โรคโลหิตจางในเด็ก โรคอันตรายแต่สามารถป้องกันได้ ถ้าพ่อแม่รู้เท่าทัน!

31 March 2018
27590 view

โรคโลหิตจางในเด็ก

โลหิตจาง หรือภาวะเลือดจาง คือภาวะที่ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ เนื่องจากเม็ดเลือดแดงมีหน้าที่ในการส่งออกซิเจนไปให้เซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆทั่วร่างกาย การที่เม็ดเลือดแดงลดลงจะส่งผลทำให้เกิดความผิดปกติได้หลากหลาย โดยทำให้มีอาการซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ส่วนใหญ่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงแต่จะส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ เมื่อเด็กมีภาวะโลหิตจาง จะทำให้ภูมิต้านทานโรคต่ำ ติดเชื้อต่างๆได้ง่าย ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องรู้แนวทางป้องกันและรักษา เพื่อสุขภาพที่ดีของลูก ดังนี้..

โรคโลหิตจางในเด็ก สาเหตุเกิดจากอะไร

สาเหตุการเกิดของโรคโลหิตจางที่พบได้บ่อย คือ ภาวะขาดธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดงของร่างกาย และสาเหตุ การเกิดโรคโลหิตจางอื่นๆอีก ได้แก่

  1. เป็นโรคพยาธิลำไส้ เช่นพยาธิปากขอ พยาธิตัวตืด พยาธิใบไม้ และพยาธิไส้เดือน เป็นต้น
  2. ขาดสารอาหารจำพวกแร่ธาตุ โดยเฉพาะธาตุเหล็ก
  3. ขาดสารอาหารจำพวกวิตามิน โดยเฉพาะ วิตามินบี12 กรดโฟลิค และวิตามินซี
  4. ขาดสารอาหารจำพวกโปรตีน

บุคคลกลุ่มเสี่ยงที่มักจะเป็นโรคนี้ได้มาก ได้แก่ทารกที่คลอดก่อนกำหนด ทารกที่คลอดจากมารดาที่เป็นโรคโลหิตจาง หญิงมีครรภ์ แม่ลูกอ่อนและเด็กวัยรุ่น เนื่องจากบุคคลกลุ่มหลังนี้ต้องการธาตุเหล็กมากกว่าปกติ จึงมี โอกาสเป็นโรคโลหิตจางได้มากขึ้น แต่โรคโลหิตจางสามารถป้องกันและแก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยการกินอาหารที่ถูกต้อง และการเสริมบำรุงด้วยยาที่เข้าธาตุเหล็ก หรือยาบำรุงโลหิต

โรคโลหิตจางในเด็ก มีอาการอย่างไร

อาการของโรคโลหิตจางในเด็ก สามารถสังเกตได้ ดังนี้

  1. ลูกเบื่ออาหาร ทานอาหารได้น้อยลง
  2. อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ก็หายใจหอบ หัวใจเต้นแรงผิดปกติ
  3. ผิวซีด ตาซีด
  4. เล็บบางเปราะและซีด

เมื่อคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าลูกมีอาการข้างต้น ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุให้โดยเร็วค่ะ

โรคโลหิตจางในเด็ก ต้องรักษาหรือไม่

โรคโลหิตจางในเด็กต้องรักษาหรือไม่ จำเป็นต้องรักษาค่ะ เนื่องจาก โรคโลหิตจางจะส่งผลถึงสุขภาและพัฒนาการของลูก โดยการรักษาสามารถทำได้โดยให้ลูกน้อยรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะโปรตีนและอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ ไข่ ตับ ไต เนื้อสัตว์ เมล็ดธัญพืช เช่น ถั่ว งา เมล็ดฟักทอง ลูกเดือย และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง แต่ถ้าคุณแม่สงสัยว่าลูกอาจเป็นโรคโลหิตจางหรือไม่ ควรรีบพาลูกไปตรวจยืนยันและแพทย์ต้องตรวจหาสาเหตุเสมอว่าทำไมถึงโลหิตจาง หลังจากนั้นจึงรักษาสาเหตุ แพทย์อาจให้ยาบำรุงเลือดมารับประทานค่ะ

โรคโลหิตจางในเด็ก ป้องกันได้หรือไม่

การป้องกันโรคโลหิตจาง คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้เลย โดยจะต้องป้องกันไม่ให้ลูกเป็นโรคพยาธิลำไส้ต่างๆ และป้องกันโดยเริ่มจากการให้ลูกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทั้ง ข้าว ไข่แดง เนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ ซึ่งอาหารที่มีธาตุเหล็กสามารถพบได้ในเนื้อแดง ไข่แดง เครื่องในสัตว์ ตับหมู เลือดหมู ผักใบเขียว ธัญพืช และนม สำหรับในเด็กแรกเกิดมักได้รับสารอาหารจากนมแม่ ซึ่งคุณแม่สามารถส่งเสริมได้โดยการกินอาหารที่มีธาตุเหล็กด้วยเช่นกัน เพียงเท่านี้ก็สามารถป้องกันลูกน้อยจากโรคหิตจางได้แล้วค่ะ

โรคโลหิตจางในเด็ก คุณแม่เลี้ยงดูอย่างไร

เมื่อลูกเป็นโรคโลหิตจางหรือเลือดจาง อันดับแรกในการดูแลลูกคือ คุณพ่อคุณแม่จะต้องพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจรับการรักษาหรือไปตามที่แพทย์นัดอย่างเสมอ และในเรื่องการดูแลสุขภาพของลูก คุณแม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญในเรื่อง อาหารต่างๆ ที่มีส่วนในการเพิ่มธาตุเหล็กให้แก่ร่างกาย โดยให้ลูกน้อยได้รับประทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่ และอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ก็เป็นการดูแลเมื่อลูกเป็นโรคโลหิตจางนั่นเองค่ะ

อาจดูเหมือนว่าโรคโลหิตจางในเด็กเป็นเรื่องที่น่ากลัว แต่จริงๆ แล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันได้ง่ายๆ โดยเริ่มจากโภชนาการที่เหมาะสมตามวัยของลูกน้อย และวิธีการป้องกันภาวะโลหิตจางในเด็ก แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ให้พาลูกไปตรวจเลือดเฉพาะค่า "ฮีโมโกลบิน" เมื่ออายุระหว่าง 6-12 เดือน หากพบว่าเป็นโรคโลหิตจาง ให้เริ่มรักษาโดยทันที อย่าชะล่าใจในปัญหาสุขภาพของลูกน้อย เพราะทุกๆปัญหา อาจส่งผลต่อพัฒนาการของลูกในอนาคตได้ค่ะ

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1.ภาวะลูกซีดสังเกตอย่างไร? พ่อแม่มือใหม่ต้องรู้

2.เด็กขาดธาตุเหล็ก ภาวะอันตรายที่พ่อแม่ป้องกันได้

3.อาหารสำหรับเด็กขาดธาตุเหล็ก

เรียบเรียงโดย  : Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง

1. ผศ.นพ.วีรศักดิ์  เมืองไพศาล.คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.โลหิตจาง. เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/t4FpE7 .[ค้นคว้าเมื่อ 29 มีนาคม 2561]

2. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน.โลหิตจาง.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/hDKx8U .[ค้นคว้าเมื่อ 29 มีนาคม 2561]

3. Paolo hospital. ภาวะซีดหรือโลหิตจางในเด็ก ป้องกันได้ด้วยพ่อแม่.เข้าถึงได้จาก http://www.paolohospital.com/chockchai4/healtharticle/anemia-children/.[ค้นคว้าเมื่อ 29 มีนาคม 2561]

4. Anemia caused by low iron - infants and toddlers. เข้าถึงได้จาก https://medlineplus.gov/ency/article/007618.htm .[ค้นคว้าเมื่อ 28 มีนาคม 2561]