เด็กพูดช้าฝึกอย่างไร เด็กเริ่มพูดเมื่ออายุเท่าไหร่???

26 March 2014
47038 view

เด็กพูดช้า

เด็กพูดช้าฝึกอย่างไร เด็กเริ่มพูดเมื่ออายุเท่าไหร่ เด็กแต่ละคนย่อมมีพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ  อารมณ์ ที่แตกต่างกัน บางคนพัฒนาการเร็วกวว่าวัย บางคนล่าช้าไปบ้าง ปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่หนักใจที่สุด คือ พัฒนาการทางด้านการพูด โดยเฉลี่ยเด็กไทยอายุ 10 เดือนถึง 1 ปีจะเริ่มเลียนเสียงของตัวเองได้ และหลัง 1ปีจะเริ่มพูดคำศัพท์ได้ 1พยางค์ในปัจจุบันพบว่า เด็กไทยพูดได้ช้าลง

อย่างไรเรียกว่าเด็กพูดช้า

คุณพ่อ คุณแม่ที่มีลูกเล็ก อาจกังวลเรื่องการพูดของลูก ลูกยังไม่พูด พูดช้าหรือไม่ และควรสังเกตลูกอย่างไร เด็กในกลุ่มที่สงสัยพูดช้า หรือพัฒนาการทางภาษาล่าช้า เช่น ในเด็กที่อายุ 15 เดือน ยังไม่พูดคำที่มีความหมาย หรือไม่ตอบสนองกับคำถามง่ายๆ หรือเด็กที่อายุ 2 ปีแล้ว ยังไม่พูดคำที่มีความหมาย 2 คำต่อกัน หรือพูดคำศัพท์น้อยกว่า 50 คำ อายุ 2 ปีครึ่ง ยังไม่พูดคำที่เป็นวลียาว 3-4 คำ หรือยังส่งเสียงไม่เป็นภาษาอายุ 3 ปี ยังพูดไม่เป็นประโยค หรือผู้อื่นฟังภาษาที่เด็กพูดส่วนใหญ่ไม่เข้าใจในเด็กกลุ่มนี้ควรได้รับการตรวจประเมินอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุ

สาเหตุที่ทำให้เด็กพูดช้า 

ส่วนสาเหตุที่พบในเด็กพูดช้า ได้แก่ การได้ยินผิดปกติ ปัญหาพัฒนาการทางด้านภาษา ภาวะออทิสติก ปัญหาทางด้านสติปัญญา นอกจากนี้การขาดการกระตุ้นที่เหมาะสม ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เด็กพูดช้าในการประเมินเบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติโดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับพัฒนาการทางภาษา ทั้งภาษาพูดและการเข้าใจภาษา รวมถึงตรวจร่างกาย  ตรวจพัฒนาการและประเมินพฤติกรรม เช่น พฤติกรรมการตอบสนองต่อเสียง ภาษาท่าทางที่ใช้สื่อสาร ทักษะทางสังคม โดยในเด็กที่มีพัฒนาการทางภาษาด้านการพูดและความเข้าใจภาษาล่าช้ากว่าวัยอย่างชัดเจน แพทย์จะส่งตรวจประเมินการได้ยินโดยใช้เครื่องมือเฉพาะทาง ทั้งนี้การรักษาและแก้ไขเรื่องการพูดช้าจะอิงตามสาเหตุที่พบนั้นๆ

การกระตุ้นและการแก้ไขเด็กพูดช้า 

การรักษาแก้ไขหากเริ่มเร็วเท่าใดก็จะยิ่งช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็กให้ดีขึ้นเร็วเท่านั้น ส่วนแนวทางในการ กระตุ้นพัฒนาการทางภาษาในเด็กที่พูดช้า คือ ผู้เลี้ยงดูควรออกเสียงพูดให้ชัดเจน เพื่อเป็นตัวอย่างในการพูดที่ดีแก่เด็ก และควรพูดในสิ่งที่เด็กกำลังให้ความสนใจอยู่ในเหตุการณ์ต่างๆในชีวิตประจำวัน  เพราะเด็กจะเรียนรู้ได้ดีเมื่อเสียงที่เด็กได้ยินตรงกับสิ่งที่เด็กกำลังให้ความสนใจอยู่  ถ้าเด็กยังพูดไม่เป็นคำ ควรเน้นพูดกับเด็กให้เป็นคำเดี่ยวๆ ให้ตรงกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เช่น ถ้าเด็กชี้จะเอานม ให้พูดว่า “นม” ก่อนส่งให้เด็ก โดยควรทำซ้ำๆ บ่อยๆ และควรตั้งคำถามแก่เด็กอย่างเหมาะสมที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่สนใจร่วมกัน ในเด็กเล็กอาจใช้คำถามง่ายๆ เช่น “เรียกว่าอะไร” “กำลังทำอะไร” ผู้เลี้ยงดูควรเป็นผู้ฟังที่ดี ฟังอย่างตั้งใจโดยการมองหน้า ให้เวลาเด็กในการตอบคำถามพอควร มีท่าทีที่ไม่เร่งรัดเมื่อเด็กตอบคำถามไม่ได้ หากเด็กตอบคำถามไม่ได้ก็อาจถามใหม่ด้วยคำถามที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น และหากเด็กสามารถสื่อสารได้เหมาะสมก็ควรให้คำชม และเปิดโอกาสให้เด็กซักถามต่อ นอกจากนี้ควรสร้างโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ทางด้านภาษาเพิ่มขึ้นผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การอ่านหนังสือนิทานตามวัย การดูรูปภาพ การเล่นสมมติร่วมกัน

อย่างไรก็ตามเด็กพูดช้าควรได้รับการประเมิน ติดตามพัฒนาการ และเฝ้าระวังปัญหาพฤติกรรมที่พบร่วมกันได้บ่อย เนื่องจากช่องว่างในการสื่อสารระหว่างเด็กและผู้เลี้ยงดู รวมถึงปัญหาการเรียนและการปรับตัวในสังคมเมื่อเด็กเข้าสู่วัยเรียน

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1.การนอนของเด็กแต่ละช่วงวัย

2.การนอนของลูกช่วยพัฒนาสมองและความฉลาดได้จริงหรือ

3.เด็กควรนอนท่าไหนถึงจะปลอดภัย

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

ขอบคุณข้อมูล  : พญ.ดวงเดือน ชินรุ่งเรืองกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก ประจำศูนย์สุขภาพเด็ก  โรงพยาบาลพญาไท 3