การตรวจการได้ยินของทารก
การตรวจการได้ยินของทารกคัดกรองได้ก่อนออกจากโรงพยาบาล ส่วนใหญ่จะอยู่ในแพ็คเก็จคลอดโรงพยาบาลเอกชน สมัยก่อน แพทย์จะตรวจการได้ยินเฉพาะ กรณีรายที่มีความเสี่ยงเท่านั้น เนื่องจากต้องมีค่าใช้จ่ายแต่ในปัจจุบันพบว่า ในโรงพยาบาลชั้นนำของเมืองไทย ตรวจให้กับเด็กแรกเกิดทุกรายแม้ไม่มีภาวะเสี่ยง
การตรวจการได้ยินของทารกจำเป็นต้องตรวจทุกคนหรือไม่?
การตรวจการได้ยินของทารก จะมีการตรวจในเฉพาะเด็กทารกที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่
- ประวัติครอบครัวที่มีการได้ยินบกพร่องแต่กำเนิด
- การติดเชื้อตั้งแต่ในครรภ์
- มีความผิดปกติของศีรษะและใบหน้าโดนเฉพาะการผิดรูปของใบหูและช่องหู
- กลุ่มอาการผิดปกติแต่กำเนิดที่มีการได้ยินบกพร่องร่วมด้วย
- มีความเจ็บป่วยต้องได้รับการรักษาในห้องบริบาลทารกแรกเกิดทารกแรกเกิด (NICU) เกินกว่า 48 ชม.
อย่างไรก็ดีแม้ทารกจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็อาจพบภาวะการได้ยินบกพร่องได้ เพราะฉะนั้นเด็กทารกทุกราย ควรได้รับการตรวจสุขภาพรวมถึงการได้ยิน ก่อนออกจากโรงพยาบาล
การตรวจการได้ยินของทารกมีขั้นตอนอย่างไร
การตรวจการได้ยินของทารก จะเริ่มจากการใช้เครื่องตรวจการได้ยินเฉพาะเด็กแรกเกิด โดยตรวจในเด็กอายุ 2 วัน - 6 เดือน เครื่องมือนี้จะเหมาะสำหรับการตรวจทารกในวัยนี้ จะตรวจในห้องเงียบทารกนอนหลับจะตรวจได้ดี ผลการตรวจจะอ่านว่า ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน ของหูทั้ง 2 ข้าง ถ้าอ่านผลว่าไม่ผ่าน ควรปรึกษาแพทย์ทางด้าน หู คอและจมูก การได้ยินที่ผิดปกติอาจเกิดจากปัจจัยอื่นได้ เช่น โรคหูชั้นกลางอักเสบทำให้เยื่อแก้วหูทะลุ เป็นต้นดังนั้น การที่ตรวจว่าผ่านหมายถึงเด็กไม่มีความผิดปกติที่มีตั้งแต่แรกเกิด แต่ความผิดปกติที่เกิดทีหลังสามารถเกิดได้
เมื่อคุณแม่สงสัยว่าเด็กมีการได้ยินผิดปกติหรือมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อปัญหาการได้ยินดังที่กล่าวมาข้างต้น ควรพาเด็กไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก ทันที เพื่อตรวจเช็คและทำการรักษาค่ะ
บทความแนะนำเพิ่มเติม
1. สุขภาพทารกแรกเกิดและลักษณะทั่วไปที่คุณแม่ควรสังเกต!!!
2. วัคซีนทารกแรกเกิด ที่จำเป็นต้องฉีดทันทีหลังคลอด
3. ตรวจเลือดทารกแรกเกิดเพื่อคัดกรองโรคเอ๋อ
เรียบเรียงโดย : พว.นฤมล เปรมปราโมทย์