ลูกมีพังผืดใต้ลิ้น มีผลต่อการพูด จริงไหม ควรตัดพังผืดหรือไม่

21 April 2012
74035 view


ภาวะลิ้นติด พังผืดใต้ลิ้น (
Ankyloglossia หรือ Tongue-tie)

ภาวะมีพังผืดใต้ลิ้น ลิ้นติดมาก ๆ อาจทำให้แลบลิ้นยื่นออกมาและกระดกลิ้นไม่ได้ ทำให้เชื่อว่าอาจไปขัดขวางการเคลื่อนไหวตามปกติของลิ้นที่เป็นลูกคลื่นเวลาที่ลูกดูดนมแม่  ส่งผลให้หัวนมแม่มีการชอกช้ำ หัวนมตก หัวนมแดง เจ็บปวด และเกิดปัญหาการได้น้ำนมแม่อย่างพอเพียง และการเพิ่มน้ำหนักตัวของลูก

ภาวะลิ้นติด หรือพังผืดใต้ลิ้นนี้ พบประมาณ 3.2-4.8 % ของเด็กคลอดครบกำหนด และพบประมาณ 12.8 % ของเด็กที่มีปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มอุบัติการณ์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มีปัญหาคือ ประมาณ 25 % ของเด็กที่มีภาวะนี้ : 3 % ของเด็กที่ไม่มีภาวะนี้

ผลของลิ้นติดต่อทารก ปกติภาวะลิ้นติดจะค่อย ๆ หายไปเมื่อเด็กอายุ 2-3 ปี แต่ในเด็กเล็กอาจเกิดปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เช่น ดูดนมไม่ได้ดี อมหัวนมแล้วมักหลุด น้ำหนักตัวไม่ค่อยขึ้นจากการได้น้ำนมไม่พอ แม่เจ็บหัวนมหรือหัวนมเป็นแผล แม่สร้างน้ำนมน้อยลง ๆ    ซึ่งเด็กกลุ่มนี้อาจจะต้องได้รับการแก้ไขโดยการผ่าตัดที่โดยเเพทย์เฉพาะทาง

 ข้อบ่งชี้ว่าเด็กมีลิ้นติดที่ควรได้รับการแก้ไข

  1. เจ็บหัวนมหรือมีร่องรอยฟกช้ำหรือเป็นแผล
  2. หัวนมผิดรูปไปหลังจากให้นมลูกแล้ว
  3. มีรอยกดหรือรอยเป็นริ้ว ๆ บนหัวนมหลังลูกดูดนมแล้ว
  4. ลูกมักดูดไม่ได้ หรือดูดแล้วหลุด เลยทำให้ดูดได้แต่ลม
  5. ได้ยินเสียงคล้ายกระเดาะลิ้นจากปากลูกขณะดูดนมแม่
  6. น้ำหนักตัวลูกไม่ขึ้นหรือขึ้นช้า

อาการแสดงบ่งบอกว่าลูกพังผืดใต้ลิ้น

  1. ลูกแลบลิ้นได้ไม่พ้นริมฝีปากหรือเหงือกบน
  2. ไม่สามารถกระดกปลายลิ้นขึ้นไปสัมผัสเพดานปากได้
  3. ไม่สามารถเคลื่อนไหวลิ้นไปด้านข้างได้
  4. เมื่อแลบลิ้น ปลายลิ้นจะแบนไม่มน หรือเป็นเหลี่ยม ไม่แหลมมนอย่างทั่ว ๆ ไป
  5. ปลายลิ้นอาจเป็นร่องหยักเข้ามา หรือเป็นรูปหัวใจ

ลูกลิ้นติดจะตัดดีหรือไม่


การรักษาภาวะพังผืดใต้ลิ้น

  • ในอดีตใช้การผ่าตัด   ซึ่งเด็กทุกรายจำเป็นต้องดมยาสลบ ทำให้สร้างความวิตกกังวลแก่พ่อแม่ของเด็กอย่างมาก  แม้ทางการแพทย์จะมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยต่อเด็กทารกก็ตาม  แต่ก็อาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ  อีกทั้งจะต้องนอนพักรักษาในโรงพยาบาลต่ออย่างน้อย 2 – 3 วัน 

  • ปัจจุบันเราได้ประยุกต์วิธีการผ่าตัดโดยใช้ยาชาเฉพาะที่  ซึ่งได้รับการยอมรับว่า เป็นวิธีที่ปลอดภัย  และมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับการรักษาด้วยการดมยาสลบ และที่สำคัญที่สุดคือ หลังผ่าตัดแล้ว ทารกสามารถกลับมาดูดนมแม่ได้ทันที และไม่ต้องกังวลเรื่องแผลผ่าตัด   ซึ่งจะหายเองภายใน สัปดาห์  มีคุณแม่หลายท่านสงสัยว่าผ่าตัดแล้ว  ลิ้นจะยาวขึ้นมั้ย คำตอบคือไม่  แต่จะทำให้การเคลื่อนไหวของลิ้นเป็นไปตามปกติคือ ไม่ติด เพราะเป็นการตัดเนื้อเยื่อที่ยึดเกาะระหว่างใต้ลิ้นกับพื้นล่างของช่องปากให้พอเหมาะอย่างไรก็ตาม ภาวะพังผืดใต้ลิ้นมีแนวโน้มที่จะยืดออกได้เอง หากยังไม่มีปัญหาการดูดนมแม่  แพทย์จะทำการนัดมาตรวจเป็นระยะๆ เนื่องจากลิ้นเป็นอวัยวะสำคัญอย่างหนึ่งในการพูด  โดยเฉพาะปลายลิ้นที่ต้องช่วยในขณะออกเสียงควบกล้ำ  ดังนั้นในเด็กโตที่มีพังผืดยึดมาถึงบริเวณปลายลิ้นก็อาจพูดไม่ได้  พูดช้า  และมีปมด้อยได้

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team 

ขอบคุณข้อมูล  :

ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์วีระพงษ์  ฉัตรานนท์
ขอบคุณผศ.นพ.มงคล  เลาหเพ็ญแสงภาควิชาศัลยศาสตร์ Facultyof Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล