีปลากรอบ ต้มยำหัวปลีกับไก่ ผัดขิงกับไก่ ดอกกุยช่ายต้มจืดกระดูกหมู ผัดใบกระเพรา(หมู เนื้อ ไก่) ขาหมูต้มยำ ขาหมูต้มถั่วลิสง ขาหมูกับน้ำจิ้มซีฟู้ด สเต๊ก (หมู เนื้อ ไก่ ) หมูย่าง หมูทอด ไก่ย่าง ไก่ทอด เมนูไข่ กล้วยน้ำว้า แก้วมังกร
บทความแนะนำเพิ่มเติมสำหรับคุณแม่
1.การใช้ยา ดอมเพอริโดน เพื่อกระตุ้นน้ำนม
2.เพิ่มน้ำนมด้วยสมุนไพรที่ปลอดภัย
3.นมแม่และนมผสม แตกต่างกันอย่างไร
เรียบเรียงโดย : พว. นฤมล เปรมปราโมทย์
ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต