ท่อน้ำตาอุดตันในทารก
ภาวะท่อน้ำตาอุดตันในทารก เป็นปัญหาที่พบบ่อยมากในทารกแรกเกิด ลักษณะอาการท่อน้ำตาอุดตันโดยทั่วไป เด็กจะมีตาแฉะ น้ำตาไหลมาก ทั้งๆที่ไม่ได้ร้องไห้ ซึ่งในตอนแรก อาการตาแฉะจะมีเพียงน้ำตาใสๆ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะพบว่าเด็กบางคนจะเริ่มมีขี้ตาเป็นสีเขียวมากขึ้น ซึ่งแสดงว่ามีเชื้อโรคเข้าไปและเกิดอาการติดเชื้อ ซึ่งอาการเหล่านี้คุณพ่อหรือคุณแม่จะสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ลูกน้อยอายุ 2-3 สัปดาห์ หลังคลอด ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก วันนี้ Mamaexpert จึงนำความรู้เรื่องท่อน้ำตาอุดตันในทารก มาฝาก ให้คุณพ่อคุณแม่ได้ศึกษา มาดูกันค่ะ
ท่อน้ำตาอุดตันในทารก อันตรายอย่างไร?
โดยส่วนใหญ่เด็กทารกที่มีท่อน้ำตาอุดตัน จะทำให้น้ำตาขังเอ่อเข้าไปในลูกตา และเอ่อออกมาบริเวณดวงตาของเด็ก โดยตามธรรมชาติแล้ว ภาวะท่อน้ำตาอุดตันมักจะมีอาการดีขึ้นเองได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วย แต่ก็มีกรณีที่เป็นแล้วไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง อาการที่เป็นอยู่ก็ไม่สามารถหายได้เอง เหล่านี้จะทำให้น้ำตาที่ขังอยู่ในตานานๆมีเชื้อโรคมาเจริญเติบโต เกิดการติดเชื้อบริเวณทางเดินน้ำตา ซึ่งอาจลุกลามต่อไป เข้าไปในเยื่อบุตา และกระจกตา ทำให้เกิดเยื่อบุตาอักเสบและกระจกตาอักเสบได้ค่ะ
ท่อน้ำตาอุดตันในทารก มีสาเหตุเกิดจากอะไร
ในเด็กทารกที่ท่อน้ำตาอุดตัน ส่วนใหญ่มักเกิดจากลิ้นเปิดปิดในท่อน้ำตาไม่เปิด โดยมีพังผืดบาง ๆ มาขวางอยู่ จึงทำให้น้ำตาเอ่อเข้าไปในลูกตาและเอ่อออกมาบริเวณดวงตาของเด็กในที่สุด (ปกติแล้วพังผืดนี้จะทะลุออกเองได้ในช่วงครบกำหนดคลอดหรือหลังจากนั้นไม่กี่เดือน) โดยธรรมชาติแล้ว ภาวะนี้ในเด็กส่วนใหญ่มักจะมีอาการดีขึ้นเอง แต่ในกรณีที่เป็นแล้วไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง อาการที่เป็นอยู่ก็ไม่สามารถหายได้เอง เมื่อน้ำตาที่ขังอยู่ในตานาน ๆ มีเชื้อโรคเข้ามาเจริญเติบโตก็จะเกิดการติดเชื้อ ซึ่งอาจลุกลามต่อไปและเข้าไปในเยื่อบุตาและกระจกตา ทำให้เกิดเยื่อบุตาอักเสบและกระจกตาอักเสบได้ นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการมีเยื่อเมือกและเซลล์ที่อยู่ในน้ำคร่ำขณะอยู่ในครรภ์มารดาเข้าไปอุดตันอยู่ภายในท่อน้ำตา หรือเกิดจากเยื่อตาขาวอักเสบเนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียในขณะคลอดทำให้มีขี้ตาลงไปอุดได้ด้วย
ท่อน้ำตาอุดตันในทารก มีอาการอย่างไร
ในเด็กทารกจะมีอาการน้ำตาคลอที่เบ้าตาหรือตาแฉะ ตามด้วยน้ำตาไหลมาก โดยที่เด็กไม่ได้ร้องไห้ (มักเป็นกับตาเพียงข้างเดียว หรืออาจพบเป็นทั้งสองข้างก็ได้) และบางครั้งอาจมีขี้ตาด้วยเป็นครั้งคราว ส่วนเยื่อตาขาวอาจจะแดงหรือไม่แดงก็ได้ ซึ่งในตอนแรกอาการตาแฉะจะเป็นเพียงน้ำตาใส ๆ แต่พอผ่านไปหลายวันเข้าบางรายจะมีการติดเชื้อเกิดขึ้น จึงทำให้มีขี้ตาเป็นมูก ๆ สีเขียว ๆ ออกปนมากับน้ำตา ทำให้มีขี้ตาเยอะเกรอะกรัง โดยเฉพาะในช่วงเวลาตื่นนอนจะพบหนังตาบนและล่างติดกันจากขี้ตาได้
โดยอาการของท่อน้ำตาอุดตันในทารก ที่สามารถสังเกตได้ คือ
