ยาลดไข้เด็ก
เพราะไข้ไม่ใช่เรื่องเล็ก เมื่อลูกมีไข้คุณแม่ต้องให้การดูแลลดไข้ให้ถูกต้อง การให้ยาลดไข้ในเด็กเป็นวิธีลดไข้ที่เห็นผลเร็ว แต่คุณแม่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในการให้ยาลดไข้สำหรับเด็กอย่างถูกต้องเหมาะสม เพราะยาลดไข้สำหรับเด็กแบ่งตามช่วงอายุและน้ำหนัก หากได้รับยาผิดขนาด นอกจากไข้ไม่ลด ยังส่งผลอันตรายต่อลูกด้วย ก่อนอื่นคุณแม่มาทำความรู้จักกับกลไกการเกิดไข้กันค่ะ
ไข้เกิดจากอะไร อุณหภูมิปกติของร่างกาย คือ 37 องศาเซลเซียส (℃) หรือ 98.6 องศาฟาเรนไฮต์ (℉) อุณหภูมิที่ถือว่าเป็นไข้หรือมีไข้โดยทั่วไปคือสูงมากกว่า 37.4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิร่างกายถูกควบคุมโดยสมองส่วนไฮโปทาลามัส สารที่กระตุ้นให้เกิดไข้หรือสารก่อไข้ (pyrogen) ทำให้มีการหลั่งโพรสตาแกลนดิน อี2 ( prostaglandin E2 ตัวย่อ PGE2 ) ซึ่ง PGE2 จะมีผลต่อไฮโปทาลามัส ซึ่งส่งผลยังทั่วร่างกายตอบสนองให้มีการสร้างความร้อน จึงทำให้ร่างกายมีไข้ ทางการแพทย์ได้แบ่งระดับของไข้ไว้ดังนี้
- ไข้ต่ำๆ คือ 37.5 – 38.4 องศาเซลเซียส
- ไข้ปานกลาง 38.5 – 39.4 องศาเซลเซียส
- ไข้สูง 39.5 – 40.4 องศาเซลเซียส
- ไข้สูงมาก 40.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป
สาเหตุของการเกิดไข้พบได้บ่อยคือ การติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือในบางรายอาจมีไข้เนื่องมาจากโรคอื่นๆ และหลายครั้งที่แพทย์วินิจฉัยว่ามีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่ว่าไข้จะเกิดจากสาเหตุใดก็ตามหากลูกมีไข้สูงและไม่ได้รับการรักษาให้ไข้ลดลง อาจทำให้เกิดภาวะชักจากไข้สูงได้ ซึ่งอาการชักจากไข้สูงนั้นพบได้บ่อยในเด็กวัย 6 เดือน – 6 ปี ด้วยเหตุนี้หากมีไข้ จึงจำเป็นต้องได้รับยาลดไข้เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น ยาลดไข้ที่ใช้บ่อยและปลอดภัยเมื่อมีการใช้ในปริมาณที่ถูกต้อง สำหรับเด็ก คือ ยาลดไข้กลุ่มยาพาราเซตามอล
ยาลดไข้เด็ก ช่วยไข้ลดได้อย่างไร
ยาลดไข้กลุ่มพาราเซตามอล ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Cyclooxygenase ทำให้การสร้าง Prostaglandin ลดลง โดยจะมีผลยับยั้งการสร้าง Prostaglandin ในสมอง ยาพาราเซตามอลถูกดูดซึมได้ดีจากทางเดินอาหาร ยาออกฤทธิ์สูงสุดในเลือดในเวลา 30 – 60 นาที และออกฤทธิ์ต่อเนื่อง 4 – 6 ชั่วโมง และยาจะถูกเปลี่ยนแปลงในร่างกายที่ตับ กระบวนการดังกล่าวส่งผลทำให้อุณหภูมิกายลดลง ยาพาราเซตามอลสำหรับเด็ก แบ่งเป็นยาลดไข้สำหรับทารก และยาลดไข้สำหรับเด็ก คุณแม่ควรเลือกให้ถูกตามอายุและน้ำหนักของลูก
หลักสำคัญในการเลือกยาลดไข้เด็ก
- ส่วนผสมของยาลดไข้เด็ก
