ครั้งแรกที่คุณแม่มาฝากครรภ์
ถ้าคุณแม่ไม่เคยตรวจปัสสาวะทดสอบการตั้งครรภ์ สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือการตรวจยืนยันการตั้งครรภ์โดยการเก็บปัสสาวะทดสอบการตั้งครรภ์หลังจากนั้น แพทย์ผู้ดูแลจะซักถามประวัติ โดยประวัติที่สำคัญคือวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย ซึ่งนำมาใช้คำนวณหาอายุครรภ์ได้ ในกรณีที่คุณแม่จำวันที่ไม่ได้แน่นอน หรือช่วงก่อนตั้งครรภ์ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ แพทย์สามารถคำนวณอายุครรภ์ได้จากวิธีอื่นๆคำถามต่อมาที่แพทย์จะต้องถาม ก็คือ โรคประจำตัว ประวัติการผ่าตัดในอดีต ประวัติการแพ้ยา ประวัติโรคต่างๆของคนในครอบครัว ความสม่ำเสมอของประจำเดือนก่อนการตั้งครรภ์ รวมถึงชนิดของการคุมกำเนิดก่อนการตั้งครรภ์ สำหรับคุณแม่ที่เคยตั้งครรภ์มาก่อน แพทย์จะถามถึงประวัติในการตั้งครรภ์ครั้งก่อนๆอีกคำถามหนึ่งที่แพทย์จะถามคุณแม่ ก็คือเคยฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักหรือไม่ ในกรณีที่ไม่เคย หรือจำไม่ได้ หรือ เคยฉีดแต่นานมาแล้วคุณแจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก ทั้งหมดสามเข็ม คุณแม่ไม่ต้องตกใจ แพทย์จะฉีดวัคซีนให้ทีละเข็ม ไม่ใช่สามเข็มพร้อมกันแพทย์ผู้ดูแลจะทำการตรวจร่างกายคุณแม่โดยละเอียด รวมถึงการตรวจหน้าท้องเพื่อดูขนาดมดลูกที่โตขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ และการฟังเสียงหัวใจของลูกน้อยในครรภ์เมื่ออายุครรภ์เกินห้าเดือนสำหรับคุณแม่ทุกท่านที่มาฝากครรภ์ คุณแม่จะได้รับการเจาะเลือดเพื่อตรวจดูหมู่เลือด ภาวะการติดเชื้อซิฟิลิส เอชไอวีและพาหะไวรัสตับอักเสบบี รวมถึงภาวะซีดและพาหะธาลัสซีเมียบางชนิดแพทย์จะให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวขณะตั้งครรภ์ รวมถึงภาวะต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าคุณแม่มีข้อสงสัย คุณแม่สามารถซักถามเพิ่มเติมได้การฝากครรภ์ครั้งแรกอาจใช้เวลานานเล็กน้อย ในกรณีที่คุณแม่ไม่มีปัญหาหรือความผิดปกติใดๆ แพทย์จะนัดมาฝากครรภ์ครั้งถัดไปอีกประมาณหนึ่งเดือนสำหรับโรงพยาบาลบางแห่ง ครั้งแรกที่คุณแม่มาฝากครรภ์ คุณแม่อาจจะยังไม่ได้พบแพทย์สำหรับโรงพยาบาลเอกชนจะได้พบแพทย์ตั้งแต่ครั้งแรก แต่คุณพยาบาลจะทำการเจาะเลือดตรวจเบื้องต้นก่อน แล้วจึงนัดคุณแม่มาฟังผลเลือดครั้งต่อไปพร้อมกับพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียด ก่อนกลับบ้าน คุณแม่จะได้รับสมุดฝากครรภ์ซึ่งจะมีรายละเอียดของการฝากครรภ์ คุณแม่ควรจะพกสมุดฝากครรภ์นี้ติดตัวไว้ตลอดการตั้งครรภ์ และนำมาทุกครั้งที่มาฝากครรภ์
การฝากครรภ์ครั้งถัดไป
ทุกครั้งที่มาฝากครรภ์ คุณแม่จะได้รับการวัดความดันโลหิต ชีพจร ชั่งน้ำหนักตัวและตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจหาโปรตีนและน้ำตาลในปัสสาวะหลังจากนั้น แพทย์จะทำการตรวจครรภ์ และฟังเสียงหัวใจลูกน้อยในครรภ์ (ถ้าอายุครรภ์เกินห้าเดือน) แพทย์จะแจ้งผลเลือดที่ทำการตรวจไปในครั้งก่อน ในกรณีที่พบว่ามีความผิดปกติ แพทย์จะให้คำแนะนำและแนวทางในการรักษา แต่สำหรับคุณแม่ที่ปกติดี แพทย์จะนัดมาฝากครรภ์อีกเป็นระยะๆ ต่อไปมีคุณแม่จำนวนหนึ่งที่มีข้อสงสัยว่าจำเป็นต้องทานยาบำรุงหรือไม่ และต้องทานในปริมาณเท่าไร คำตอบก็คือ ยาบำรุงที่สำคัญสำหรับคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์คือยาบำรุงเลือดโดยทั่วไป แพทย์จะเริ่มให้ทานยาบำรุงเลือดเมื่ออายุครรภ์เกินสี่ถึงห้าเดือนขึ้นไป ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่บางท่านอาจจะมีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้อาเจียนมาก ซึ่งการทานยาบำรุงเลือดในช่วงแรกนี้ อาจกระตุ้นให้อาการแพ้ท้องนั้นเป็นมากขึ้นได้ ส่วนปริมาณของยาบำรุงเลือดที่คุณแม่จะต้องทานในแต่ละวันนั้น ขึ้นอยู่กับว่าคุณแม่มีภาวะซีดหรือไม่สำหรับคุณแม่ที่ต้องการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า การตรวจอุลตร้าซาวน์ ถ้าคุณแม่ไม่มีความเสี่ยงหรือโรคประจำตัวใดๆ แต่ต้องการตรวจอุลตร้าซาวน์ ควรตรวจในช่วงอายุครรภ์ประมาณห้าเดือน แต่สิ่งหนึ่งที่คุณแม่จะต้องทราบก่อนการตรวจ ก็คือปัจจุบันไม่มีวิธีการตรวจใดๆที่สามารถรับประกันได้ว่าลูกน้อยในครรภ์จะปกติ สมบูรณ์แข็งแรงแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าพบความผิดปกติจากการตรวจอุลตร้าซาวน์ แพทย์จะให้คำแนะนำ แนวทางการรักษาต่อไป และในบางกรณี แพทย์จะนัดคุณแม่มาเพื่อตรวจอุลตร้าซาวน์อีกเป็นระยะๆโดยทั่วไป คุณแม่จะเริ่มรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์ เมื่ออายุครรภ์เกินห้าเดือนไปแล้ว คุณแม่ควรจะสังเกตลักษณะการดิ้นของลูกน้อย ในกรณีที่รู้สึกว่า ลูกน้อยดิ้นน้อยลง หรือไม่ดิ้นเลย คุณแม่จะต้องรีบมาพบแพทย์ทันทีเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น คุณแม่จะต้องมาฝากครรภ์ถี่มากขึ้น เนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้ แพทย์จะทำการเจาะเลือดคุณแม่ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เมื่ออายุครรภ์ประมาณเจ็ดถึงแปดเดือนเพื่อดูภาวะซีดและภาวะการติดเชื้อซิฟิลิสและเอชไอวีอีกครั้งหนึ่งในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ แพทย์จะประเมินดูว่าลูกน้อยในครรภ์อยู่ในท่าใด ซึ่งโดยปกติแล้วลูกน้อยจะนอนในท่าที่ศีรษะอยู่ทางด้านล่างของท้องคุณแม่ และเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ศีรษะของลูกน้อยจะเคลื่อนลงไปในช่องเชิงกรานของคุณแม่ ทำให้คุณแม่บางท่านอาจจะมีอาการปวดหน่วงๆท้องน้อยหรือปวดหลังได้สำหรับคุณแม่ที่เคยผ่าตัดคลอดบุตรในครรภ์ก่อน แพทย์จะนัดวันผ่าตัดคลอดเมื่ออายุครรภ์ครบกำหนด ยกเว้นว่าคุณแม่มีอาการเจ็บท้องหรือน้ำเดินมาก่อน ส่วนคุณแม่ที่ไม่เคยคลอดบุตรมาก่อนหรือเคยคลอดบุตรทางช่องคลอด วิธีการคลอดที่ดีที่สุดคือการคลอดทางช่องคลอดยกเว้นว่ามีข้อห้ามของการคลอดทางช่องคลอด ซึ่งแพทย์จะต้องประเมินในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์