ลูกดูดนิ้ว บอกอะไรคุณแม่เกี่ยวกับพัฒนาการ

11 February 2014
33375 view

ลูกดูดนิ้ว

ลูกดูดนิ้ว บอกอะไรคุณแม่เกี่ยวกับพัฒนาการ เด็กๆ มักเริ่มดูดนิ้วราวอายุ 15 สัปดาห์ในครรภ์ แต่เมื่อออกมาพบโลกแล้วจะเริ่มดูดนิ้วเมื่ออายุประมาณ 4 เดือน โดยจะเริ่มสำรวจ เรียนรู้สิ่งต่างๆ ของร่างกายตนเองผ่านสัมผัสต่างๆ รวมทั้งสัมผัสทางปากด้วย ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จะสังเกตได้ว่าเด็กที่เริ่มเอื้อมมือคว้าของได้นั้น จะนำของเข้าปากทันที ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อทำความรู้จักอวัยวะของร่างกายตนเองนอกจากนั้นยังเป็นการสร้างความสุขเล็กๆ น้อยๆ ให้กับตนเอง โดยเฉพาะในเด็กที่ไม่มีกิจกรรมอื่นให้รู้สึกสนุก หรือมีความสุขไปมากกว่าการดูดนิ้ว ไม่เฉพาะเพียงแต่นิ้วมือเท่านั้น เด็กหลายคนยังเพลินถึงกับดูดนิ้วเท้าด้วยเลยนะคะนอกจากเรื่องของพัฒนาการแล้วเด็กบางคนใช้พฤติกรรมดูดนิ้ว เพื่อเรียกร้องให้พ่อแม่หรือคนใกล้ตัวสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการล้อเลียน สั่งสอน ดุว่า ล้วนเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าเขาอยู่ในความสนใจของคุณพ่อคุณแม่เข้าแล้ว

ลูกดูดนิ้ว มีผลเสียอย่างไรบ้าง

อย่างที่บอกไว้แต่ต้นว่าการดูดนี้เป็นการสำรวจร่างกายของวัยเบบี๋ ถึงกระนั้นการดูดนิ้วก็ควรเป็นไปอย่างเหมาะสมค่ะ คืออาจจะยอมให้เขาดูดได้บ้าง แต่ไม่ใช่ให้ดูดตลอด หรือไม่พยายามแก้ไขเมื่อเขาดูดเพราะการที่ลูกติดดูดนิ้วนั้นจะส่งผลเสียตามมา ดังนี้

  1. ทำให้โครงสร้างของฟันผิดปกติ ฟันที่ขึ้นอาจมีลักษณะเหยิน ยื่น โดยเฉพาะในเด็กที่ดูดเกินอายุ 4 ปีขึ้นไป
  2. ทำให้เกิดความผิดปกติของนิ้วและทำให้เล็บขบ หรือมีความผิดปกติของข้อนิ้วจนต้องพาไปพบแพทย์ เพื่อจะได้ทำการรักษาด้วยการผ่าตัด
  3. มีผลทางด้านจิตใจของตัวเอง เพราะจะถูกมองว่าเป็นเด็กไม่รู้จักโต ถูกเพื่อนล้อ ถูกพ่อแม่ดุว่า
  4. เด็กๆ จะใช้มือจับสิ่งต่างๆ มากมายเพราะฉะนั้น เมื่อเวลาที่เด็กเอานิ้วเข้าปากอาจจะได้รับสารพิษ หรือเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไปทางปาก

ลูกดูดนิ้ว แก้ไขด้วยวิธีการเบี่ยงเบนความสนใจของลูก

เด็กแต่ละคนจะใช้เวลาในการเลิกดูดนิ้วไม่เท่ากันค่ะ ซึ่งอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ว่านิ้วไม่เท่ากันค่ะ ขึ้นอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ว่าจะทำอย่างไรที่จะเบี่ยงเบนความสนใจของลูกให้ได้มากที่สุด มีคำแนะนำมาฝากค่ะ

  1. ในเด็กเล็กๆ ให้เน้นกิจกรรมที่ต้องใช้มือทำร่วมกัน เช่น ชวนลูกเข้าครัวช่วยคุณแม่ ช่วยถือหนังสือให้คุณพ่ออ่าน หรือเล่นปั้นแป้ง โดยไม่ควรให้ความสนใจกับพฤติกรรมดูดนิ้วของเขา
  2. ชมเมื่อลูกไม่ดูดนิ้ว เพื่อให้เขารู้สึกว่าถ้าไม่ดูดนิ้วแล้วคุณพ่อคุณแม่จะหันมาให้ความสนใจ และเห็นเขาเป็นเด็กน่าชื่นชม
  3. การให้ความสนใจด้วยการต่อว่า สั่งสอน ดุ จะยิ่งเป็นการส่งเสริมทางอ้อมหรือเวลาลูกดูดนิ้วต่อหน้าคน อย่าไปดุลูก เพราะจะทำให้ลูกเกร็ง เครียด และอาจดูดนิ้วบ่อยกว่าเดิมได้ค่ะ
  4. หมั่นตัดเล็บลูกให้สั้น และล้างมือลูกให้สะอาดอยู่เสมอ อย่าลืมสังเกตด้วยว่าที่มือของลูกมีอาการอักเสบ คัน หรือเป็นแผลจากการดูดนิ้วหรือไม่ปกติอาการดูดนิ้วของเจ้าหนูวัยเบบี๋นั้นเกิดขึ้นแล้วจะหายไปได้เอง ซึ่งถือเป็นพัฒนาการการเรียนรู้อย่างหนึ่งของเด็กวัยนี้ขอเพียงคุณพ่อคุณแม่ไม่ไปย้ำจนทำให้เรื่องปกตินี้กลายเป็นปัญหาลูกติดดูดนิ้วนะคะ

ลูกเลิกดูดนิ้วแล้ว แต่ … อยู่ๆกลับมาดูดใหม่

เด็กที่เลิกดูดนิ้วแล้วแต่กลับมาดูดใหม่คุณพ่อคุณแม่ต้องลองหาสาเหตุแล้วค่ะว่า อาจมีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการถดถอย หรือเด็กมีความเครียด เช่น เมื่อมีน้องใหม่ เจ็บป่วย สูญเสีย คนในครอบครัว ย้ายบ้าน ย้ายโรงเรียนของเล่นชิ้นโปรดหายไป หรือเกิดมีความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่เกิดกับเด็กหรือไม่เพราะการกลับมาดูดนิ้วแบบนี้จะส่งผลเสียและไม่ใช่เป็นการดูดตามพัฒนาการอย่างในวัยเบบี๋แล้วค่ะ

ลูกดูดนิ้ว จนนิ้วเปื่อยแก้ไขอย่างไร

เด็กบางคนดูดนิ้วจนติดต้องดูดตลอดหรือบ่อยๆ ทำให้เกิดโรคนิ้วเปื่อยหากไม่มีการติดเชื้อก็จะหายไปเองได้ เมื่อลูกเลิกดูดแต่หากมีการติดเชื้อหรือว่าแพ้น้ำลายตัวเอง ก็ต้องพาไปพบแพทย์เพื่อรักษาด้วยใช้ยา

 หากคุณแม่ลองปรับพฤติกรรมลูกชอบดูดนิ้วไม่สำเร็จ แนะนำให้พาลูกไปพบจิตแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำในการหยุดพฤติกรรมดูดนิ้วให้สำเร็จค่ะ 

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. เรื่องเล่าจากคุณหมอ…ตอนเลือกพี่เลี้ยงเด็กให้ปลอดภัย

2. วิธีปราบลูกวัย รื้อของ ตามเทคนิคของจิตแพทย์

3. เคล็ดลับเลี้ยงลูกให้สมองดี ในยุคเทคโนโลยีแต่ไม่ติดจอ

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team