อาหารเป็นพิษในเด็ก
คุณหมอสุภาพรรณ ตันตราชีวธร กุมารแพทย์ด้านโภชนาการเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร และวชิรพยาบาลกล่าวว่า อาหารเป็นพิษคืออาการที่เกิดจากการกินอาหารที่มีพิษของเชื้อโรคเข้าไป เช่น พิษของเชื้อ Staphylococcus aureus , E.coli , Clostridium botulism ,Bacillus cereus เมื่อเรากินอาหารที่มีพิษของเชื้อเหล่านี้เข้าไปแล้ว ระยะฟักตัวจะเร็ว ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง ลักษณะถ่ายเหลวเป็นน้ำ แต่ไม่มีไข้
อาการอาหารเป็นพิษในเด็ก
อาหารเป็นพิษในเด็ก เป็นเร็ว และหายเร็ว พอร่างกายขับพิษออกมาไม่ว่าจะเป็นการถ่าย หรืออาเจียนหลังจากนั้นอาการจะหายเป็นปลิดทิ้งได้ ซึ่งอาการท้องเสีย หรืออาเจียนจากอาหารเป็นพิษจะเป็นเพียง 1-2 วัน ช่วงนี้ควรให้ลูกกินยาแก้อาเจียน และดื่มน้ำเกลือแร่ชดเชยน้ำที่เสียไป ไม่จำเป็นต้องกินยาฆ่าเชื้อ ที่สำคัญไม่ควรให้ลูกกินยาระงับการขับถ่าย หรือยาแก้ท้องเสีย เพราะจะยิ่งทำให้สารพิษอยู่ในร่างกายนานขึ้น อาการต่างๆจะหายช้าลงค่ะ
อาหารเป็นพิษในเด็กพ่อแม่ดูแลให้ถูกต้อง
คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกกินยาแก้อาเจียนและดื่มน้ำเกลือแร่ชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่เสียไป ระหว่างนั้นควรสังเกตว่าลูกมีอาการขาดน้ำหรือไม่ อาการของการขาดน้ำได้แก่ ปากแห้ง กระบอกตาลึก กระหม่อมบุ๋ม ชีพจรเต้นเร็วและปัสสาวะน้อยลง ถ้าลูกไม่มีการขาดน้ำคุณอาจดูแลลูกที่บ้านเองได้ แต่ถ้าลูกมีอาการแสดงของการขาดน้ำควรรีบพาลูกไปหาหมอนะคะ ถ้าอาการเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ เราควรให้ลูกดื่มน้ำเกลือแร่ต่อไป และพยายามให้ลูกดื่มนมทีละน้อยๆ แต่บ่อยๆ เพื่อไม่ให้อาเจียน และควรให้กินอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊ก ข้าวต้มจะเป็นการดีกว่าอาหารแข็งๆที่ย่อยยากค่ะ
อาหารเป็นพิษในเด็กลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อในอาหาร
เกิดการท้องเสียฉับพลัน หรืออาเจียน ซึ่งเป็นอาการคล้ายคลึงกับอาการของอาหารเป็นพิษ แต่มีไข้เพิ่มเข้ามาด้วย และถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด อย่างนี้ถือว่าลูกติดเชื้อโรคจำพวก Salmonella หรือ Shigella แล้วค่ะ ซึ่งมีอาการรุนแรงกว่าอาหารเป็นพิษ ทางที่ดีควรรีบพาลูกไปหาหมอรับยาฆ่าเชื้อ เพื่อยับยั้งการลุกลามของเชื้อโรคเป็นการด่วนค่ะ และเชื้อที่ก่อโรคอาหารเป็นพิษมี5เชื้อดังนี้
1.อาหารเป็นพิษในเด็กจากเชื้อโรค Staphylococcus aureus
