โรคคอเอียงแต่กำเนิด คอเอียงตั้งแต่อยู่ในครรภ์ รักษาอย่างไรดี?

06 April 2012
5377 view

โรคคอเอียง

โรคคอเอียง เป็นลักษณะที่ศีรษะเอียงจากแนวกึ่งกลาง ไปด้านใดด้านหนึ่งอาการคอเอียงในเด็กที่พบได้บ่อย ส่วนมากร้อยละ 90 เป็นชนิดไม่ร้ายแรง แต่สร้างความกังวลให้คุณพ่อคุณแม่ได้ไม่น้อย โรคคอเอียงในเด็ก ต้องรักษาอย่างไร หายหรือไม่ Mamaexpert มีคำตอบ ตามนี้...

โรคคอเอียงเกิดขึ้นได้อย่างไร

โรคคอเอียงเป็นลักษณะที่ศีรษะเอียงจากแนวกึ่งกลาง ไปด้านใดด้านหนึ่ง สาเหตุส่วนใหญ่เป็นจากกล้ามเนื้อด้านข้างคอหดสั้นลง สาเหตุอื่นพบได้น้อย เช่น ผิดปกติที่ระบบสมอง ตา กระดูกคอและการอักเสบบริเวณคอ โรคคอเอียงแต่กำเนิดสาเหตุจากกล้ามเนื้อเป็นโรคคอเอียงในเด็กที่พบบ่อยที่สุดจากกล้ามเนื้อด้านข้างคอ (Sternocleidomastoid) ที่เกาะยึดระหว่างกระดูกด้านหลังหูกับส่วนหน้าของกระดูกไหปลาร้าหดสั้นลงทำให้ศีรษะเอียงไปด้านที่กล้ามเนื้อหดสั้นแต่ใบหน้าจะบิดหันไปด้านตรงข้ามอาจเริ่มสังเกตเห็นได้ขณะอายุน้อย

โรคคอเอียงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในครรภ์

สาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อนี้หดสั้นลง เชื่อว่าอาจมาจากเนื้อเยื่อบริเวณคอถูกกดขณะคลอดหรือทารกอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมในครรภ์ ทำให้ใยกล้ามเนื้อข้างคอเสียหายกลายเป็นพังผืด กล้ามเนื้อหดสั้นลงโรคที่อาจพบร่วมกับคอเอียงได้แก่ ข้อสะโพกผิดปกติ เท้าผิดปกติอาการคอเอียงอาจพบได้ในเด็กตั้งแต่อายุ 1 เดือนหลังคลอด โดยเกือบครึ่งของผู้ป่วยมีก้อนคลำได้ที่กล้ามเนื้อข้างคอด้านที่เอียงและก้อนจะค่อยๆ ยุบไป อาการคอเอียงนี้ถ้าเป็นไม่มากอาจสังเกตเห็นยาก

โรคคอเอียงแต่กำเนิด รักษาอย่างไร

1.โรคคอเอียงแต่กำเนิดรักษาด้วยการยืดกล้ามเนื้อข้างคอที่หดสั้น

ส่วนใหญ่ได้ผลดีเมื่อทำในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ผู้ดูแลควรเรียนรู้ถึงวิธีการยืดที่ถูกต้อง เช่นจากนักกายภาพบำบัดเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อเด็กโดยฉพาะการยืดด้วยวิธีดัด (passive stretch) ควรหยุดทำถ้าเด็กดิ้นหรือฝืน การทำโดยจัดศีรษะผู้ป่วยอยู่ ในท่าเงยหน้าเล็กน้อย เช่น นอนหงายบนตัก จัดให้หูข้างตรงข้ามกับกล้ามเนื้อหดสั้นมาสัมผัสที่ ไหล่ข้างเดียวกันและอีกวิธีโดยหันหน้าจัดให้คางสัมผัสกับไหล่ ข้างที่ มีกล้ามเนื้อหดสั้น แต่ละท่ายืดค้างนานประมาณนับเลข 1-10 ต่อครั้ง ติดต่อกัน 15-20 ครั้งเป็น 1 รอบ ทำประมาณ 4-6 รอบในแต่ละวันการยืดแบบที่ให้เด็กหันศีรษะเอง (active stretch) วิธีนี้มีความปลอดภัยมากกว่า โดยต้องหาวิธีการที่จะล่อให้เด็กหันหน้ามาด้านที่มีคอเอียงที่มีกล้ามเนื้อหดสั้น วิธีการที่นิยมใช้ได้ผลดี เช่น การให้นม หรือล่อให้มองตามในสิ่งที่สนใจ เช่น ของเล่นต่างๆ การจัดตำแหน่งศีรษะขณะนอนหลับ ให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นการยืดกล้ามเนื้อ ก็เป็นอีกแนวทางที่มีการใช้กัน แต่ควรได้รับการแนะนำถึงข้อควรระวังก่อนนำมาใช้ การใช้อุปกรณ์พยุง (Orthosis) ปรับตำแหน่งศีรษะ ยังไม่ใช้กันแพร่หลายนัก เนื่องจากปัญหาในการจัดหาอุปกรณ์และต้องใช้ในเด็กที่โตพอสมควรแล้ว

2.โรคคอเอียงแต่กำเนิดรักษาด้วยการผ่าตัด

การผ่าตัดเพื่อแก้ปัญหากล้ามเนื้อหดสั้น ถ้ายืดกล้ามเนื้อหดสั้นไม่ ได้ผลหลังอายุ 1 ปีควรรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อให้มีสมดุลของศีรษะและใบหน้าดีขึ้น การผ่าตัดมักได้ผลดีพอสมควร อายุเหมาะสมที่สุดคือ 1-4 ปี ในผู้ป่วยที่มีอายุมากขึ้น การผ่าตัดอาจได้ผลไม่เต็มที่ การผ่าตัดทำได้หลายวิธี วิธีที่นิยมและได้ผลดีคือการตัดปลายยึดเกาะของกล้ามเนื้อด้านข้างคอ ทั้งสองปลาย (bipolar release)หลังผ่าตัดผู้ป่วยบางรายอาจต้องอุปกรณ์พยุงต่างๆ ร่วมด้วยและมักต้องการการยืดกล้ามเนื้อต่ออีกเพื่อให้คอตรงมากขึ้นและป้องกันการเป็นซ้ำ

เมื่อสังเกตเห็นความผิดปกติของลูก คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและการรักษา อย่านิ่งนอนใจ เพราะสุขภาพของลูกคือสิ่งสำคัญที่สุด เพื่อการเจริงเติบโตและสุขภาพที่ดีของลูกในอนาคต อย่าชะล่าใจในเรื่องสุขภาพของลูกนะคะ

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. ลูกถ่ายเหลวใช่ลูกท้องเสียหรือไม่ แม่มือใหม่ควรรู้

2. วิธีทดสอบว่าลูกขาโก่งจริงหรือไม่ หรือแค่แม่คิดไปเอง

3. ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับภาวะขาโก่งในเด็ก ที่คุณแม่ต้องคิดใหม่!!!

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team


ขอบคุณข้อมูล : สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี