ลูกนอนกรน
.
.
ลูกนอนกรน คุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่าลูกนอนหลับสบาย แต่การกรนที่ผิดปกติ จะส่งผลเสียจนถึงขั้นทำให้ลูกหยุดหายใจขณะนอนหลับได้เลยทีเดียวค่ะ อาการกรนของลูกเป็นสัญญาณเตือนประการหนึ่งของ “ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับในเด็ก” ซึ่งภาวะนี้จะทำให้คุณภาพการนอนหลับของเด็กต่ำลง จนกระทั่งส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านร่างกาย สติปัญญา และจิตใจ อีกทั้งยังมีผลต่อคุณภาพชีวิตและปัญหาสุขภาพในระยะยาว เช่น โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจดูแลลูกอย่างใกล้ชิด Mama expert จึงนำเรื่อง ลูกนอนกรน มาบอกต่อให้กับคุณพ่อคุณแม่ได้รู้และเข้าใจมากขึ้น ดังนี้..
ลูกนอนกรน สาเหตุเกิดจากอะไร
สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในเด็กนอนกรน คือ เด็กมีต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์โต จนเกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจ เกิดการสั่นสะเทือนของโครงสร้างระบบทางเดินหายใจ คือลิ้นไก่และเพดานอ่อนจึงทำให้เกิดเสียงกรนขึ้น หรือเกิดอาการแน่นจมูกเรื้อรัง เป็นโรคภูมิแพ้จมูก หรือในรายมีความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกใบหน้าผิดปกติแต่กำเนิด เช่น โรคดาวน์ซินโดรม โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมถึงเด็กที่มีรูปร่างอ้วน จะมีไขมันรอบคอมาก ขณะหลับกล้ามเนื้อจะหย่อนตัว ไขมันรอบคอจะไปกดทางเดินหายใจมากขึ้นก็ทำให้เกิดเสียงกรนได้เช่นกัน
ลูกนอนกรน อันตรายหรือไม่
ภาวะการนอนกรนเป็นการหายใจเสียงดัง ซึ่งเกิดขึ้นในขณะหลับ พบได้ในทุกเพศทุกวัย จากการศึกษาพบว่าเด็กประมาณ 3-12 เปอร์เซ็นต์นอนกรน การนอนกรนพบบ่อยเป็นพิเศษในช่วงอายุก่อนวัยเรียนหรือช่วงระดับชั้นอนุบาล เนื่องจากขนาดของต่อมอดีนอยด์ และทอนซิล ที่มักโตเมื่อเทียบกับขนาดของทางเดินหายใจเด็ก
การนอนกรนอาจ เป็นอันตรายได้ หากเกิดร่วมกับภาวะการหายใจที่ลดลง หรือหยุดหายใจในขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea Syndrome) ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำลง ส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอเพียง เด็กเมื่อนอนแล้วหายใจไม่ออก เนื่องจากทางเดินหายใจอุดตัน ก็จะนอนกระสับกระส่าย ตื่นนอนบ่อย ทำให้การนอนหลับตอนกลางคืนไม่มีคุณภาพ เมื่อนอนหลับได้ไม่เพียงพอจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต การเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กได้
ลูกนอนกรน ส่งผลต่อพัฒนาการอย่างไร
เมื่อเด็กนอนกรน จะยิ่งทำเด็กหลับไม่สนิท ซึ่งก็จะเป็นการรบกวนการนอน ส่งผลให้ร่างกายพักผ่อนไม่เต็มที่ การนอนไม่มีประสิทธิภาพ และอาจทำให้เด็กหยุดหายใจ เมื่อหยุดหายใจออกซิเจนในเลือดก็จะลดลงทำให้หัวใจต้องสูบฉีดเลือดมากขึ้น เพื่อไปเลี้ยงทุกส่วนของร่างกาย ถ้าปล่อยให้เด็กมีภาวะแบบนี้นานๆ เด็กก็จะมีอาการหัวใจโตและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ เด็กจะปัสสาวะบ่อยในเวลากลางคืน จนอาจฉี่รดที่นอน หรือนอนพลิกไปพลิกมาหลับไม่สบาย และด้วยการที่ต้องอ้าปาก เพื่อรับอากาศทางปาก จึงทำให้มีความผิดปกติ ของเพดานปากที่จะโก่งสูง จึงทำให้เด็กจะมีลักษณะฟันเหยินจนผิดรูป และกระทบต่อการพัฒนาการเรียนรู้ ที่อาจเรียนรู้ช้ากว่าเด็กคนอื่นอีกด้วยค่ะ
ลูกนอนกรน แบบไหนที่ถือว่าผิดปกติ
