เปิดเพลงให้ทารกในครรภ์ฟัง
เปิดเพลงให้ทารกในครรภ์ฟัง จากผลการวิจัยของนักวิจัย Dr. Leon Thurman ชาวสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ให้คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ได้ฟังเพลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อคลอดทารกออกมา ทารกจะมีพัฒนาการด้านร่างกายและไอคิวสูงกว่าทารกที่ไม่ได้ฟังเพลง แต่การวิจัยของ Dr. Leon Thurman นี้ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นเพลงคลาสสิคเท่านั้นนะคะ และยังมีผลการวิจัยของ Dr. Thomas R. Verny ซึ่งเป็นจิตแพทย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประเทศสหรัฐอเมริกา และยังเป็นประธานสมาคมเกี่ยวกับการเสริมสร้างพัฒนาการเด็กในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย ท่านได้ทดลองให้คุณแม่ได้ร้องเพลงกล่อมเด็กขณะที่ยังตั้งครรภ์อยู่ทุก ๆ วัน เมื่อคลอดออกมาหากร้องไห้หรืองอแง แต่เมื่อทารกได้ยินเสียงเพลงกล่อมเด็กของแม่ที่แม่เคยร้องให้ฟังตั้งแต่สมัยตั้งครรภ์ ทารกจะนิ่งสงบลงและสนใจในเสียงเพลงกล่อมเด็กอย่างน่าอัศจรรย์
เปิดเพลงให้ทารกในครรภ์ฟัง ได้เฉพาะเพลงคลาสสิค จริงหรือ?
ความจริงแล้วไม่จำเป็นต้องเป็นเพลงคลาสสิคเท่านั้นหรอกนะคะทารกจึงจะมีพัฒนาการที่ดี เพราะผลการวิจัยไม่ได้ระบุไว้ แต่ระบุว่าเสียงที่มีผลก็คือ เสียงที่มีจังหวะทำนองเบา ๆ เช่น เพลงบรรเลง แต่ที่เขาเลือกใช้เพลงคลาสสิคก็เพราะว่าเขาไม่มีเพลงบรรเลงแบบอื่น ในขณะที่ถ้าเป็นประเทศไทยเราก็สามารถใช้เพลงไทยเดิมที่มีจังหวะช้า ๆ เบา ๆ ทดแทนก็ได้ค่ะ อย่าไปเชื่อคำโฆษณาที่ว่าต้องเป็นเพลงคลาสสิคของคนนี้คนนั้นเท่านั้นนะคะ เพราะสิ่งสำคัญคือจังหวะและทำนองที่เบา ๆ เพื่อกระตุ้นพัฒนาการของเด็กค่ะ หรือหากคุณแม่จะใช้วิธีร้องเพลงกล่อมเด็กให้ลูกฟังแทนก็ได้ค่ะ
เปิดเพลงให้ทารกในครรภ์ฟัง เวลาไหนเหมาะสมที่สุด
ช่วงตั้งแต่อายุครรภ์ 5 เดือนเป็นต้นไปและควรจะเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่ได้พักสบาย ๆ ไม่เร่งรีบอะไร อาจจะเป็นช่วงเย็น ๆ หลังอาหารเย็นก็ได้ หรือดูจากอาการของลูกว่าลูกตื่นตัวพร้อมจะรับฟังดนตรีหรือไม่ โดยสังเกตได้จากการดิ้นของลูก หากลูกดิ้นแสดงว่าลูกยังไม่หลับค่ะ เปิดเพลงหรือร้องเพลงกล่อมเด็กให้ลูกในท้องฟังครั้งละประมาณ 10-15 นาทีก็พอแล้วค่ะ ไม่จำเป็นต้องเปิดทั้งวันทั้งคืนนะคะ และควรจะเปิดหรือร้องเพลงเดิม ๆ เพื่อให้ลูกได้จดจำทำนองค่ะ
การติดตามพัฒนาการและเสริมสร้างพัฒนาการของทารกในครรภ์ เป็นเรื่องที่คุณแม่ต้องใส่ใจอยู่เสมอ และควรออกกำลังกายควบคู่กับการรับประทานอาหารโภชนาการอย่างเหมาะสม เพื่อสุขภาพครรภ์ที่ดีค่ะ
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
1. อาหารบำรุงครรภ์ แบ่งตามอายุครรภ์ 1-40 สัปดาห์
2. การแบ่งไตรมาสของการตั้งครรภ์ และข้อควรระวังของแม่ท้อง
3. เทคนิคบำรุงครรภ์ กินอย่างไรให้น้ำหนักไปลงที่ลูก
เรียบเรียงโดย : พว.นฤมล เปรมปราโมทย์
ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต