ยาบำรุงครรภ์ เพื่อบำรุงลูกให้แข็งแรงไม่พิการ มีตัวไหนบ้าง

02 December 2017
136349 view

ยาบำรุงครรภ์

สิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์กังวล มากที่สุดคือ การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ โดยเฉพาะความอุดมสมบูรณ์ของร่างกายและมันสมองของลูก คุณแม่ส่วนใหญ่บำรุงครรภ์มุ่งเน้นไปที่ น้ำหนักทารกในครรภ์ และ ความฉลาดของทารกในครรภ์  ซึ่งแท้จริงแล้ว อาหารก็มีส่วนสำคัญในเรื่องดังกล่าว แต่ กรรมพันธุ์ ก็มีอิทธิพลในเรื่องดังกล่าวมาก ถึง 50 เปอร์เช็นต์เช่นกัน แม่ๆ อย่าลืมเรื่องนี้กันนะคะ



คุณแม่ตั้งครรภ์ควรจะรับประทานยาบำรุงครรภ์หรือไม่ อย่างไร 

คำตอบ คือ คุณแม่ควรรับประทานวิตามินค่ะ แต่ควรเป็นไปตามแผนการรักษาของสูติแพทย์เท่านั้น ระหว่างตั้งครรภ์ แพทย์จะจ่ายยาบำรุงครรภ์ตามความเหมาะสมของช่วงอายุครรภ์นั้นๆให้กับแม่ตั้งครรภ์ทุกคน เพราะนั้น หากนอกเหนือจากที่แพทย์กำหนด ไม่ควรรับประทาน เพราะวตามินเสริมต่างๆ มีในอาหาร 5 หมู่ที่คุณแม่ตั้งครรภ์รับประทานในแต่ละมื้ออยู่แล้ว

ยาบำรุงครรภ์ที่สำคัญในระหว่างตั้งครรภ์ 

1. ยาบำรุงครรภ์ประเภท กรดโฟลิกหรือโฟเลท

ประโยชน์ของกรดโฟลิกหรือโฟเลท (folic acid/folate) เรียกอีกอย่างว่า วิตามินB9 ต่อแม่ตั้งครรภ์ คือ

  • กรดโฟลิกสามารถป้องกัน ความพิการของทารกในครรภ์ได้ แต่ การป้องกันความพิการจะได้ผลสูงสุดก็ต่อเมื่อได้รับการเสริมโฟลิกตั้งแต่ 1 เดือนก่อนตั้งครรภ์ ไปจนถึง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์เท่านั้นค่ะ
  • ผู้หญิงที่กำลังวางแผนจะมีบุตร ควรหามาติดบ้านไว้เลย หากพบว่าตั้งครรภ์สามารถรับประทานก่อนไปฝากครรภ์ได้เลยค่ะ
  • ขนาดรับประทาน คือ 0.4 มิลลิกรัม ต่อ วัน ซึ่งจะพบได้ในวิตามินรวมหลายๆชนิด
    หรือ อาจเลือกรับประทานเฉพาะโฟลิกตัวเดี่ยวก็ได้
  • โฟลิคมีขายทั่วไป แต่ควรหาซื้อกับเภสัชกรประจำร้านขายยา มีขนาดเดียวคือ 5 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 เม็ด
  • โฟลิคในอาหารมีเช่นกัน เช่น กุยช่าย ตำลึง ผักกาดหอม กะหล่ำมะเขือเทศ บรอคโคลี่ คึ่นช่าย ถัวงอก ถั่วเหลือง ถั่วเขียวตับไก่ ตับวัว ตับหมู ส้ม องุ่น สตรอเบอรี่ ค่ะ

2.ยาบำรุงครรภ์ประเภท ธาตุเหล็ก

ประโยชน์ของธาตุเหล็ก (Iron supplement) ต่อแม่ตั้งครรภ์ คือ

  • ธาตุเหล็กจะเป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ซึ่งอยู่ในเม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่ในการลำเลียงขนส่งออกซิเจน (Oxygen) ไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ของร่างกายให้สามารถทำงานได้ตามปกติ
  • หากแม่ตั้งครรภ์มีระดับค่าฮีโมโกลบินี่ต่ำ อาจส่งผลให้ทารกในครรภ์มีน้ำหนักตัวน้อย ทารกคลอดก่อนกำหนด
  • ระหว่างการตั้งครรภ์แนะนำให้รับประมานธาตุเหล็กประมาณ 27 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งการรับประทานจากอาหารจะไม่เพียงพอ จึงจำเป็นจะต้องได้รับธาตุเหล็กเสริม
  • คุณแม่ที่ไปฝากครรภ์ทุกคน แพทย์จะให้ธาตุเหล็กมารับประทาน แต่ธาตุเหล็กอาจจะกระตุ้นให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ในรายที่มีอาการแพ้ท้อง อาจได้รับธาตุเหล็ก หลังจากที่หายแพ้ท้องดีแล้ว
  • เคล็ดลับ ในการรับประทานธาตุเหล็กอย่างมีประสิทธิภาพ ธาตุเหล็กจะดูดซึมได้ดีเมื่อรับประทานร่วมกับอาหารที่มีวิตามินซี เช่น น้ำส้ม น้ำมะนาว
  • ข้อควรรู้ ธาตุเหล็กถูกดูดซึมน้อยลง ถ้ารับประทานร่วมกับกาแฟ ชาและนม ควรรับประทานห่างจากอาหารเหล่านี้ประมาณ 2-3 ชั่วโมงจะดีที่สุดค่ะ

