รกเกาะต่ำ
ทำอย่างไรดีเมื่อตรวจพบเป็นรกเกาะต่ำ เมื่อมีการตั้งท้องไข่ที่ถูกผสมแล้วจะมีการเจริญเติบโตและแบ่งตัวมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดจะมีส่วนหนึ่งที่แยกไปเป็นตัวลูกในท้อง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งกลายไปเป็นรก
รก (Pacenta) จะมีหน้าที่ในการนำสารอาหารจากคุณแม่มาเลี้ยงลูกในท้องต่อไป ดังนั้นจะเห็นได้ว่ารกก็เจริญมาจากไข่ที่ถูกผสมเช่นเดียวกับตัวลูก ขณะที่ลูกน้อยมีการเจริญเติบโตโดยลอยน้ำอยู่ในน้ำคร่ำ รกก็จะเจริญเติบโตโดยเกาะติดอยู่กับผนังมดลูกและค่อย ๆ ฝังลึกเข้าไปในผนังมดลูกมากขึ้นเรื่อย ๆ ตำแหน่งที่รกเกาะติดกับผนังมดลูกมักอยู่ที่บริเวณด้านบนของมดลูก โดยอาจค่อนไปทางด้านหลังเล็กน้อย ผลดังกล่าวทำให้ไม่มีอะไรมาขวางบริเวณปากมดลูก ซึ่งจะต้องเปิดออกให้ลูกคลอดออกมาเมื่อถึงเวลา ในคุณแม่บางรายแทนที่รกจะเกาะ ณ ตำแหน่งดังกล่าวกลังมาเกาะคลุมที่ส่วนล่างของมดลูกหรือคลุมที่ปากมดลูกบางรายก็คลุมปากมดลูกเพียงบางส่วน ในขณะที่บางรายก็คลุมปิดปากมดลูกจนเต็มเลยก็มี เราเรียกการเกาะของรกในลักษณะนี้ว่า รกเกาะต่ำ หรือ Placenta previa
รกเกาะต่ำ มีกี่แบบ 3ระดับความรุนแรง
รกเกาะต่ำแบ่งเป็น 3 ระดับตามความรุนแรง
- รกเกาะคลุมปากมดลูกทั้งหมด ซึ่งจัดว่ารุนแรงที่สุด เพราะรกจะปิดปากมดลูกทั้งหมดไม่ยอมให้ลูกคลอดออกมาได้เลย ต้องผ่าตัดคลอดเพียงอย่างเดียว
- รกเกาะคลุมปากมดลูกเป็นบางส่วน กรณีนี้ถ้าปล่อยให้เจ็บท้องคลอด ปากมดลูกที่ขยายมากขึ้นอาจดึงให้รกขยับสูงขึ้นและอาจไม่ขวางการคลอดของลูก แต่มักจะทำให้เลือดออกมากจึงนิยมผ่าตัดคลอดเช่นเดียวกันกับกรณีแรก
- รกเกาะบริเวณด้านล่างของมดลูกแต่ไม่คลุมปากมดลูก กรณีนี้สามารถปล่อยให้ลูกคลอดทางช่องคลอดได้ แต่ต้องระวังว่ามีโอกาสที่เลือดจะออกมากได้เช่นกัน แม้ว่าจะน้อยกว่า 2 กรณีแรกก็ตาม
รกเกาะต่ำเกิดขึ้นได้อย่างไร
สาเหตุที่แน่ชัดยังไม่ทราบ แต่พบว่ามักจะเกิดในคุณแม่ที่มีลักษณะบางประการเช่น
- คุณแม่ที่เคยคลอดบุตรมาหลายครั้ง การที่คุณแม่เคยคลอดหลายครั้ง แต่ละครั้งก็ต้องมีการสร้างรก รกที่สร้างขึ้นมักจะย้ายที่เกาะไปเรื่อย ๆ เมื่อข้างบนของมดลูกเคยเกาะมาแล้วทำให้ตำแหน่งดังกล่าวไม่เหมาะที่จะเกาะซ้ำเพราะจะมีแผลเป็นและมีเลือดมาเลี้ยงไม่เพียงพอจึงย้ายลงมาเกาะบริเวณปากมดลูกแทน
- เคยขูดมดลูก เคยผ่าตัดที่มดลูก หรือเคยมีมดลูกอักเสบ มดลูกที่เคยถูกขูด ถูกผ่าตัดหรือเคยมีการอักเสบ ผนังด้านในบริเวณที่ถูกขูด ถูกผ่าตัด หรือเคยอักเสบมีแผลเป็น มีเลือดมาเลี้ยงน้อยลง ไม่เหมาะที่รกจะไปเกาะเพราะทำให้ได้รับเลือดไปเลี้ยงลูกน้อยลง รกจึงเลื่อนไปเกาะข้างล่างที่บริเวณปากมดลูกแทน
- คุณแม่อายุมาก คุณแม่กลุ่มนี้อาจจะมีมดลูกที่ผนังมดลูกมีคุณภาพไม่ดี เหมือนรถเก่าเครื่องไม่ดี รกจึงจำเป็นต้องหาที่เกาะใหม่ที่มีเลือดมาเลี้ยงมากกว่า จึงมาเกาะที่บริเวณปากมดลูกแทน
- คุณแม่ที่สูบบุหรี่จัด มีโอกาสตั้งท้องแล้วมีรกเกาะต่ำมากกว่าคุณแม่ที่ไม่สูบบุหรี่ เชื่อว่าการสูบบุหรี่จัดทำให้คุณแม่ส่งสารอาหารและแก๊สออกซิเจนไปเลี้ยงลูกได้น้อยลง รกจึงต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อรับแก๊สออกซิเจนให้มากขึ้นโดยการขยายขนาดตัวเองทำให้มีบางส่วนขยายมาคลุมที่ปากมดลูกเกิดเป็นรกเกาะต่ำได้
- คุณแม่ตั้งท้องแฝดหรือตั้งท้องเด็กบวมน้ำ การตั้งท้องทั้ง 2 ประเภทนี้จะทำให้รกมีขนาดใหญ่เนื่องจากต้องทำหน้าที่นำอาหารมาเลี้ยงลูกมากกว่าปกติ การขยายใหญ่ของรกขึงทำให้เกิดรกเกาะต่ำได้เช่นเดียวกับคุณแม่ที่สูบบุหรี่จัด
อย่างไรก็ตาม ในคุณที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดๆ ดังที่กล่าวข้างต้นเลยก็ยังสามารถมีรกเกาะต่ำได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น คุณแม่จึงยังควรที่ต้องสนใจตัวเองเสมอ ถ้ามีเลือดออกทางช่องคลอดควรรีบไปพบแพทย์ทันที
รกเกาะต่ำ มีอาการอย่างไร
เมื่อมีรกเกาะต่ำ ในระยะแรกของการตั้งท้องคุณแม่จะไม่มีอาการผิดปกติอะไร จนเมื่อการตั้งท้องดำเนินไปจนใกล้คลอดช่วงเวลาดังกล่าวมดลูกจะมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ปากมดลูกและส่วนล่างของมดลูกจะเริ่มมีการบางตัวลงและยืดขยายมากขึ้นทำให้รกที่เคยเกาะแน่นที่บริเวณดังกล่าวมีรอยปริเกิดขึ้นได้จากการยืดขยายของส่วนล่างของมดลูกและปากมดลูกคล้ายกับรอยร้าวเล็กน้อยของผนังตึก ผลดังกล่าวทำให้มีเลือดออกที่บริเวณที่รกเกาะแล้วไหลผ่านปากมดลูกลงมาในช่องคลอด เลือดที่ออกมักเป็นเลือดสด โดยมีลักษณะพิเศษที่คุณหมอสามารถวินิจฉัยภาวะนี้ได้ง่ายขึ้นคือ เป็นเลือดที่ออกทางช่องคลอดโดยไม่มีอาการเจ็บท้องร่วมด้วย (painless vaginal bleeding) ส่วนมากเมื่อมีเลือดออกมา ในครั้งแรกมักจะไม่มากนักและมักจะหยุดไปได้เอง แต่ถ้าเป็นเลือดที่ออกครั้งที่ 2 มักจะออกมาก รวดเร็วและรุนแรงจนทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ง่าย เหมือนตึกที่มีรอยร้าวนำมาก่อนแล้วโอกาสที่จะร้าวมากขึ้นและพังถล่มลงมาย่อมง่ายขึ้นด้วย
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็น รกเกาะต่ำ
คุณแม่ที่ไปฝากครรภ์ตามนัด จะสามารถตรวจพบได้เร็ว แพทย์จะตรวจจากการทำอัลตราซาวด์ สามารถทราบผลทันที
รกเกาะต่ำดูแลรักษาอย่างไร
สิ่งสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาในการดูแลรักษาคุณแม่ที่มีรกเกาะต่ำคือ ขณะที่ตรวจพบภาวะ รกเกาะต่ำ นั้น คุณแม่ตั้งท้องครบกำหนดแล้วหรือไม่ ถ้าครบกำหนดแล้วควรพิจารณาผ่าตัดคลอดเลยโดยไม่ต้องรอให้เจ็บท้องเพราะถ้ารอเช่นนั้นอาจทำให้เสียเลือดมากได้แต่ถ้าตรวจพบขณะตั้งท้องยังไม่ครบกำหนด คุณหมอมักจะพิจารณาดูว่ามีเลือดออกทางช่องคลอดมากน้อยเพียงใด คุณแม่บางรายคุณหมออาจตรวจพบรกเกาะต่ำโดยบังเอิญขณะตรวจด้วยอัลตราซาวนด์เพื่อดูลูกในท้องด้วยเหตุผลอื่นและรกที่เกาะต่ำนั้นก็ไม่ทำให้เลือดออกแต่ประการใด กรณีเช่นนี้สามารถรอได้จนกว่าจะตั้งท้องครบกำหนด
ในคุณแม่บางรายที่ตั้งท้องยังไม่ครบกำหนดร่วมกับมีเลือดออกทางช่องคลอดไม่มากนักก็สามารถรอได้เช่นกัน เหตุผลสำคัญในการรอก็คือ เพื่อให้ลูกในท้องมีการเจริญเติบโตต่อไปจนครบกำหนดจะได้ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะระบบการหายใจ ซึ่งพบว่าถ้าให้คลอดก่อนครบกำหนด ลูกในท้องอาจเสียชีวิตได้ เนื่องจากปอดยังทำงานไม่ดีพอ ในระหว่างรอนี้คุณหมอจะแนะนำให้คุณแม่นอนพักมาก ๆ งดเว้นการทำงานหนักและการมีเพศสัมพันธ์ โดยหวังว่าจะทำให้รกได้รับการกระทบกระเทือนน้อยที่สุด เลือดจะได้หยุดและไม่ไหลออกต่อ ถ้าภายหลังการพักผ่อนแล้วพบว่าเลือดหยุดไหล คุณหมอจะให้ฝากท้องไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะตั้งท้องครบกำหนดแต่ต้องนัดมาดูบ่อย ๆ ในคุณแม่บางรายที่คุณหมอไม่แน่ใจว่าถ้าให้กลับบ้านแล้วจะพักผ่อนได้พอเพียง คุณหมอก็อาจให้นอนในโรงพยาบาลตั้งแต่วินิจฉัยได้ว่าเป็นรกเกาะต่ำ และรอจนตั้งท้องครบกำหนดแล้วรีบนำไปผ่าตัดคลอดก่อนที่จะเจ็บท้องคลอด เพราะถ้ารอให้เจ็บท้องเลือดจะออกมากจนเป็นอันตรายได้ คุณแม่บางรายที่ตั้งท้องยังไม่ครบกำหนด และคุณหมออยากรอให้ลูกในท้องโตขึ้นอีกจนครบกำหนด แต่เผอิญมีเลือดออกมากและไม่มีทีท่าว่าจะหยุด หรือเลือดเคยหยุดไปแล้วกลับไหลออกมาใหม่ก็จะต้องผ่าตัดคลอดโดยเร็ว แม้ว่าลูกจะยังโตไม่มากพอก็ตาม เพราะถ้าปล่อยท้องไว้อาจเป็นอันตรายต่อตัวคุณแม่เองคืออาจจะเสียเลือดมากจนช็อกได้และในท่ีสุดลูกในครรภ์ก็จะเสียชีวิตตามมา
บทความแนะนำเพิ่มเติม