การเล่านิทาน การอ่านนิทานให้ลูกฟัง อีกหนึ่งวิธีช่วยพัฒนาสมองขั้นเทพ

27 March 2014
7092 view

 การอ่านนิทานให้ลูกฟัง

การเล่านิทาน การอ่านนิทานให้ลูกฟัง อีกหนึ่งวิธีช่วยพัฒนาสมองขั้นเทพ การพูดหรือการเล่าเรื่องราว (หรือนิทาน) หรือ การอ่านนิทานต่างๆ ให้ลูกฟังลูกจะ ฉลาดขึ้นได้จริงหรือ ข้อสงสัยนี้ถูกพิสูจน์แล้วว่าเป็นความจริง! ทำไมการพูดคุยกับลูกถึงสามารถทำให้ลูกฉลาดขึ้นได้วันนี้เรามาทำความเข้าใจกันค่ะ

เด็กในวัยแรกเกิดจนถึง 3 ขวบ เป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้

สมองของเขาพร้อมที่จะเรียนรู้และรับเอาข้อมูลทุกๆ อย่างเข้าไป ทุกสิ่งทุกอย่างจึงล้วนมีผลกระทบต่อสมองและอนาคตของลูก การเล่าเรื่องราวหรือนิทาน ต่างๆ ด้วยความรัก จะช่วยกระตุ้นเซลล์สมอง ระบบการทำงานด้านการฟัง รวมถึงเป็นการเปิดโลกจินตนาการ ทำให้ลูกได้ฝึกพัฒนาการทางสมองที่ดีกว่าเด็กในวัยเดียวกัน (เมื่อเทียบกับเด็กที่พ่อแม่ไม่ค่อยได้พูดกับลูกเลย)

อ่านนิทานไม่ดีเท่าดูนิทานจากจอ หรือเปล่า

พ่อแม่หลายคนคิดว่าการเปิดหนังการ์ตูนให้ลูกดู ลูกก็น่าจะชอบ มีความสนุก และเพลิดเพลินได้ (เพราะมีทั้งภาพและเสียง ซึ่งลูกน่าจะชอบมากกว่าการนั่งฟังเสียงพ่อแม่) แต่ความจริงแล้วตรงกันข้าม การปล่อยให้ลูกได้ ดูการ์ตูนหรือภาพยนตร์ผ่านจอทีวี จะยิ่งทำให้ความคิดสร้างสรรค์ของลูกถูกทำลาย ภาพต่างๆ ในจอทีวีจะดึงดูดให้ลูกสนใจมากกว่าการฟังเสียงของพ่อแม่ก็จริง แต่ภาพที่เห็น เสียงที่ได้ยิน จะไปปิดกั้นจินตนาการของลูก แต่ หากเป็นการเล่าเรื่องหรืออ่านนิทานให้ลูกฟัง ลูกจะเห็นเพียงภาพนิ่ง สมมติว่าเราเล่าว่า กระต่ายน้อยกำลังวิ่ง (หนังสือนิทานจะเป็นรูปเพียงกระต่ายกำลังวิ่ง แต่วิ่งอย่างไร วิ่งแบบไหน เด็กจะเป็นผู้จินตนาการเอง) ซึ่งพ่อแม่ สามารถเล่าไปและออกท่าทางการวิ่งของกระต่ายไปด้วยได้ ซึ่งจะทำให้ลูกรู้สึกสนุก เพราะเห็นพ่อแม่ของตัวเองแปลงกายเป็นโน้นนี่นั้นได้ (และลูกก็จะจินตนาการต่อเติมจากจุดนั้น) แต่หากเราเปิดการ์ตูนที่กระต่ายกำลังวิ่ง ภาพที่กระต่ายกำลังเคลื่อนไหว จะไปฝังในความคิด ทำให้ลูกยึดติดกับภาพเหล่านี้ตายตัวเกินไปนั้นเอง

เล่านิทานสร้างความรักความผูกพันธ์

นอกจากนั้น การอ่านนิทานให้ลูกฟัง หรือเล่าเรื่องราวในอดีตของพ่อแม่ให้ลูกฟัง ยังเป็นการสร้างความผูกพันกันภายในครอบครัว ยิ่งพ่อแม่ช่วยกันเล่านิทานให้ลูก ก็จะยิ่งสร้างความผูกพันทั้ง พ่อ แม่ ลูก ไปในเวลาเดียวกัน ความ สุขที่มีพ่อแม่อยู่ใกล้ๆ ลูกจะซึมซับและสามารถรับรู้ถึงความรักและความห่วงใยของพ่อแม่ได้มากกว่าการปล่อยให้ลูกนั่งดูการ์ตูนหน้าทีวีเฉยๆ

ทำไมเด็กแรกเกิดถึง 3 ขวบ ไม่ควรดูทีวี

ภาพและเสียงที่เราได้เห็นนั้น บ่อยครั้งจะฝังลงไปในจิตใต้สำนึก (หรือที่เรียกกันว่า ภาพติดตา) ซึ่งหากเป็นภาพหรือเหตุการณ์ที่โหดร้าย มีความรุนแรง จะกลายเป็นว่าเราได้สอนการใช้ความรุนแรงให้กับลูกโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นในช่วงแรกเกิดจนถึง 3 ขวบ หากเป็นไปได้ พ่อแม่ไม่ควรเปิดทีวีให้ลูกดู เพราะนอกจากจะทำลายโอกาสในการจินตนาการของลูก ยังอาจจะกลายเป็นพิษร้ายที่ฝังภาพหรือเสียงที่โหดร้ายลงในจิตใจของลูกอีกด้วย

อ่านนิทานพัฒนาทักษะอย่างน่าอัศจรรย์

นอกจากนั้นการ อ่านนิทานให้ลูกฟัง ลูกของเราจะสามารถพัฒนาทักษะต่างๆ ได้เร็วกว่า เช่น ทักษะการใช้มือ (เพราะเราอาจจะให้ลูกพยายามพลิกหน้าต่อไปให้เราอ่าน), สมาธิ (เพราะลูกจะฟังและจ้องมองรูปภาพใน หนังสือนิทาน) เป็นต้น นอกจากนั้นหนังสือนิทานสมัยใหม่ ก็มีการพัฒนาปรับปรุงให้เป็นลักษณะ 3 มิติ มากขึ้น ซึ่งยิ่งจะสร้างความน่าสนใจให้กับลูกมากยิ่งขึ้นไปอีก

การลงทุนซื้อหนังสือนิทาน และลงทุนเวลาให้กับลูกด้วยการอ่านนิทานให้ฟังอย่างสม่ำเสมอ เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากกว่าการลงทุนใดๆ เพราะเป็นการปลูกจิตสำนึกดีๆ และกระตุ้นจินตนาการ ซึ่งหากลูกเลยวัย 3 ขวบ ไปแล้วการจะกระตุ้นสิ่งเหล่านี้จะยากมากขึ้น และพ่อแม่ก็ไม่สามารถย้อนเวลากลับมาแก้ไขได้อีกแล้ว

ทความแนะนำเพิ่มเติมสำหรับคุณแม่

1. ของเล่นเด็กวัยแบบเบาะ -12 เดือน แบบไหนดีแม่ต้องรู้

2. วิธีทำแป้งโดว์ ของเล่นเสริมพัฒนาการสุดฮิตของเด็กๆ

3. อาหารสำคัญในการพัฒนาภูมิคุ้มกันลูก

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team