อาหาร : พบมากในเนื้อสัตว์ แฮม มันฝรั่ง สลัดไข่ แซนวิช
อาการ : ท้องเสีย อาเจียน มักเกิดอาการภายใน 1-6 ชั่วโมงหลังกินอาหาร
วิธีรักษา : ให้กินยาแก้อาเจียน และดื่มน้ำเกลือแร่
2.อาหารเป็นพิษในเด็กจากเชื้อโรค : E.coli
อาหาร : พบมากในผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์
อาการ : ท้องเสีย อาเจียน มักเกิดอาการภายใน 1-4 วันหลังกินอาหาร
วิธีรักษา : ให้กินยาแก้อาเจียน และดื่มน้ำเกลือแร่
3.อาหารเป็นพิษในเด็กจากเชื้อโรค : Botulism
อาหาร : ส่วนใหญ่จะพบอยู่ในอาหารกระป๋องที่หมดอายุ หรือในเนยแข็ง น้ำผึ้ง ผักสด
อาการ : ท้องเสีย อาเจียน มักเกิดอาการภายใน 12-48 ชั่วโมงหลังกินอาหาร
วิธีรักษา : ให้กินยาแก้อาเจียน และดื่มน้ำเกลือแร่
4.อาหารเป็นพิษในเด็กจากเชื้อโรค : Salmonella
อาหาร : ส่วนใหญ่จะพบในไข่ที่ปรุงไม่สุก หรือเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก หรือน้ำส้มคั้นที่ใส่ขวดเอาไว้ โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ
อาการ : จะรุนแรงกว่าอาหารเป็นพิษ คือมีไข้ ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน และถ่ายมีมูกได้
วิธีรักษา : ควรพบหมอ
5.อาหารเป็นพิษในเด็กจากเชื้อโรค : Shigella
อาหาร : ส่วนใหญ่มักจะมีในผัก หรือผลไม้
อาการ : รุนแรงกว่าอาหารเป็นพิษ คือมีไข้ ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน และถ่ายมีมูกเลือด
วิธีรักษา : ควรพบหมอเพื่อรับยาฆ่าเชื้อ
อาหารเป็นพิษเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวลูกเรามาก พยายามปรุงอาหารให้สะอาด และสุกอยู่เสมอ รวมทั้งล้างมือก่อนและหลังกินข้าว รวมทั้งล้างพืช ผักผลไม้ด้วยวิธีให้น้ำไหลผ่าน และเลือกอาหารที่ผ่านการฆ่าเชื้อมาอย่างดี รับรองได้ว่าอาหารเป็นพิษจะไม่เกิดกับลูกของเราอย่างแน่นอน
อาหารที่ต้องระวังเพื่อป้องกันอาหารเป็นพิษในเด็ก
- ระวังสลัดจานใหญ่ที่ราดมายองเนสมากๆ เพราะข้างในอาจแฝงไปด้วยพิษของเชื้อโรคต่างๆอยู่
- ผัก ผลไม้สดๆที่ล้างไม่สะอาด รวมทั้งเนื้อสัตว์ต่างๆที่อาจปนเปื้อนไปด้วยพิษของเชื้อโรค
- ควรกินไข่ที่สุกเท่านั้น
- กุ้ง หอย เช่น หอยแมลงภู่
- น้ำผลไม้สดไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ
- ถั่วงอก
- นมสดที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ และเนยแข็ง
- อาหารกระป๋องที่หมดอายุ
วิธีป้องกันการเจ็บป่วยจากอาหารเป็นพิษในเด็ก
- ควรล้างมือด้วยน้ำสบู่ก่อนทำกับข้าว และหลังทำกับข้าวเสร็จ
- ไม่ควรวางอาหารสด หรือผักผลไม้ทับรอยที่เนื้อสดๆ หรือไข่สดๆวางไว้ก่อนหน้านี้ เพราะเชื้อโรคจากเปลือกไข่ หรือจากเนื้อสัตว์อาจหลุดเข้ามาปะปนในอาหารนั้นๆได้
- ไม่ควรทิ้งเนื้อสดๆไว้นอกตู้เย็น เพราะอุณหภูมิที่ร้อนจะเร่งให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
- อย่าวางเนื้อสดๆ เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู หรือปลาบริเวณชั้นบนของตู้เย็น เพราะน้ำจากเนื้อสดๆอาจหยดลงมาใส่อาหารอื่นๆได้
- ล้างผัก และผลไม้ด้วยน้ำไหล ถ้าแช่ด่างทับทิมได้ควรแช่ไว้ประมาณ 15 นาทีก่อนล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งค่ะ
- ทุกครั้งที่ใช้เขียงเสร็จ ควรขัดให้สะอาดตามด้วยล้างด้วยน้ำอุ่นๆ
- หมั่นซักผ้าปูโต๊ะ 3 ครั้งต่ออาทิตย์ และหมั่นทำความสะอาดฟองน้ำล้างจานให้สะอาดอยู่เสมอ
ปรุงเนื้อสัตว์กี่นาทีถึงจะสุก ? ลดภาวะอาหารเป็นพิษในเด็ก
เนื้อสัตว์ต่างๆสุกไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับชนิดของเนื้อ และความหนาของชิ้นเนื้อที่เราหั่น แต่ตามหลักการแล้วเนื้อวัวจะสุกยากที่สุด รองลงมาคือเนื้อหมูและไก่ซึ่งจะสุกใกล้เคียงกัน สุดท้ายคือเนื้อปลาจะสุกง่ายที่สุดนอกจากนั้นขนาดของชิ้นเนื้อ ยิ่งหนาใหญ่ยิ่งสุกได้ยากกว่าชิ้นเนื้อบางๆ ส่วนกรรมวิธีในการปรุง ได้แก่ การต้มหรือนึ่งจะใช้อุณหภูมิประมาณ 100 องศาเซลเซียส ส่วนการทอด หรือย่างอุณหภูมิจะสูงกว่า 100 องศาเซลเซียส ดังนั้นการทำอาหารให้สุกโดยวิธีต้มในน้ำเดือด ทอด ย่าง หรือนึ่งโดยใช้เวลา 5-10 นาทีขึ้นไป ก็ไม่ต้องห่วงหรอกค่ะว่าเนื้อที่เรากำลังทำกับข้าวอยู่นั้นจะไม่สุกดี
เด็กต่างวัยรับมืออาหารเป็นพิษในเด็กต่างกันไหม
อาหารเป็นพิษในเด็ก เด็กเล็กอาจจะทนกับภาวะขาดน้ำได้น้อยกว่าเด็กโต ดังนั้นพ่อแม่ต้องให้น้ำเกลือแร่กับเด็กเล็กเร็วขึ้นกว่าเด็กโต อย่างไรก็ดีอาการของอาหารเป็นพิษจะรุนแรงมากน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณอาหารที่กินเข้าไป ถ้าคนกินมากจะมีอาการรุนแรงกว่าคนที่กินน้อย และคนที่ร่างกายแข็งแรงจะทนต่อการขาดน้ำได้ดีกว่าค่ะ
เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่แต่ละบ้านอย่าชะล่าใจ ควรใส่ใจเรื่องความสะอาดของอาหาร การปรุงอาหารให้สุกและใหม่ หากสงสัยว่าลูกอาจป่วยเพราะอาหารเป้นพิษควรพบแพทย์ใกล้บ้านเพื่อตรวจรักษา
บทความแนะนำเพิ่มเติม
1. ไวรัสโรต้า ( Rotavirus )วายร้ายทำลายลูกก่อเกิดโรคท้องเสียรุนแรง
2. ลูกถ่ายเหลวใช่ลูกท้องเสียหรือไม่ แม่มือใหม่ควรรู้
3. 7 อาการเตือนที่บ่งบอกว่า ลูกติดเชื้อท้องเสียโนโรไวรัส
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team