3.ยาบำรุงครรภ์ประเภท แคลเซียม

ประโยชน์ของแคลเซี่ยม (Calcium) ต่อแม่ตั้งครรภ์ คือ

  • คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องการแคลเซี่ยมมากกว่าคนปกติ เพราะทารกในครรภ์จะดึงเเคลเซี่ยมจากร่างกายของแม่ไปใช้ในการสร้างเซลล์ต่างๆภายในร่างกาย
  • ร่างกายเเม่ตั้งครรภ์ต้องการแคลเซี่ยมวันละ 1000 มิลลิกรัมต่อวัน
  • คุณแม่ตั้งครรภ์ควรดื่มนม เพื่อให้ได้รับแคลเซี่ยม วันละ 1- 2แก้ว ไม่ควรดื่มมากเกินความจำเป้นเพราะทารกในครรภ์เสี่ยงต่อการแพ้นมวัวได้
  • หากคุณแม่ดื่มนมถั่วเหลืองจะต้องเพิ่มปริมาณมากขึ้น เพราะ นมถั่วเหลืองให้แคลเซี่ยมน้อยกว่านมวัว ครึ่งหนึ่ง แนะนำให้รับประทานรสจืด

แม่ตั้งครรภ์สามารถรับประทานแคลเซี่ยมจากธรรมชาติชดเชยได้หากไม่ชอบดื่มนม และต้องการเลี่ยงการดื่มนมวัว เนื่องจากกลัวลูกแพ้นมวัว อาหารเเคลเซี่ยมสูงเช่น  ผักคะน้า  บล็อโคลี่ เมล็ดงาทุกสี ข้าวโอ๊ด ถั่วขาว ปลาซาร์ดีนสด(งดอาหารกระป๋อง) เต้าหู้ ใบยอ ใบชะพลู เห็ด มะขามสด ยอดแค ผักกะเฉด สะเดา เป็นต้น

4.ยาบำรุงครรภ์ประเภท วิตามินรวม

ประโยชน์ของวิตามินรวม (Multivitamin supplement) ต่อแม่ตั้งครรภ์ คือ

  • วิตามินรวมอาจไม่จำเป็นในคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกราย แพทย์จะพิจารณาเฉพาะบุคคลค่ะ บางคนอาจไม่ได้รับ บางคนอาจได้รับในอายุครรภ์ที่แตกต่างกันออกไป
  •  หากรับประทานอาหารครบ5 หมู่ และหลากหลาย  การรับประทานวิตามินรวมเสริมก็อาจจะไม่จำเป็นค่ะ



ยาบำรุงครรภ์ที่ได้รับแต่ละโรงพยาบาลเหมือนกันไหม 

อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว คุณแม่หลายๆคนก็ยังมีข้อสังสัยอยู่ดีว่า ทำไมไม่ได้ยาครบทุกตัวตามที่กล่าวถึงข้างต้น และ ชื่อยา เม็ดยา ไม่เหมือนกันกับเเม่ตั้งครรภ์คนอื่นๆ อธิบายข้อสงสัยได้ดังนี้ค่ะ ลักษณธของเม็ด สี ชื่อของยาอาจไม่เหมือนกัน เนื่องจาก แต่ละโรงพยาบาล โดยเฉพาะคลินิค จะซื้อยาจากคนละบริษัทกัน สีและชื่อทางการค้าจึงแตกต่างกันออกไป เพราะแต่ละบริษัทจะตั้งชื่อยาแตกต่างกัน แต่ชื่อสามัญของยา จะกำกับไว้ที่ข้างขวด / กล่อง /ภาชนะที่บรรจุค่ะ แม่ตั้งครรภ์ไม่ต้องกังวลว่า ยาปลอดภัยหรือไม่ เพราะสูติแพทย์ย่อมตรวจเช็คยาเหล่านั้นดีแล้วก่อนจ่ายให้กลับไปรับประทานที่บ้าน และที่ได้ยาไม่ครบทุกตัว เนื่องจากสูติแพทย์พิจารณาตามสุขภาพแม่ตั้งครรภ์เป็นหลัก หากไม่จำเป็นอาจไม่ต้องใช้ยานั้นๆค่ะ นั่นหมายถึงคุณเป็นแม่ตั้งครรภ์ที่สุขภาพดีมากๆเลยนะคะ

Mama Expert หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ว่าที่คุณแม่ทุกบ้าน จะดูแลครรภ์เป็นอย่างดี รับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดค่ะ

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. อาหารบำรุงครรภ์ แบ่งตามอายุครรภ์ 1-40 สัปดาห์

2. การแบ่งไตรมาสของการตั้งครรภ์ และข้อควรระวังของแม่ท้อง

3. เทคนิคบำรุงครรภ์ กินอย่างไรให้น้ำหนักไปลงที่ลูก

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team