คลอดด้วยเครื่องดูดสุญญากาศ
การคลอดด้วยเครื่องดูดสุญญากาศถือเป็นการคลอดไม่ปกติค่ะ แพทย์/หรือผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณาใช้วิธีคลอดดังกล่าวในกรณีที่การคลอดไม่สามารถดำเนินไปได้ตามปกติ สาเหตุอาจจะเนื่องจากคุณแม่ไม่มีแรงเบ่ง หรือเด็กตัวโต แพทย์จะช่วยทำคลอดโดยการใช้เครื่องช่วยดูดที่หนังสรีษะเด็กเพื่อช่วยเพิ่มแรงแบ่งคลอดให้มีมากขึ้น การคลอดด้วยเครื่องดูดสุญญากาศมีโอกาสทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้ ดังนี้
ภาวะแทรกซ้อนของการคลอดด้วยเครื่องดูดสุญญากาศ
1.Caput Succedaneum
Caput Succedaneum คือ ลักษณะศีรษะบริเวณที่เป็นส่วนนำบวม เนื่องจากเมื่อถุงน้ำทูนหัวแตกก่อนกำหนด ศีรษะทารกจึงกดโดยตรงกับขอบของมดลูกที่ยังเปิดไม่หมด ทำให้การไหลเวียนกลับของเลือดที่มาเลี้ยงบริเวณหนังหุ้มกะโหลกศีรษะทารกส่วนนั้นเป็นไปไม่สะดวกน้ำเหลืองจากเลือดจึงซึมออกมาคั่งอยู่ทำให้บวมขึ้นในภาวะนี้ไม่จำเป็นต้องทำการรักษา เนื่องจากจะหายไปได้เองหลังคลอดส่วนใหญ่ภายใน 2-3 วัน
2.Cephalhematoma
Cephalhematoma คือ ภาวะที่เลือดออกที่เยื่อหุ้มใต้กะโหลกศีรษะ เลือดค่อยๆออก ซึมช้าๆ และคั่งอยู่ภายในกระดูกชั้นใดชั้นหนึ่ง ทำให้คลำได้เป็นก้อนนูน หนังศีรษะไม่เปลี่ยนสี มีขอบชัดเจน ไม่ข้ามรอยต่อกะโหลกศีรษะ มักเป็นที่กระดูก parietal การเกิดภาวะเลือดออกนี้ ถ้าออกมาในบางรายอาจทำให้ทารกซีดลงได้ โดยการเกิดภาวะที่โดยทั่วไปเลือดมักหยุดเองและค่อยๆ หายไปภายในประมาณ 2 เดือน
3.Subgaleal hemorrhage
เป็นภาวะที่มีเลือดสะสมใต้ช่องว่างของเนื้อเยื่อที่อยู่ระหว่างพังพืดของกะโหลกกับเยื่อหุ้มกะโหลก ซึ่งมีขอบเขตจากหน้าไป หลังเริ่มจากขอบเบ้าตา ไปยังท้ายทอย และด้านข้างจากหูไปยังหูอีกข้าง ก้อนมีลักษณะน่วม และข้ามแนวประสานกระดูก ก้อนมีขนาดเพิ่มขึ้นช้า ๆ ในหลายชั่วโมงหรือวัน หรือเพิ่มขนาดอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ทารกมีช็อคจากการเสียเลือดได้
4.Intracranial hemorrhage
Intracranial hemorrhage คือ ภาวะมีเลือดออกในเนื้อสมอง เลือดออกที่เกิดภายในตัวเนื้อสมอง โดยเกิดจากการแตกของหลอดเลือดในตัวเนื้อสมอง ทำให้เนื้อสมองส่วนข้างเคียงกับก้อนเลือดที่เกิดจากเลือดออกนั้นถูกกดเบียด ส่งผลให้มีอาการผิดปกติต่างๆทางระบบประสาทเกิดขึ้น
5.เกิดรอยถลอกและการฉีกขาดของหนังศีรษะ
ในระหว่างใช้เครื่องดูดสุญญากาศขณะทำคลอด อาจเกิดความผิดพลาดได้ โดยถ้วยดูดสุญญากาศเลื่อนไถลหลุดจากศีรษะทารก จนทำให้หนังศีรษะถลอกหรือเป็นแผล แต่รอยถลอกหรือแผลจะค่อยๆ หายเป็นปกติภายในไม่กี่สัปดาห์
6.มีการตกเลือดที่จอประสาทตา
การตกเลือกที่จอประสาทตา เป็นภาวะแทรกซ้อนที่มีความเสี่ยงและอันตรายเป็นอย่างมาก เพราะอาจนำไปสู่อาการตาบอดในเด็กได้ ภาวะนี้เกิดขึ้นไม่มากนัก คุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวลค่ะ
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่อ่านมาถึงจุดนี้ อย่าพึ่งตกใจกลัวไปนะคะ เพราะไม่ได้เกิดขึ้นกับเด็กทุกคนที่ผ่านการคลอดด้วยเครื่องดูดสุญญากาศ แต่มีโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงนี้ขึ้นได้ในทารกบางราย คุณแม่ควรเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกายและจิตใจ พบแพทย์ตามนัดตรวจครรภ์ทุกครั้ง และป้องกันความเสี่ยงของการคลอดยาก เพราะหากคลอดง่าย ก็ไม่ต้องใช้เครื่องมือแพทย์ชนิดนี้ค่ะ
บทความแนะนำเพิ่มเติม
1. หลังคลอดแบบธรรมชาติดูแลตนเองอย่างไร ให้ถูกวิธีและฟื้นตัว
2. การดูแลแผลฝีเย็บให้หายเร็วใน 2 วัน ไม่บวม ไม่เจ็บ ไม่ติดเชื้อ
3. ขั้นตอนการผ่าตัดคลอดลูกและการตรวจร่างกายเด็กเมื่อแรกคลอด
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team