ความเครียดในเด็ก สิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม ทำอย่างไรเมื่อลูกเครียด

08 October 2023
536 view

ความเครียดในเด็ก

.

.

ภาวะเครียดเป็นหนึ่งในสภาวะของจิตใจที่สามารถส่งผลต่อการแสดงอารมณ์ความรู้สึก รวมไปถึงความเครียดนี้ยังส่งผลต่อการแสดงออกของร่างกายได้อีกด้วย โดยมากก็จะเป็นการแสดงออกที่ไม่พึงประสงค์ด้วยกันทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นการเจ็บไข้ได้ป่วย การอาเจียน การท้องเสีย หรือ การแสดงอารมณ์ที่รุนแรง แสดงความต่อต้านและแสดงความก้าวร้าว และในส่วนของความเครียดนี้ก็เป็นสภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัยไม่เว้นแม้แต่ในวัยเด็ก สำหรับบทความนี้เราจึงขอพาคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจกับความเครียดในเด็กว่าเกิดจากอะไร รวมถึงมีวิธีสังเกต รับมือและป้องกันได้อย่างไรบ้าง

ความเครียดในเด็ก เกิดจากอะไร

ความเครียดในเด็กโดยเฉพาะในช่วงอายุ 8 – 12 ปีที่มีการเปลี่ยนแปลงทางพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการทางด้านร่างกายที่เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าสู่ช่วงต้นของการเป็นวัยรุ่น และพัฒนาการทางด้านจิตใจที่เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เข้าใจในบริบทของสังคม มีความต้องการการยอมรับจากผู้อื่น รู้จักการใช้เหตุผล รวมถึงมีความสนใจในเพศตรงข้ามและรักสวยห่วงหล่อ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดที่กล่าวไปข้างต้นนี้ล้วนทำให้เกิดภาวะเครียดตามมาได้ โดยสามารถแบ่งเป็นสาเหตุหลัก ๆ ของความเครียดในเด็กได้ 3 สาเหตุด้วยกันดังนี้

1. ชีวเคมีภายในร่างกายของเด็กที่จะมีผลทำให้เกิดความเครียด ไม่ว่าจะเป็นส่วนของฮอร์โมนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงสูงในช่วงอายุ 8 – 12 ปี นอกจากนี้ส่วนของความสมดุลของระดับเคมีภายในสมองก็มีส่วนทำให้เกิดความเครียดได้ด้วย

2. ครอบครัว ซึ่งถือเป็นสถาบันหลักและสังคมแรกที่เด็กได้เผชิญ ไม่ว่าจะในแง่ของการมองเป็นแบบอย่างหรือรูปแบบการเลี้ยงดูก็ล้วนส่งผลให้เกิดความเครียดในเด็กตามมาได้ทั้งสิ้น เราจะสังเกตว่าบุคลิกหรือลักษณะนิสัยของคุณพ่อคุณแม่มักถูกถ่ายทอดหรือถูกเลียนแบบโดยลูกน้อย ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่ดำเนินชีวิตด้วยความเครียดก็จะสามารถถ่ายทอดรูปแบบการดำเนินชีวิตดังกล่าวไปยังลูกน้อยได้ด้วย หรือ รูปแบบการเลี้ยงลูกที่บงการ กำหนดกฎเกณฑ์จนเกินไปก็ส่งผลให้ลูกน้อยในวัย 8 – 12 ปีที่ต้องการอิสระในการตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองเกิดความเครียดได้

3. สังคม โดยหนึ่งในสังคมที่มีผลต่อความเครียดในเด็กก็คือสังคมญาติ หรือ สังคมโรงเรียน โดยเด็กในช่วงวัย 8 – 12 ปีที่ต้องการการยอมรับจะเกิดความเครียดได้หากเด็กรู้สึกแปลกแยก กดดัน หรือรู้สึกด้อยค่าตัวเอง

วิธีสังเกตว่าลูกกำลังเครียดหรือเปล่า

ในช่วงวัย 8 – 12 ปีเป็นช่วงที่เด็กเริ่มมีความเข้าใจในการใช้เหตุผลมากขึ้น แต่เด็กจะยังคงมีความไม่เข้าใจหรือไม่พร้อมรับกับความเครียด เด็กโดยส่วนใหญ่ก็ยังไม่ทราบว่าตนกำลังมีความเครียดอยู่ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูก โดยพฤติกรรมที่เข้าข่ายว่าลูกกำลังมีความเครียดมีดังนี้

  • เด็กมีอาการป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุทั้งการปวดท้อง อาเจียน เป็นไข้
  • เด็กเบื่ออาหาร 
  • เด็กไม่อยากไปโรงเรียน
  • เด็กร้องไห้บ่อย ๆ โดยไม่มีเหตุผล
  • เด็กแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าว
  • เด็กมีการพูดหรือบ่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ตลอดเวลา
  • เด็กแสดงความกังวลในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเห็นได้ชัด

รับมืออย่างไร เมื่อลูกเครียด

เมื่อความเครียดในเด็กเกิดขึ้นกับลูกของคุณเอง เราก็มีวิธีสำหรับรับมือดังนี้

1. เปิดใจรับฟัง สิ่งแรกนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะจะเป็นเหมือนการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับลูกเมื่อเกิดความเครียดเลย เพราะการฟังที่ดีต้องไม่ใช่เพียงการใช้หูในการฟังเท่านั้น คุณพ่อคุณแม่ควรใช้ใจฟัง และไม่ควรแทรกระหว่างที่ลูกน้อยเล่า ควรฟังแบบไม่ด่วนตัดสิน และควรฟังจนลูกเล่าจบ

2. ให้กำลังใจเมื่อลูกน้อยต้องเผชิญกับความเครียด เพราะบางคำตอบอาจจะง่ายมากสำหรับคุณพ่อคุณแม่ แต่เมื่อเป็นเด็กที่ยังไร้ประสบการณ์อาจกลายเป็นเรื่องที่คิดไม่ตกหรือเกิดความเครียดตามมา ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรให้กำลังใจเพื่อให้ลูกน้อยสามารถก้าวผ่านความเครียดไปได้ด้วยตนเอง

3. การให้คำแนะนำที่เหมาะสม

4. หากความเครียดของลูกน้อยอยู่ในระดับที่รุนแรงมาก จนมีผลกระทบต่อสภาวะอารมณ์และการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของร่างกาย หรือพัฒนาการ หรือแม้แต่การเข้าสังคมและคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถช่วยลูกได้ หรือ ช่วยแล้วไม่ดีขึ้นก็ควรพาลูกไปปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำแนะนำต่อไป

การป้องกันไม่ให้ลูกเกิดภาวะเครียด

ความเครียดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนก็จริง แต่คงจะดีกว่าหากเราสามารถป้องกันความเครียดที่จะเกิดในลูกน้อยได้ ซึ่งการป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไขเสมอในส่วนนี้คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกน้อยตั้งแต่ส่วนของสถาบันครอบครัวโดยการทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีในการจัดการกับความเครียด พร้อมเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับลูกน้อยเสมอ เลี้ยงลูกน้อยอย่างรับฟัง ไม่เข้มงวด ไม่กดดัน ไม่ตำหนิหรือดุด่าอย่างไรเหตุผล และที่สำคัญคือไม่เปรียบเทียบลูกตนเองกับลูกของคนอื่นโดยเด็ดขาดเพราะจะเป็นการสร้างปมในใจหรือการด้อยค่าทางจิตใจของลูก

จากบทความข้างต้นเราจะพบว่าความเครียดในเด็กเป็นสภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้ในเด็กเกือบทุกคน และความเครียดในปริมาณไม่มากจะถือเป็นการป้องกันตนเองของร่างกายและจิตใจเมื่อต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอน ความวิตกกังวล ความลังเล ความสงสัยหรือแม้แต่ความเศร้า แต่หากภาวะเครียดในเด็กเกิดรุนแรงและติดต่อกันก็จะเป็นผลเสียทั้งต่อร่างกาย จิตใจและพัฒนาการของลูก ดังนั้นการเฝ้าสังเกตและป้องกันก่อนที่ความเครียดจะแพร่ขยายไปในระดับที่รุนแรงจึงเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านควรช่วยลูก รวมถึงป้องกันไม่ให้รุนแรงซึ่งถือเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ให้แก่ลูกน้อยทางหนึ่งด้วย

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. จิตแพทย์เด็กแนะนำวิธีเลี้ยงลูกให้มีความสุข สมวัย ไม่เครียด

2. โรคเครียดในเด็กอันตรายกว่าที่คิด คุณพ่อคุณแม่อย่ามองข้าม

3. อาการวิตกกังวลในเด็ก ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ สังเกตด่วนลูกมีอาการแบบนี้หรือไม่

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team