ยาลดไข้ที่เหมาะสมสำหรับเด็กต้องปราศจากแอลกอฮอล์ และแอสไพริน เนื่องจากแอลกอฮอล์มีผลต่อระบบประสาทของเด็ก ส่วนแอสไพรินอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกในเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่างๆได้
- ความเข้มข้นของยาลดไข้เด็ก
สำคัญมากในเด็กที่รับประทานยายาก กลืนยาก จะเสี่ยงต่อการได้รับยาไม่ครบจำนวนและไข้ไม่ลด แนะนำคุณแม่ให้เลือกยาลดไข้ที่มีความเข้มข้นสูง เนื่องจากสามารถใช้ปริมาณยาน้อย นอกจากนั้นปัจจุบัน ยาในท้องตลาดยังมีแต่งรสชาติให้เด็กๆได้เลือกมากมาย สามารถเลือกใช้รสชาติที่ลูกชอบแต่ต้องดูความเหมาะสมร่วมด้วย
- ขนาดของยาลดไข้เด็ก
ยาลดไข้ของเด็กมีหลายขนาดให้เลือก สำคัญมากต้องให้ตามอายุและน้ำหนักตัวกรณีได้รับยาจากทางโรงพยาบาลเมื่อกลับบ้าน คุณแม่ควรตรวจเช็คความถูกต้อง อีกครั้ง ได้แก่ ชื่อของผู้รับยา ชื่อยา ขนาดรับประทาน เวลา ตามสลากยาของโรงพยาบาลที่ติดมากับขวดยา และยาที่ได้รับนั้นตรงตามอายุและน้ำหนักของลูกหรือไม่ เพื่อลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ในคุณแม่ที่ซื้อยาให้ลูกรับประทานเอง อาจเผลอลืมไปว่า ในช่วงเวลามีไข้ ลูกอาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น หรือ อายุมากขึ้นจึงไม่สามารถใช้ยาเหมือนเดิมได้ ทำให้เลือกซื้อยาผิดขนาดได้ การป้องกันการผิดพลาดดังกล่าว แนะนำให้แจ้งอายุและน้ำหนักของลูกกับเภสัชกรประจำร้านก่อนทุกครั้ง เพื่อให้ได้รับคำแนะนำและปริมาณยาที่ถูกต้องเหมาะสม
ตัวอย่างยาลดไข้เด็กโตและวิธีคำนวณปริมาณยาที่ลูกควรได้รับ
ยาลดไข้เด็กโต มีหลายขนาดได้แก่
- ยาพาราเซตามอลชนิดน้ำเชื่อม และ น้ำเชื่อมแขวนตะกอนขนาด 120 มิลลิกรัม / 1 ช้อนชา
- ยาพาราเซตามอลชนิดน้ำเชื่อม และ น้ำเชื่อมแขวนตะกอน ขนาด 160 มิลลิกรัม / 1 ช้อนชา
- ยาพาราเซตามอลชนิดน้ำเชื่อม และ น้ำเชื่อมแขวนตะกอน ขนาด 250 มิลลิกรัม / 1 ช้อนชา
วิธีคำนวณยาลดไข้เด็กโต
ลูกอายุ 7 ปีน้ำหนัก 21 กิโล กรัม ซื้อยาลดไข้ความเข้มข้น 160 มิลลิกรัม / 1 ช้อนชา ลูกควรรับประทานครั้งละกี่ซีซีวิธีคิดคำนวณ ปริมาณยาพาราในเด็กใช้ 10 – 15 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนัก ตัว 1 กิโลกรัม ดังนั้น ลูกหนัก 21 กิโลกรัมควรได้รับยา 210 – 315 มิลลิกรัม ต่อครั้ง ยามีความเข้มข้น 160 มิลลิกรัม /1 ช้อนชา
1 ช้อนชา = 5 ml
5 / 160 X 210 = 6.5 ซีซี
5 / 160 X 315 = 9.8 ซีซี
ลูกควรได้รับยา 6.5 – 9.8 ซีซี /ครั้ง
ตัวอย่างยาลดไข้เด็กทารกและวิธีคำนวณปริมาณยาที่ลูกควรได้รับ
ยาลดไข้สำหรับทารกควรเป็นชนิดหยด ได้แก่ ยาพาราเซตามอลชนิดหยด ขนาด 100 มิลลิกรัม / 1 ซีซี. ซึ่งในท้องตลาดอาจเขียนแตกต่างกันไปเช่น 80 มิลลิกรัม/0.8 ซีซี. หรือ 60 มิลลิกรัม/0.6 ซีซี.
วิธีคำนวณยาลดไข้วัยทารกที่ควรได้รับในแต่ละครั้ง ตามน้ำหนัก คิดดังนี้
ขนาดของยาคิดตามน้ำหนัก คือตั้งแต่ 10 – 15 มิลลิกรัมของยา ต่อน้ำหนักตัวเด็ก 1 กิโลกรัม เช่น ลูกอายุ 10 เดือน หนัก 8 กิโลกรัมซื้อยาลดไข้ชนิดหยดลูกควรได้รับยาครั้งละกี่ซีซี = ( น้ำหนักเป็นกิโลกรัม ) 8 หารด้วย 10 ขนาดยาที่ลูกควรได้รับคือ 0.8 ซีซี /ครั้ง
ข้อควรระวังในการใช้ยาลดไข้เด็ก
- เก็บขวดยาให้พ้นมือเด็ก
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยาอื่นที่มีส่วนประกอบของตัวยาพาราเซตามอล
- หากอาการไข้ยังคงอยู่ หรืออาการแย่ลงนานกว่า 5 วัน หรือกรณีที่มีอาการอื่นๆ เกิดขึ้น เช่นพบว่าเด็กมีอาการตัวแดง หรือบวม ควรรีบปรึกษาแพทย์
- ห้ามใช้ยาเกินขนาดแนะนำ เพราะจะมีผลต่อตับ
- ในกรณีได้รับยาเกินขนาด ควรปรึกษาแพทย์ ถึงแม้ว่าจะไม่ปรากฎอาการใดใดก็ตาม
- ห้ามใช้ภาชนะอื่นๆ เช่น ช้อนกินข้าว นอกเหนือจากถ้วยตวงที่บรรจุมาในกล่อง เพราะอาจทำให้เด็กได้รับขนาดยาเกินขนาด จนเกิดอันตรายได้
คำเตือนเกี่ยวกับอันตรายต่อตับ ยานี้ประกอบด้วยพาราเซตามอล ซึ่งอาจก่อให้เกิดการทำลายตับอย่างรุนแรงได้ หากเด็กได้รับยาดังนี้
- มากกว่า 5 ครั้งใน 24 ชั่วโมง
- ใช้ร่วมกับยาอื่นที่มีส่วนประกอบของพาราเซตามอล
- ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา หากเด็กมีปัญหาโรคเกี่ยวกับตับ
- ปรึกษาแพทย์ และเภสัชกรก่อนให้ยาหากเด็กกำลังได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด ได้แก่ Warfarin
นอกจากการให้ยาลดไข้ตามช่วงวัยอย่างถูกต้องแล้ว ลูกควรได้รับการเช็ดตัวลดไข้ควบคู่กันไปด้วย การเช็ดตัวทารกใช้น้ำอุ่น ส่วนเด็กโตใช้น้ำอุณหภูมิปกติ คุณแม่ควรดูแลให้ลูกดื่มน้ำสะอาดมากๆ ใส่เสื้อผ้าโปร่งสบายพักผ่อนในห้องที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก และหากไข้ไม่ลดลงภายใน 24 ชั่วโมง แนะนำให้พบกุมารแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของไข้อย่างละเอียด
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
3. พฤติกรรม 40 ข้อ ที่บ่งบอกว่าลูกคุณ คือ เด็กฉลาด
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team