โรคพันธุกรรมเมตาบอลิก โรคอันตรายของเด็ก ที่แม่ต้องรู้!

23 February 2017
6431 view

โรคพันธุกรรมเมตาบอลิก

โรคพันธุกรรมเมตาบอลิก หรือที่เรียกว่า Inherited Metabolic Disorders หรือ Inborn Errors of Metabolism (IBEM) เป็นโรคพันธุกรรมกลุ่มหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติของยีนเดี่ยว ทำให้การเรียงลำดับของสาย DNA บกพร่อง ก่อให้เกิดความผิดปกติของการสร้างโปรตีน เช่น เอนไซม์ โปรตีนตัวรับขนส่ง โปรตีนโครงสร้าง หรือส่วนประกอบอื่นของเซลล์ แล้วส่งผลให้กระบวนการย่อยสลาย (Catabolism) หรือขบวนการสังเคราะห์สารอาหารในร่างกาย (Anabolism) ผิดปกติไปอย่างที่รู้กันว่า การเผาผลาญอาหารในร่างกายเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้มนุษย์มีพลังงานในการดำรงชีวิต แต่หากยีนตัวนี้มีความบกพร่อง จนไปทำให้เซลล์ไม่สามารถย่อยสารอาหารได้ เปลี่ยนสารอาหารเป็นพลังงานไม่ได้ นาน ๆ เข้า สารอาหารที่ถูกสะสมไว้ในตัวจะตกค้างจนกลายเป็นพิษ และในที่สุดเซลล์ก็จะตาย นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้นั่นเอง

ทำไมลูกถึงเป็นโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก

โรคนี้เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมเกิดจากยีนด้อยของพ่อและแม่ ดังนั้น จึงมักเกิดจากการแต่งงานกันเองในเครือญาติ หรืออาจเป็นเครือญาติที่เคยเกี่ยวดองกันก็เป็นได้ ทำให้ยีนด้อยที่มีความบกพร่องเหมือนกันมาเจอกัน เมื่อคลอดลูกออกมาก็จึงป่วยด้วยโรคนี้

อาการของโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กที่ป่วยโรคนี้มักเสียชีวิต เพราะแพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็วนัก เนื่องจากอาการที่เกิดนั้นสามารถเลียนแบบโรคในเด็กได้เกือบทุกโรค โดยทำให้เกิดอาการในระบบเดียวหรือหลายระบบก็ได้ อาการที่พบบ่อยจะเป็นอาการทางระบบประสาท, ทางเดินอาหาร และหัวใจ ผู้ป่วยในกลุ่มโรคพันธุกรรมเมตาบอลิกจะเริ่มมีอาการครั้งแรกเมื่ออายุเท่าใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับระดับเอนไซม์เอนไซม์ที่เหลือและปัจจัยส่งเสริม ถ้าการกลายพันธุ์ (Mutation) ทำให้ไม่เหลือเอนไซม์ที่ปกติเลย ผู้ป่วยอาจเกิดอาการเร็วภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังคลอด แต่ถ้าการกลายพันธุ์เพียงแค่ทำให้ระดับเอนไซม์ลดลง แต่ยังมีอยู่บ้าง ผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการเลยจนกว่าจะมีปัจจัยมาส่งเสริม ย่างไรก็ตาม อาการและอาการแสดงทางคลินิกในผู้ป่วยพันธุกรรมเมตาบอลิก มีดังนี้

1. อาการป่วยเฉียบพลัน

แพทย์ควรวินิจฉัยแยกโรคกลุ่มพันธุกรรมเมตาบอลิก ในกรณีที่ผู้ป่วยมีลักษณะทางคลินิกดังต่อไปนี้

  1. มีอาการคล้ายภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) โดยอาการเกิดขึ้นหลังคลอดไม่นาน มักเป็นชั่วโมงหรือวัน และมีช่วงเวลาที่ปกติมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผลการเพาะเชื้อไม่พบเชื้อใด ๆ ทั้งนี้ การที่ผู้ป่วยไม่มีอาการก่อนคลอดและระยะแรกหลังคลอดนั้น เนื่องจากสาร intermediates เหล่านี้มักมีโมเลกุลเล็กสามารถผ่านรกไปสู่มารดาและถูกกำจัดไปได้
  2. การเจ็บป่วยเกิดในช่วงอายุอื่น แต่ความรุนแรงของการเจ็บป่วยและผลทางห้องปฏิบัติการไม่สัมพันธ์กับสาเหตุ เช่น ผู้ป่วยเป็นไข้หวัด แต่หอบมาก ซึม
  3. ผู้ป่วยมีอาการหอบ, ซึม หรืออาเจียนซ้ำ ๆ โดยเฉพาะเมื่อมีประวัติเป็นไข้หวัดหรือได้ทานอาหารโปรตีนสูงก่อนเกิดอาการ ในช่วงที่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยจะเป็นช่วงที่ผู้ป่วยได้รับสารอาหารจากการรับประทานไม่เพียงพอ เนื่องจากเบื่ออาหาร หรืออาเจียน แต่ร่างกายกลับต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นเพื่อกำจัดเชื้อโรค จึงทำให้ร่างกายต้องย่อยสลายเนื้อเยื่อของตนเองเพื่อใช้เป็นพลังงาน เนื้อเยื่อที่นำมาใช้นี้มีทั้งคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน ดังนั้น เอนไซม์ที่เหลืออยู่ซึ่งทำหน้าที่ได้เพียงพอในภาวะปกติ จึงไม่สามารถสลายสารอาหารเหล่านี้ได้หมดในภาวะวิกฤติ ทำให้เกิดสารพิษสะสมและเกิดอาการทางคลินิกขึ้น
  4. ในขณะเจ็บป่วยผู้ป่วยมีกลิ่นตัวและกลิ่นปัสสาวะผิดปกติ ทั้งนี้เนื่องจากสารที่คั่งใน Organic Acidopathies หลายโรคระเหยได้ง่าย เช่น ภาวะมีกรดไอโซวาลิริกในเลือด (Isovaleric Acidemia) หรือ โรคปัสสาวะน้ำเชื่อมเมเพิล (โรคปัสสาวะหอม : Maple Syrup Urine Disease) เป็นโรคในกลุ่มกรดอะมิโนที่พบมากในประเทศไทย
  5. มีคนในครอบครัว หรือญาติพี่น้อง มีอาการคล้ายผู้ป่วย หรือบิดามารดาเป็นญาติกัน

2. อาการทางระบบประสาท

หากผู้ป่วยมีอาการทางระบบประสาท แล้วแพทย์ตรวจไม่พบว่าติดเชื้อจากความผิดปกติทางโครงสร้าง (เช่น เนื้องอก) หรือภาวะสมองขาดออกซิเจน แพทย์ควรวินิจฉัยแยกโรคในกลุ่มพันธุกรรมเมตาบอลิก ซึ่งอาการทางประสาทจะแสดงออกได้หลายอย่าง เช่น มีอาการซึมลง ชักหลังคลอด หรือชักภายใน 1-2 เดือน มีพัฒนาการช้า มีระดับความรู้สึกตัวผิดปกติ มีระดับทรานซามิเนส (Transaminase) และแอมโมเนีย (Ammonia) สูงขึ้น มีการถดถอยของพัฒนาการในช่วงอายุประมาณ 1 ปี มีการเคลื่อนไหวนอกที่เหนือความควบคุม (Involuntary Movement) และมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง ฯลฯอย่างไรก็ตาม ทุกอาการที่ว่ามานี้อาจแสดงได้ถึงหลายโรค ดังนั้น ต้องเข้ารับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อวินิจฉัยอย่างชัดเจน

3. อาการทางระบบทางเดินอาหาร

ผู้ป่วยโรคนี้มักจะมีอาการตัวเหลือง ตับโตในขวบปีแรก หรืออาจอาเจียนเป็น ๆ หาย ๆ เริ่มมีตับและม้ามโตไม่ว่าลักษณะใดหลังอายุ 4 ปีซึ่งจะต้องตรวจค่าต่าง ๆ ในร่างกายอย่างละเอียด จึงจะระบุแน่ชัดว่าเป็นโรคนี้หรือไม่

4. อาการที่เกิดกับหัวใจ

บางกลุ่มของโรคนี้จะทำให้ผู้ป่วยหัวใจโต จากการหนาตัวขึ้นของผนังหัวใจด้านซ้าย และยังมีอาการทางกล้ามเนื้อลายด้วย (กล้ามเนื้อที่ยึดติดกับกระดูก ทำหน้าที่ในการเคลื่อนที่ของร่างกาย) รวมทั้งอาจมีอาการลิ่มเลือดอุดตัน เกิดอาการหัวใจวายตามมา

การวินิจฉัยโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก

  1. การวินิจฉัยทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากแต่ละโรคพบได้น้อยมาก จัดเป็นโรคหายากในต่างประเทศประเมินอุบัติการณ์ไว้ราว 1 ต่อ 5,000 คน ทำให้แพทย์ไม่ค่อยนึกถึงเมื่อพบผู้ป่วยมีอาการลักษณะนี้ กว่าจะแยกโรคได้ก็มีอาการค่อนข้างมากแล้ว ส่วนในประเทศไทยยังไม่พบอุบัติการณ์ที่แน่นอน
  2. การตรวจทางห้องปฎิบัติการโดยเฉพาะการตรวจเลือดและปัสสาวะเบื้องต้น มักไม่ค่อยบอกโรคชัดเจน ยกเว้นส่งตรวจพิเศษบางอย่างเช่นการวิเคราะห์ Plasma Amino Acid หรือ Urine Organic Acid
  3. ในทารกแรกเกิดซึ่งมีโอกาสพบโรคกลุ่มนี้ได้บ่อย มักจะมีการตอบสนองต่อความเจ็บป่วยรุนแรงอย่างมีขีดจำกัด หรือแสดงอาการอย่างไม่จำเพาะเจาะจง เช่น “Poor Feeding” อย่างไม่ดูดนม ท้องอืด สำรอกนม หรืออาการในลักษณะเซื่องซึม เป็นต้น ซึ่งยากแก่การวินิจฉัยในเบื้องต้น
  4. กุมารแพทย์มักจะคิดถึงโรคกลุ่มนี้ในบางภาวะเท่านั้น เช่น ภาวะปัญญาอ่อน หรือชักที่คุมได้ยาก และมองข้ามอาการแสดงบางอย่างที่อาจเป็นเงื่อนงำสำคัญในการวินิจฉัยโรค

อย่างไรก็ตาม หากต้องสงสัยว่าเด็กอาจเป็นโรคนี้สามารถวินิจฉัยได้ในหลายวิธี คือ

  1. การตรวจทางห้องปฏิบัติการเบื้องต้น โดยแพทย์จะตรวจภาวะหลาย ๆ อย่าง เช่น ภาวะน้ำตาลเลือด ตรวจค่าตับ ฯลฯ เพื่อแยกโรค
  2. การตรวจทางห้องปฏิบัติการพิเศษ หากผลการตรวจเบื้องต้นพบความผิดปกติ แพทย์จะส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการพิเศษ เพื่อแยกโรคให้ชัดเจนขึ้น
  3. การตรวจปัสสาวะ
  4. การตรวจเลือด

แนวทางการรักษาโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก

ในทางการแพทย์มีหลายแนวทางที่สามารถช่วยรักษาผู้ป่วยโรคนี้ได้ อย่างเช่น

  1. ใช้วิธี Dietary Therapy หรือ จำกัดสารอาหารโปรตีน
  2. หลีกเลี่ยงสารและยาที่ทำให้เกิดโรค
  3. กำจัดสารพิษที่สะสมในร่างกาย โดยใช้สารเคมีบางอย่างเข้าช่วย เพื่อให้สารพิษเช่น urea cycle defects ขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ
  4. ใช้ยาขับสารพิษที่ร่างกายสร้างมากเกินปกติออกไป
  5. การให้สารที่ร่างกายขาด เช่น ให้ฮอร์โมนไทรอยด์แก่ผู้ป่วยที่มีภาวะต่อมไทรอยด์บกพร่อง
  6. ให้วิตามินเสริมการทำงานของร่างกาย
  7. การให้โปรตีนยับยั้งในบางโรค
  8. การให้โปรตีนที่ขาด
  9. การปลูกถ่ายอวัยวะ ปลูกถ่ายไขกระดูก
  10. การเปลี่ยนยีน โดยกระบวนการนำสารพันธุกรรมที่ขาดหายไปใส่ในเซลล์เพื่อแก้ไขความผิดปกติของยีน

การป้องกันโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก

  1. ผู้ที่วางแผนแต่งงาน ควรเข้ารับการปรึกษาทางพันธุศาสตร์จากแพทย์ก่อน เพราะโรคที่เกิดจากการถ่ายทอดยีนด้อยนี้ จะทำให้การตั้งครรภ์แต่ละครั้งจะมีโอกาสได้ทารกผิดปกติถึงร้อยละ 25
  2. ตรวจวินิจฉัยก่อนคลอด เพื่อบอกได้ว่าทารกในครรภ์เป็นโรคพันธุกรรมนั้น ๆ หรือไม่ เพื่อให้คู่สามีภรรยาพิจารณากเลือกยุติการตั้งครรภ์ 

บทความแนะนำเพิ่มเติมสำหรับคุณแม่

1.โรคตุ่มน้ำพองใสในเด็ก

2. 5 โรคอันตรายในเด็กที่ต้องเฝ้าระวัง

3.โรคร้ายที่พบในเด็กแต่ละช่วงวัย ที่แม่ควรรู้

เรียบเรียงโดย  : Mamaexpert Editorial Team

ขอบคุณข้อมูลจาก ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย