อาการฟันผุในคนท้อง รักษาอย่างไร ถอนฟันได้หรือไม่

18 March 2023
873 view

อาการฟันผุในคนท้อง

.

.

เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์หรือคุณแม่ท้องย่อมมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจตามมา ซึ่งบางการเปลี่ยนแปลงก็นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่พึงประสงค์ อย่างอาการแพ้ท้อง อาทิเช่น การวิงเวียนศีรษะ การอาเจียน การปวดเมื่อยหลัง การปวดเมื่อยเนื้อตัว หรือ แม้แต่อาการฟันผุ ซึ่งอาการหลังนี้เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ในคนท้องถึง 90.30% ด้วยกัน ในส่วนของบทความนี้เราจึงขอพาคุณแม่หรือว่าที่คุณแม่มาพบกับอาการฟันผุในคนท้อง รวมถึงการรักษาและการถอนฟันที่อาจต้องเกิดขึ้นเพื่อการรักษาฟัน

อาการฟันผุในคนท้อง ส่งผลเสียกว่าที่คิด

อาการฟันผุจัดเป็นอีกหนึ่งอาการที่สามารถพบได้ในคนท้องโดยทั่วไป ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากเมื่อเกิดการตั้งครรภ์หรือเกิดการท้องขึ้น ร่างกายคุณแม่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงตามมา หนึ่งในนั้นก็คือ การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนภายในร่างกายของว่าที่คุณแม่ซึ่งส่วนนี้ก็มีผลต่อเหงือกและเนื้อเยื่อภายในช่องปากของคุณแม่ทำให้อ่อนแอลง หากคุณแม่มีอาการเริ่มต้นของฟันผุก่อนหน้าด้วยแล้ว เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเช่นนี้ อาการฟันผุก็จะปรากฎได้ง่ายและชัดเจนขึ้น หรือ ฟันผุในคุณแม่ก็ยังเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เพิ่มมากขึ้น การรับประทานอาหารจุกจิก หรือ แม้แต่อาการแพ้ท้องอย่างการอาเจียนก็อาจมีเศษอาหารหรือน้ำย่อยที่ไหลออกมาปะปนในช่องปาก บวกกับการทำความสะอาดช่องปากของคุณแม่ที่ไม่หมดจดก็นำมาซึ่งอาการฟันผุอีกเช่นกัน เมื่อคุณแม่มีฟันผุก็มักจะปวดฟัน ในคุณแม่บางรายก็มีเลือดออกตามไรฟันร่วมด้วย และอาจมีการอักเสบที่จะส่งผลร้ายแรงในอนาคตได้ หากการอักเสบนั้นลุกลามไปสู่อวัยวะอื่น ๆ เช่น โพรงจมูก หรือแม้แต่ปอด 

คนท้องฟันผุ ถอนได้ไหม

ถัดมาในส่วนของคำถามที่มีคุณแม่หลายท่านสงสัยก็คือเมื่อตั้งครรภ์แล้วเกิดอาการฟันผุจะสามารถรักษาโดยการถอนฟันได้หรือไม่ ในส่วนนี้ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และทันตแพทย์ในการปรึกษา วินิจฉัย และ ให้คำแนะนำกับคุณแม่ โดยปกติหากกำลังตั้งครรภ์ในช่วง 1 – 3 เดือนแรก แพทย์และทันตแพทย์จะหลีกเลี่ยงการทำฟันเพราะคุณแม่จะยังคงมีอาการแพ้ท้อง เช่น การอาเจียน ซึ่งจะส่งผลเสียขณะทำฟันได้ หรือ แม้แต่ในช่วงเดือน 7 – 9 เดือน ก็เป็นช่วงเดือนที่เสี่ยงไม่ควรทำฟันอย่างยิ่ง ด้วยสรีระของร่างกายคุณแม่ที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดความไม่สะดวกในการนั่งหรือนอนบนเก้าอี้ทำฟัน อีกทั้งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์นี้เส้นเลือดจะเกิดการขยายตัวอย่างเต็มที่ในทุกส่วนของร่างกาย รวมถึงในช่องปากด้วย ซึ่งเพียงแค่การแปรงฟันเบา ๆ ก็อาจทำให้เกิดเลือดออกได้แล้ว การถอนฟันจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำในช่วงนี้เป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ดีในช่วงเดือน 4 – 6 ของการตั้งครรภ์เป็นช่วงที่เหมาะสมกับการทำฟันในคนท้องมากที่สุด ดังนั้นหากต้องมีการรักษาใด ๆ ในช่องปาก ทันตแพทย์มักจะนัดคุณแม่มาในช่วงเดือนดังกล่าว

วิธีบรรเทาอาการปวดฟันขณะตั้งครรภ์

คุณแม่จะมีวิธีการอย่างไรเพื่อบรรเทาอาการปวดฟันขณะตั้งครรภ์กันบ้าง เราไปพบวิธีที่คุณแม่ทุกท่านสามารถทำได้ด้วยตนเองพร้อม ๆ กันเลย

  1. เข้าปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและการตรวจที่รวดเร็ว เพื่อลดอาการปวด กำจัดสาเหตุที่ปวด รวมถึงเพื่อจำกัดไม่ให้การปวดฟันลุกลามไปยังฟันในซี่อื่น ๆ
  2. ลดการรับประทานอาหารที่แข็ง ต้องใช้แรงของฟันในการกดหรือบดอาหาร เพื่อลดการต้องกระแทกฟันเพื่อกดหรือบดอาหาร ซึ่งจะทำให้เกิดการปวดฟันเพิ่มมากขึ้น อาหารแข็ง ๆ ก็เช่น กระดูกอ่อน หรือ ของทอดที่มีลักษณะแข็ง
  3. ลดการรับประทานอาหารที่กระตุ้นการเสียวฟัน หรือ กระตุ้นการปวดฟัน อาทิเช่น ของที่เย็นจัด อย่างไอศกรีม หรือ ก้อนน้ำแข็ง และ ของที่ร้อนจัด อย่าง ชาร้อน กาแฟร้อน อาหารร้อน ๆ เป็นต้น
  4. ลดการรับประทานอาหารที่มีรสหวาน หรือ มีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณที่สูง ทั้งนี้ก็เนื่องมาจาก เมื่อคุณแม่รับประทานอาหารที่มีรสหวาน หรือมีส่วนผสมของน้ำตาลเข้าไป จะเกิดการย่อยภายในช่องปากโดยเอนไซม์อะไมเลสในน้ำลายซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวนี้มีฤทธิ์เป็นกรดและสามารถแทรกซึมไปยังฟันหรือช่องเหงือก ทำให้คุณแม่เกิดการปวดฟันเพิ่มขึ้นได้ ในส่วนนี้หากคุณแม่เป็นคนติดหวานอาจต้องลดปริมาณการรับประทานลงรวมกับการทำความสะอาดช่องปากหลังการรับประทานอาหารทุกมื้อ โดยใช้แปรงขนอ่อน ยาสีฟันที่ไม่ระคายเคือง และปิดท้ายด้วยน้ำยาบ้วนปาก หากมีเศษอาหารที่ต้องใช้ไม้จิ้มฟัน คุณแม่ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้ไม้จิ้มฟันแล้วใช้ไหมขัดฟันแทน

อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าอาการฟันผุเป็นอาการที่สามารถพบได้ในคนท้องโดยทั่วไป ดังนั้นหากเกิดอาการดังกล่าวขึ้นคุณแม่ก็ไม่ต้องกังวลใจไป เพียงแค่คุณแม่ทราบอาการ เพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานอาหาร รวมถึงการทำความสะอาดช่องปาก และที่สำคัญคือต้องรีบเข้าปรึกษาแพทย์และทันตแพทย์โดยด่วน เพื่อรับการวินิจฉัยและแนะนำ รวมถึงการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมกับช่วงเวลา เพียงเท่านี้อาการฟันผุที่เกิดขึ้นก็จะไม่เป็นอันตรายทั้งต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. มดลูกคว่ำ คืออะไร? มีผลต่อการมีลูกหรือไม่ เรามีคำตอบ

2. หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ยี่ห้อไหนดี ประสิทธิภาพดีเยี่ยม ช่วยทุ่นแรงได้เยอะ

3. คนท้องปวดหลังบ่อยควรเลี่ยงรองเท้าส้นสูงเพราะจะทำให้อาการปวดแย่ลง

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team