- น้ำตาคลอที่เบ้าตา หรือตาแฉะ
- น้ำตาไหลตลอดเวลา
- มีอาการตาแดง
- มีขี้ตา หรือมีหนองบริเวณรอบตา
- เปลือกตาบวมแดง
- เยื่อตาขาวอาจจะแดงหรือไม่แดงก็ได้
ท่อน้ำตาอุดตันในทารก รักษาอย่างไร
ในเด็กทารก การรักษาอาจเริ่มต้นจากให้คุณพ่อคุณแม่นวดท่อน้ำตา ซึ่งโดยทั่วไป 80-90% จะหายเป็นปกติ หากยังไม่หายในช่วงขวบปีแรก แพทย์จะใช้วิธีการแยงท่อน้ำตา ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักหายขาด ในกรณีที่ยังไม่หายอาจใช้วิธีใส่ท่อซิลิโคนคาไว้ในท่อน้ำตา แต่ถ้ารักษาทุกวิธีแล้วยังไม่ได้ผล อาจต้องใช้การผ่าตัดในที่สุด
โดยทั่วไปจักษุแพทย์มักจะแนะนำให้คุณพ่อหรือคุณแม่เริ่มต้นด้วยการนวดบริเวณหัวตาซึ่งเป็นตำแหน่งของท่อน้ำตาที่อุดตันก่อน เพื่อเป็นการเพิ่มความดันภายในท่อน้ำตาซึ่งจะช่วยดันให้แผ่นพังผืดบาง ๆ ที่ขวางลิ้นเปิดปิดในท่อน้ำตาเปิดออก นอกจากการนวดแล้วแพทย์มักจะให้ยาป้ายตาปฏิชีวนะหรือยาหยอดตาปฏิชีวนะมาใช้ร่วมด้วยถ้ามีการอักเสบติดเชื้อเกิดขึ้น (สังเกตได้จากการมีขี้ตาเหลือง ๆ เขียว ๆ)
วิธีการนวดบริเวณหัวตา (Hydrostatic massage) ให้ใช้นิ้วชี้กดไปที่หัวตาให้แนบเข้าไประหว่างหัวตากับสันจมูก แล้ววนนิ้วลงน้ำหนักเบา ๆ เป็นวงกลมบริเวณหัวตา (ถุงน้ำตา) นั้น แล้วจึงรูดลงมาตามสันข้างจมูก (เหมือนการรีดน้ำในลูกโป่งยาว ๆ ทำให้เกิดแรงดันขึ้นภายในท่อน้ำตา ซึ่งจะช่วยให้พังผืดที่ปากทางออกของท่อน้ำตาทะลุออกไป) โดยให้นวดบ่อย ๆ วันละหลาย ๆ รอบ วันละ 10 ชุดขึ้นไป ชุดละ 30-40 รอบ (ควรตัดเล็บให้สั้นก่อนเสมอเพื่อป้องกันไม่ให้เล็บไปจิกผิวหนังของลูก)
หากลูกอายุมากกว่า 1 ปี การนวดหัวตาอาจไม่ได้ผล แพทย์อาจต้องใช้วิธีการแยงท่อน้ำตารักษา โดยต้องดมยาสลบด้วย ซึ่งวิสัญญีแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่า เด็กโตพอที่จะดมยาได้หรือไม่ เพื่อป้องกันอันตราย
และหากลูกอายุมากกว่า 3 ปี การแยงท่อน้ำตาอาจไม่หายจาก โรคท่อน้ำตาอุดตันในเด็ก แพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัดทางระบายน้ำตาใหม่ค่ะ
อย่างไรก็ตามการที่เด็กทารกมีภาวะน้ำตาไหลออกมาก นอกจากท่อน้ำตาอุดตันแล้ว ยังมีโรคที่ร้ายแรงกว่าคือ ต้อหินแต่กำเนิด ซึ่งนอกจากน้ำตาไหล เด็กจะมีภาวะตากลัวแสง เด็กจะหลับตาเวลาเจอแสง เป็นภาวะที่ร้ายแรง อาจนำไปสู่ตาบอดได้ ในขณะที่ท่อน้ำตาอุดตันไม่มีผลต่อสายตา จึงต้องนำเด็กพบจักษุแพทย์/หมอตา เพื่อตรวจให้แน่ใจว่า เป็นภาวะท่อน้ำตาอุดตัน ไม่ใช่โรคต้อหินค่ะ
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
1. นมแม่ รักษาตาอักเสบได้จริงหรือ?
2. เคล็ดลับกระตุ้นพัฒนาการของสมองและจอประสาท
3. ลูกตาแป๋วหรือลูกตาเหล่กันแน่?
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team
อ้างอิง
1. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์.นพ.ณัฐวุฒิ วะน้ำค้าง. “ท่อน้ำตาอุดตัน”.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/uQJRSY .[ค้นคว้า 20 ก.พ. 2018]
2. รศ.นพ. ทวีกิจ นิ่มวรพันธุ์.ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล หนังสือ.“รู้รอบโรคกับรามาคลินิก” ฉบับพิเศษครบรอบ 12 ปี ศูนย์การศึกษาต่อเนื่อง.[ค้นคว้า 20 ก.พ. 2018]