เข้าสู่หน้าร้อนมาสักพัก แน่นอนว่าสิ่งที่จะช่วยคลายร้อนได้ดีก็คงไม่พ้นการเล่นน้ำ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เด็กๆชอบ แต่บางครั้งการปล่อยเด็กเล่นน้ำตามลำพัง ก็อาจจะส่งผลที่ไม่คาดคิด ผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์สูญเสียขึ้นเหมือนกรณีนี้
เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2562 เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า พ.ต.ท.โกวิทย์ ปล้องบรรจง รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.จุฬาภรณ์จ.นครศรีธรรมราช รับแจ้งเหตุคนจมน้ำเสียชีวิต 3 ศพ ภายในคลองเขต หมู่ 4 ต.นาหมอบุญ อ.จุฬาภรณ์ จึงประสานแพทย์ร.พ.จุฬาภรณ์ จึงได้ลงพื้นที่ไปตรวตจสอบ เมื่อไปถึงพบว่าชาวบ้านนำศพผู้เสียชีวิต3 ราย ขึ้นมาไว้ที่ริมตลิ่งแล้ว ทราบชื่อคือ นายเขียว ขุนสิทธิ์ อายุ 76 ปี เป็นผู้ที่ลงไปช่วยเด็กทั้งสอง ด.ญ.กนกพร อายุ 8 ขวบ นักเรียนชั้น ป.2 และ ด.ช.ธนพัฒน์ อายุ 11 ปี นักเรียนชั้น ป.5 แพทย์ชันสูตรเบื้องต้นลงความเห็นว่าสำลักน้ำเสียชีวิตทั้ง 3 ราย
ดังนั้น การดูแล ระมัดระวัง รวมถึงการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ปกครองต้องตระหนัก เพราะหากเกิดการสูญเสียแล้ว ก็ไม่อาจแก้ไขอะไรได้อีก วันนี้ Mamaexpert มีข้อแนะนำ และวิธีการสำหรับช่วยผู้ที่จมน้ำในเบื้องต้น ที่ถูกวิธีมาฝากกัน ไปดูกันเลยค่ะ
สิ่งสำคัญในการช่วยคนจมน้ำ อย่างแรกควรมีสติ ไม่ตื่นตระหนก หรือร้อนรน จากนั้นจึงค่อยใช้วิธีช่วยคนจมน้ำอย่างถูกต้อง ซึ่งมีหลักการง่าย ๆ อยู่ 4 วิธี ดังนี้
1.ยื่น ยื่นอุปกรณ์ให้คนตกน้ำจับ เช่น เสื้อผ้า เข็มขัด ท่อนไม้ ห่วง หรือไม้ตะขอ ใช้ในกรณีที่ระยะห่างระหว่างคนช่วยกับผู้ประสบเหตุไม่ไกลกันนัก
2.โยน อุปกรณ์อย่างห่วงยาง ถังพลาสติก ห่วงชูชีพ ยางในรถยนต์ ผู้ช่วยเหลือสามารถโยนให้ผู้ที่ตกน้ำยึดเกาะได้ โดยวิธีนี้จะมีความปลอดภัยต่อผู้ช่วยเหลือด้วย เพราะผู้ช่วยเหลือสามารถยืนอยู่บนฝั่ง หรือน้ำตื้นได้ ลดความเสี่ยงตกน้ำไปด้วย
3.พาย การใช้เรือ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ออกไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ โดยพาหนะที่ใช้นั้นควรมีขนาดใหญ่พอสมควร ลอยน้ำได้ ไม่ชำรุด เช่น เรือพาย กระดานโต้คลื่น เรือใบ เจ็ตสกี เรือแคนู เรือกรรเชียง เรือใบ เป็นต้น ซึ่งควรจะนำอุปกรณ์ประเภทที่ใช้ยื่นหรือใช้โยนตามข้อข้างบนติดตัวไปด้วย เพราะเมื่อเข้าใกล้คนตกน้ำแล้ว เราจะได้ส่งอุปกรณ์เหล่านี้ไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้อย่างทันท่วงที ลดความเสี่ยงจะตกน้ำไปด้วยอีกคน
4.ลากพา ในกรณีที่ผู้ช่วยจำเป็นต้องลุยน้ำออกไปช่วย เราจึงจะใช้วิธีลากพาเอาผู้ประสบเหตุกลับมาขึ้นฝั่ง ซึ่งการลุยน้ำไปช่วยควรคำนึงถึงระดับน้ำ ความรุนแรงของน้ำ สถานที่ ปัจจัยแวดล้อม เช่น ต้องไม่ใช่แม่น้ำที่มีความลึกมาก กระแสน้ำแรง หรือคลื่นทะเลที่รุนแรงเกินไป รวมไปถึงผู้ช่วยก็ควรต้องนำอุปกรณ์ช่วยเหลือติดตัวไปด้วย เช่น เชือก ห่วงยาง โฟม หรือใส่เสื้อชูชีพ เพื่อจะโยนให้คนตกน้ำยึดเกาะ จากนั้นเราจึงลากเขาเข้าฝั่ง
อย่างไรก็ตามการกระโดดน้ำตามลงไปช่วยเป็นสิ่งที่อันตรายมาก หากจำเป็นที่จะลุยน้ำลงไปช่วยต้องป้องกันความปลอดภัยของตนเองก่อนที่จะลงไปช่วยผู้อื่น เพราะคนที่จมน้ำจะกดคนที่ไปช่วยลงไปด้านล่างทำให้สำลักน้ำ อุปกรณ์ช่วยเหลือต้องพร้อม ไม่อย่างนั้นอาจทำให้การสูญเสียมีมากกว่าหนึ่งเช่นกับกรณีนี้
บทความแนะนำเพิ่มเติม
1.เด็ก 3 ขวบมุดรั้วโรงเรียนหนีไปเล่นน้ำ จมเสียชีวิต !!!
2.ด.ช.คะนองถีบ 2 .ญ.ตกน้ำ ปีนขึ้นแต่ทืบมือซ้ำจมดับคู่
3.เด็ก 4 ขวบ พลัดจมน้ำขณะลงเล่นสวนน้ำ นำส่ง รพ. แต่ไร้ปาฏิหาริย์
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team
ขอบคุณข้อมูลจาก : ข่าวสด , สมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำ (THAI LIFE SAVING SOCIETY)