มดลูกคว่ำ มีผลต่อการมีลูกหรือไม่
.
.
มดลูกหนึ่งในอวัยวะที่สำคัญต่อการสืบพันธุ์หรือการมีบุตรของฝ่ายหญิง โดยส่วนของมดลูกนี้เองที่เป็นอวัยวะที่ฝังตัวของไข่ซึ่งผ่านการปฏิสนธิแล้วเติบโตเป็นตัวอ่อนหรือเป็นลูกน้อยนั่นเอง มดลูกจึงนับเป็นอวัยวะที่สำคัญอย่างมากสำหรับการสืบพันธุ์ ในว่าที่คุณแม่ที่ต้องการมีบุตรก็มักมีความกังวลกับภาวะที่เรียกว่าภาวะการมีลูกยาก ดังนั้นอวัยวะที่สำคัญอย่างมดลูกจึงเป็นอวัยวะที่ถูกเพ่งเล็งและดูแลเป็นพิเศษ จึงต้องมีการตรวจมดลูกเพื่อวิเคราะห์ความสมบูรณ์ของมดลูก ว่าที่คุณแม่หลายท่านคงเคยได้ยินภาวะที่เรียกว่ามดลูกคว่ำกันมาบ้างแล้ว และเกิดความกังวลตามมาว่าภาวะนี้จะส่งผลต่อการมีลูกหรือไม่ เราไปพบกับคำตอบของข้อสงสัยเหล่านี้ในบทความนี้พร้อม ๆ กันเลย
มดลูกคว่ำ คืออะไร?
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่ามดลูกเป็นอวัยวะหนึ่งในเพศหญิง และมดลูกนี้ยังเป็นอวัยวะที่สำคัญสำหรับการมีบุตรหรือการสืบพันธุ์อีกด้วย และเฉกเช่นเดียวกับอวัยวะอื่น ๆ ที่มีรูปทรงหรือรูปร่างที่แตกต่างกันบ้างในแต่ละบุคคล มดลูกเองจึงมีลักษณะของรูปร่างและรูปทรงในแต่ละบุคคลที่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว โดยส่วนของลักษณะปกตินั้นมดลูกของเพศหญิงจะอยู่ในอุ้งเชิงกรานโดยมีเส้นเอ็นช่วยพยุงด้านข้างไว้จึงเกิดเป็นลักษณะโค้งไปด้านหน้า แต่ในผู้หญิงบางรายมดลูกอาจโค้งไปด้านหน้าหรือโค้งไปด้านหลังมากกว่าปกติด้วยสาเหตุต่าง ๆ จึงเกิดเป็นลักษณะที่เรียกว่ามดลูกคว่ำขึ้น
มดลูกคว่ำ มีผลต่อการมีลูกยากหรือไม่
เมื่อมดลูกคว่ำเป็นลักษณะของมดลูกที่เกิดขึ้นในผู้หญิงส่วนน้อย จึงทำให้ผู้หญิงที่มีลักษณะมดลูกคว่ำนี้เกิดความกังวลว่าเมื่อลักษณะของมดลูกตนไม่เหมือนกับผู้หญิงโดยส่วนใหญ่แล้วจะทำให้เกิดภาวะการมีบุตรยากตามมาหรือไม่ ซึ่งคำตอบก็คือไม่ เพราะภาวะมดลูกคว่ำนี้ไม่มีผลต่อการมีบุตรหรือลูกน้อยแต่อย่างใด สาเหตุหรือปัจจัยที่ส่งผลต่อการมีบุตรมักมาจากสาเหตุอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของท่อนำไข่ที่ผิดปกติจึงไม่สามารถเป็นช่องทางลำเลียงให้อสุจิไปปฏิสนธิกับไข่ได้ หรือคุณภาพอสุจิที่ไม่แข็งแรงพอที่จะเดินทางไปถึงรังไข่และปฏิสนธิกับไข่ได้ เป็นต้น
ความเสี่ยงจากการที่มดลูกคว่ำ
แม้ว่ามดลูกคว่ำจะเป็นลักษณะของมดลูกที่ไม่มีผลต่อการมีบุตรแต่อย่างใด แต่ลักษณะดังกล่าวนี้สามารถเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่าง ๆ เหล่านี้ตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็น
- ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบที่มักเกิดได้จากการติดเชื้อ โดยลักษณะของมดลูกคว่ำนี้ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณช่วงบนของอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิงได้
- โรคติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานเฉียบพลัน มีปัจจัยเสี่ยงที่มาจากมดลูกคว่ำเช่นเดียวกับภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบเช่นกัน โดยโรคติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานเฉียบพลันนี้มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ร่วมด้วย
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) หรือที่หลาย ๆ ท่านรู้จักกันดีในชื่อโรคช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst) หรือ ถุงน้ำช็อกโกแลต โดยปกติแล้วเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกจะเจริญเติบโตในโพรงมดลูก แต่หากมดลูกมีลักษณะที่แตกต่างไปจากปกติ เยื่อบุโพรงมดลูกเหล่านี้ก็ยังคงเจริญเติบโตได้ เพียงแต่อาจขึ้นผิดที่ทำให้เกิดภาวะต่าง ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นการปวดท้องประจำเดือนที่ค่อนข้างรุนแรง หรือ การปวดท้องหลังการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งในส่วนนี้จะต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้องโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไม่ว่าจะเป็นการให้ยาลดปริมาณและจำนวนของถุงน้ำช็อกโกแลต หรือ ในรายที่มีอาการรุนแรงก็ต้องรักษาโดยการผ่าตัดต่อไป
สาว ๆ ต้องรู้ ควรดูแลมดลูกอย่างไร
มดลูกก็จัดเป็นหนึ่งในอวัยวะที่คุณต้องดูแลเอาใจใส่เหมือนกับอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย โดยเรามีเคล็บลับการดูแลมดลูกมาเป็นแนวทางให้คุณ ดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกาย รวมถึงมดลูก สามารถใช้พลังงานและซ่อมแซมตนเองได้อย่างเต็มที่
- พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่หักโหมในการออกกำลังกาย หรือ การทำงานมากเกินไป
- ใช้ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับจุดซ่อนเร้นเท่าที่จำเป็น และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีค่าความเป็นกรด – ด่างที่เหมาะสมกับจุดซ่อนเร้น
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ซึ่งจะเสี่ยงให้เกิดการหย่อนคล้อยของมดลูกได้
- ไม่รับประทานยาสตรี หรือ ยาเสริมฮอร์โมนเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
- ตรวจสุขภาพร่างกายประจำปี รวมถึงการตรวจภายในซึ่งควรตรวจเป็นประจำทุกปีเมื่อมีอายุประมาณ 35 ปี
- มีการป้องกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และ รักษาความสะอาดหลังมีเพศสัมพันธ์เสมอ เพราะการมีเพศสัมพันธ์เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงอันดับต้น ๆ ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในมดลูกได้
เมื่อว่าที่คุณแม่หรือคุณผู้หญิงทั้งหลายอ่านบทความกันมาถึงจุดนี้แล้วก็คงจะทราบกันแล้วว่าภาวะมดลูกคว่ำคืออะไร และคงคลายกังวล หรือ คลายข้อสงสัยกันได้ว่าภาวะดังกล่าวนี้ไม่มีผลต่อการมีบุตรยาก อย่างไรก็ดีภาวะดังกล่าวเป็นลักษณะที่ไม่ได้ปรากฎในผู้หญิงส่วนใหญ่และเป็นปัจจัยที่เสี่ยงต่อภาวะต่าง ๆ ตามมาได้ คุณเองจึงควรหมั่นดูแลมดลูกตามเคล็ดลับที่เราได้กล่าวไปเบื้องต้น เพื่อให้มดลูกของคุณมีสุขภาพที่ดีและพร้อมสำหรับการมีบุตรในวันที่คุณต้องการ
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team