เมื่อลูกหายใจลำบาก นอนหายใจสะดุด เช่น นอนหงายแล้วเด็กนอนกรน เมื่อหายใจไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนท่าไปมา หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตได้ว่าเมื่อลูกนอนกรน เดี๋ยวนอนตะแคงขวา เดี๋ยวนอนตะแคงซ้าย นอนหลับไม่สบาย แปลว่าการนอนของลูกมีปัญหา ถ้ามีปัญหามากขึ้น อาจทำให้เด็กจะหยุดหายใจได้ สำหรับทารกที่นอนกรนอยู่แล้วเสียงเงียบไปเพราะหายใจไม่เข้า พอเงียบไปสักระยะหนึ่งจะเริ่มรู้สึกตัวตื่นแล้วหายใจเฮือกขึ้นมา ถ้าแบบนี้คือแปลว่าผิดปกติ แต่หากลูกนอนกรนปกติแบบที่ไม่มีอันตรายอะไร จะมีลักษณะคือกรนเบาๆ แต่หลับสบายดีตลอดทั้งคืนค่ะ
ลูกนอนกรน แบบไหนต้องไปพบแพทย์
- การนอนกรน นอนกระสับกระสาย หยุดหายใจขณะหลับ ตื่นนอนบ่อย
- ลูกมีอาการปวดหัวตอนเช้า ง่วงนอนตอนกลางวัน เหงื่อออกมาก และปัสสาวะรดที่นอนเป็นประจำ
- ลูกมีการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการล่าช้า ผลการเรียนตกต่ำลง
- ลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าว สมาธิสั้น ซน และปัญหาด้านพฤติกรรมอื่นๆ
หากลูกมีอาการดังที่กล่าวมา คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกพบกุมารแพทย์ เพื่อหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง
ลูกนอนกรน รักษาอย่างไร
1. ลูกนอนกรน รักษาด้วยการผ่าตัด
ผู้ป่วยเด็กส่วนมากมีต่อมทอนซิลและต่อมอะดินอยด์โตซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในเด็ก โดยแพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลและต่อมอะดินอยด์ออกการผ่าตัดนี้เรียกว่า “Adenotonsillectomy” สำหรับการผ่าตัดแบบอื่นอาจแนะนำในผู้ป่วยที่เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างศีรษะและใบหน้า
บางครั้งการผ่าตัดสามารถทำให้หยุดนอนกรนได้ แต่อาจไม่หายขาดจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นการตรวจการนอนหลับหลังการผ่าตัดอาจจำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นยังมีอยู่หรือไม่
2. ลูกนอนกรน รักษาด้วยเครื่องอัดอากาศ
การรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศชนิดแรงดันบวกชนิดต่อเนื่อง(Continuous Positive Airway Pressure: CPAP) เป็นหน้ากากอันเล็กครอบบริเวณจมูกในระหว่างการนอนหลับ เพื่อประคับประคองไม่ให้ทางเดินหายใจส่วนบนปิดในขณะหลับ การรักษาวิธีนี้จะมีประโยชน์ในผู้ป่วยเด็กที่รักษาโดยการผ่าตัดไม่ได้ หรือ เมื่อรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดแล้วไม่หาย
3. ลูกนอนกรน รักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ในเด็กที่มีโรคอ้วน แพทย์อาจแนะนำให้ลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ถึงแม้จะรักษาด้วยวิธีอื่นแต่การลดน้ำหนักในผู้ป่วยเด็กที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานควรเป็นเป้าหมายระยะยาวในการรักษา
อย่างไรก็ตาม ภาวะนอนกรนในเด็ก เป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยปละละเลย หากพบว่าลูกมีอาการนอนกรน ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที เพื่อพัฒนาการที่ดีของลูกน้อยค่ะ ด้วยรักและห่วงใย จากใจ Mama expert.
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
1. การนอนของเด็กแต่ละช่วงวัย 1-12 เดือนแรก
3. เด็กควรนอนท่าไหนถึงจะปลอดภัยที่สุด
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team
อ้างอิง
1. ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ.Bangkokhospital.ไขปริศนา เมื่อเด็กนอนกรน.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/BzQWMi .[ค้นคว้าเมื่อ 5 มีนาคม 2561]
2. ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์.การนอนกรนในเด็ก (Snoring children).เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/AUowgA .[ค้นคว้าเมื่อ 5 มีนาคม 2561]