พัฒนาการเด็ก 7 เดือน และวิธีกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสม

13 February 2018
57503 view

พัฒนาการเด็ก 7 เดือน

เด็กอายุ 7 เดือน พัฒนาการเด่น   สำรวจโลกใกล้ตัว

  • จากช่วง 6 เดือนแรก ที่ดูเหมือนจะเพิ่งผ่านไป และดูเหมือนลูกจะเพิ่งทำอะไร ได้ไม่เท่าไร พฤติกรรมของลูกกำลังจะเปลี่ยนไปอีก เขาจะเริ่มมีบทบาท และแสดงออกมากขึ้น ในตอนนี้ลูกจะนั่งเองได้นานขึ้น และกำลังฝึก ที่จะทรงตัวลุกขึ้น ขึ้นมานั่งเองโดยใช้มือยัน และต่อมา จะนั่งได้ดีพร้อมกับการใช้มือทำสิ่งต่างๆ โดยไม่ต้องคอยเอามือยันตัวอีกต่อไป

  • เมื่ออายุครบ 7 เดือนเต็ม เด็กบางคน จะเริ่มคลาน หรือคืบไปมาได้ดีขึ้น ช่วงนี้จะมีอุบัติเหตุตกเตียง ตกเก้าอี้ได้ ถ้าคุณไม่ได้ระมัดระวังพอ เด็กแต่ละคน อาจมีท่าทางในการคลานหรือคืบต่างกัน แล้วแต่ความถนัด และในบางราย อาจจะชอบให้คนอุ้มมากกว่า และเลือกที่จะไปเกาะยืน และเริ่มหัดเกาะเดิน ในช่วงที่โตกว่านี้

  • ลูกควรได้รับโอกาสให้ได้สำรวจสิ่งต่างๆ และได้เรียนรู้โดยตนเองบ้าง เด็กอาจจะดูพะวักพะวงว่า เขาอยากจะออกนอกห้อง ไปดูสิ่งอื่นๆ ที่น่าตื่นเต้น หรือควรจะคอยดูคุณแม่ ที่อยู่ในห้องดี ถ้ามีเสียง หรือการเคลื่อนไหวที่น่าตื่นเต้นมาล่อ เขาก็จะพยายามไปยังที่นั้นๆ แต่พอนึกขึ้นได้ ก็จะรีบหันกลับมาหาคุณแม่อีก เพื่อที่จะให้แน่ใจว่า คุณยังอยู่ ไม่ได้หนีหายไปไหน (Separation anxiety) ตอนนี้ ถ้าคุณจะเดินไปมาในบ้าน ในขณะที่เขาอยู่ใกล้ๆ ควรพยายามส่งเสียง ให้เขารู้ว่าคุณยังอยู่ ไม่ได้หายไปไหน เพราะเขาจะคอยเช็คคุณอยู่บ่อยๆ จะได้สบายใจ

  • ลูกจะเริ่มใช้มือได้ดีขึ้น จะเริ่มเล่น จับปูดำ ขยำปูนาและ นอย น้อย นอยได้ หรือเมื่อคุณทำท่าขอของจากเขา โดยการแบมือขอ เขาจะมอง และทำท่าให้ของแก่คุณ แต่ไม่ยอมปล่อยของออกจากมือ และดึงของกลับคืนไปจากคุณ คุณจะเริ่มรู้ว่า ลูกถนัดมือซ้ายหรือขวา ในช่วงอายุต่อจากนี้ พบว่า เด็กประมาณ 4 ใน 5 คน จะชอบใช้มือขวา ( 80% ถนัดขวา) เขาจะชอบใช้มือหยิบของ และส่งผ่านไปยังอีกมือหนึ่ง (transfer) กลับไป กลับมา เขาจะสาละวน กับการเคาะของ, ทุบ, เขย่า, ตี, บีบโยน, กลิ้ง ฯลฯ ของที่อยู่ในมือ เพื่อสังเกตดูปฏิกิริยาของสิ่งต่างๆ

  • ลูกจะยังชอบเล่นเสียงต่างๆ ยกเว้นแต่ ตอนที่กำลังหมกมุ่นทำอะไรเองจนเพลินไป ก็จะเงียบไปชั่วครู่ คุณจะพอรู้ได้ว่า ลูกกำลังทำเสียงแสดงความสุข, ตื่นเต้น, กลัว,ไม่ชอบ หรือโกรธอยู่ เขาจะชอบเลียนเสียงพูดของคุณ และจะเริ่มเข้าใจคำว่า ไม่ที่คุณพูดกับเขา จากการฟังน้ำเสียงที่คุณพูดออกมา โดยการหยุด หรือทำท่าแบะจะร้องไห้ เมื่อได้ยินคุณพูดว่า ไม่

  • ลูกจะเริ่มเข้าใจคอนเซปต์ ของการคงอยู่ของของ หรือคนได้ดีขึ้น แม้ว่าเขาจะมองไม่เห็นมันอยู่ต่อหน้า เขาจะเริ่มมองหาของ ที่เขาทำตกลงบนพื้น และกลิ้งหายไปจากสายตาของเขา และจะแสดงท่าดีใจ หรือจำได้เมื่อเห็นแม้เพียงส่วนของของเล่น ที่เขาชอบซ่อนอยู่ใต้ผ้า และมีเพียงบางส่วนของของชิ้นนั้น ยื่นโผล่ออกมาให้เห็น

  • ลูกจะเริ่มเข้าใจคอนเซปต์ง่ายๆ ของความสัมพันธ์ระหว่างการทำสิ่งหนึ่ง แล้วเกิดอีกสิ่งหนึ่งขึ้นมา เช่น เขาจะสามารถเห็นของเล่น ที่ซ่อนอยู่ใต้ผ้าได้ โดยการดึงผ้าออก เขาก็จะเห็นของเล่นนั้น และสามารถคลานเข้าไป หาของเล่นได้

  • ซึ่งคอนเซปต์ 2-3 อย่าง ที่กล่าวถึงนี้ เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับลูก ที่จะเริ่มเข้าใจเรื่องต่างๆ ต่อไป คุณสามารถเล่น จ๊ะเอ๋หรือ เล่นซ่อนของใต้ผ้าให้เขาลองหาดู ซึ่งจะเป็นสิ่งที่สนุกมากสำหรับเขา

  • ช่วงนี้คุณยังต้องระวัง เรื่องอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ง่าย เช่น ในการอาบน้ำ แม้ลูกจะนั่งได้เองแล้ว และชอบนั่งเล่นน้ำในอ่าง เวลาอาบน้ำให้ ก็อย่าได้ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำเอง เพราะแม้น้ำในอ่างจะไม่ลึกนัก แต่ก็อาจเกิดการจมน้ำ สำลักน้ำได้เสมอ และเด็กเองจะยังช่วยเหลือตนเองไม่ได้เลย เมื่อเกิดอันตรายขึ้น

  • เรื่องการนอนก็จะดีขึ้น จะหลับได้นานขึ้นในเวลากลางคืน และการทานอาหารก็จะดีขึ้น แต่อยากให้คุณพ่อคุณแม่ พยายามเข้าใจลูกด้วยว่า เขาจะยังไม่มีคอนเซปต์ ของการทานอาหารให้เรียบร้อย ตามเวลา หรือทานจนหมดชาม อย่างที่ผู้ใหญ่ต้องการ ลูกยังจะทานเมื่อเขาหิว แม้ว่าจะเริ่มดูเป็นมื้อได้มากขึ้น จึงควรให้โอกาส และเวลาที่ลูกจะได้ ทานอาหารอย่างมีความสุข ( Enjoy eating) จะดีกว่าการพยายามยัดเยียด หรือกะเกณฑ์ ให้เขาต้องทานอาหารได้มาก เท่านั้นเท่านี้ ให้หมดในเวลาที่กำหนดโดยผู้ใหญ่ เพราะถ้าลูก เกิดเกลียดหรือกลัวการทานอาหารขึ้นแล้ว เขาจะเริ่มอมข้าว หรือแหวะออกมา เพื่อต่อต้านการป้อน และบางครั้ง ถึงขั้นร้องไห้เมื่อเห็นคุณ หรือพี่เลี้ยงถือชามข้าวมาป้อนเขา ฉะนั้น ไม่อยากให้คุณซีเรียส กับเรื่องการทานอาหารของลูกมากนัก

  • โดยทั่วไปแล้ว เด็กที่แข็งแรง อารมณ์ดี เล่นได้สนุก จะสามารถทานอาหารได้มากเอง แต่ก็ไม่ใช่ว่า จะต้องทานได้ดีทุกมื้อ ทุกวันไปตลอด และถ้ายิ่งเวลาไม่สบาย ก็อาจจะทานได้น้อยลงบ้างเป็นธรรมดา

  • เด็กบางคนเมื่อมีฟันขึ้น (teething) โผล่พ้นเหงือก (ฟันหน้าซี่ล่าง) อาจจะงอแง หรือมีน้ำลายไหลมากขึ้น เด็กบางคน อาจมีการเจ็บป่วยบ้าง เช่น ท้องเสีย หรือมีไข้ ที่ทางคนไทยเชื่อว่าเป็นจากการยืดตัว ขออย่าได้เข้าใจว่า การเจ็บป่วยนี้นั้นเป็นจากการขึ้นของฟัน และไม่ได้เอาใจใส่ดูแลใกล้ชิด เพราะที่จริงแล้ว ถ้าลูกมีท้องเสียรุนแรง หรือไข้สูงนั้น มักจะเป็นจาก การติดเชื้อในร่างกาย ไม่ได้เกิดจากการขึ้นโผล่พ้นเหงือกของฟัน เพราะการเจริญเติบโตของฟันนั้น ก็เหมือนกับการงอกยาวของเล็บ และเส้นผม หรือการเติบโตของกระดูกส่วนอื่นๆ ในร่างกาย ซึ่งเป็นไปตามเวลา และอายุของเขา คุณควรนึกถึงปัญหาการติดเชื้อ ซึ่งควรพบแพทย์ เพื่อการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง จะปลอดภัยกว่า

  • ช่วงนี้ลูกจะทำเสียงซ้ำๆ เช่น ปาปา” “มามา” “ดาดาแต่เขาอาจจะยังไม่ได้หมายถึง แม่ หรือ พ่ออย่างที่คุณดีใจ ยังต้องการเวลาอีกหลายสัปดาห์ ก่อนที่ลูกจะเข้าใจความหมายของ คำว่า แม่อย่างแท้จริง และคนๆ นั้นก็คือ คุณคนเดียวเท่านั้น

นอกจากสังเกตพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูก อีกหนึ่งสิ่งที่คุณแม่ไม่ควรมองข้ามก็คือเราการขับถ่ายของลูกนะคะ เพราะการขับถ่าย ส่งผลต่ออารมณ์และพัฒนาการของลูก เช็กได้ทุกวัน แค่ 3 ขั้นตอนง่ายๆ มาเช็กกันเลย  

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. เทคนิด 8 ข้อในการเลี้ยงลูกให้มีพัฒนาการสมวัย

2. เช็คพัฒนาการเด็กแรกเกิด - 24 เดือน 

3. พัฒนาการลูกน้อยสร้างได้ง่ายๆ แต่ได้คุณภาพ

เรียบเรียงโดย  : Mamaexpert Editorial Team