ทารกท่าก้น ทารกที่ไม่กลับหัว หลังคลอดขาแบะ สะโพกหลุด รักษาอย่างไร

29 March 2012
29222 view

ทารกท่าก้น

ทารกท่าก้น (breech position)หรือทารกที่มีก้นเป็นส่วนนำโดยธรรมชาติแล้ว ทารกที่อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ขึ้นไปจะเริ่มกลับศีรษะลง เพื่อเตรียมคลอด แต่พบว่าในคุณแม่ตั้งครรภ์หลายราย ที่ทารกไม่ยอมกับหัว อยู่ในท่านั่ง คุณแม่ที่ลูกอยู่ในท่าก้นนี้จำเป็นต้องทำการผ่าตัดคลอด เพื่อความปลอดภัยทั้งแม่และลูก

ทารกท่าก้น ทารกที่ไม่กลับหัว มีสาเหตุเกิดจาก

  1. ทารกที่อายุครรภ์น้อย (ทารกตัวเล็ก) พบว่าทารกอายุครรภ์ก่อน 28 สัปดาห์ มีโอกาสอยู่ในท่าก้น 22% และลดลงเหลือ 7% เมื่ออายุครรภ์ 32 สัปดาห์ และพบเพียง 1-3% ในทารกอายุครรภ์ครบกำหนด
  2. มารดามีเนื้องอกมดลูก ทำให้ทารกไม่สามารถหมุนเป็นท่าศีรษะได้ตามปกติ มีรกเกาะบริเวณด้านล่างของมดลูก/ภาวะรกเกาะต่ำ (Placenta previa) จึงขัดขวางการหมุนตัวของทารก
  3. มีความผิดปกติของโพรงมดลูก ทำให้ทารกไม่สามารถหมุนเป็นท่าศีรษะได้ตามปกติ
  4. การตั้งครรภ์แฝด
  5. ปริมาณน้ำคร่ำมากเกินไป ทำให้ทารกหมุนตัวได้มากเกินไป
  6. ปริมาณน้ำคร่ำน้อยเกินไป ทารกหมุนตัวไม่ได้
  7. ครรภ์ที่ผ่านๆมา มีทารกเคยอยู่ในท่าก้น ความผิดปกติของรูปร่างของทารก เช่น ศีรษะโตเกินไป หรือมีเนื้องอกบริเวณส่วนบนหรือส่วนล่างของทารก ทำให้ทารกไม่สามารถหมุนเป็นท่าศีรษะได้ตามปกติ

 

ทารกท่าก้น ส่งผลต่อการคลอดและหลังคลอดอย่างไร 

ทารกที่อยู่ในท่าก้น (Breech presentation) พบว่าเมื่อแรกคลอดออกมาอาจจะมีขาผิดรูป ขาชี้แบะออกด้านข้างบ้าง ขาชี้ขึ้นบนบ้างหนึ่งข้างหรือสองข้าง ขึ้นอยู่กับท่าที่อยู่ในครรภ์ คุณพ่อคุณแม่ที่เห็นลูกคลอดออกครั้งแรกแล้วถึงกับเครียดเพราะเกรงว่าจะไม่หาย แต่แท้จริงแล้วเด็กที่คลอดท่าก้นที่มีขาผิดปกติสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา เด็กบางคนหายภายใน3วัน เด็กบางคนอาจหายช้า 4 - 5 วันเลยทีเดียว 






ในรายที่รุนแรงพบได้ว่า ทารกแรกคลอดมีข้อสะโพกเคลื่อนหลุด แพทย์ต้องรักษาด้วยการเข้าเฝือก 


คุณแม่ที่เคยตั้งครรภ์และคลอดลูกท่าก้น โอกาสเกิดซ้ำในครรภ์ที่สอง และ สาม อาจเกิดซ้ำอีก คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ต้องไปฝากครรภ์ตามนัดนะคะ เพราะการไปฝากครรภ์ตามนัด ลดความเสี่ยงต่อแม่และลูกน้อยได้ โดยเฉพาะเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ หากตรวจพบความผิดปกติ คุณพ่อคุณแม่ต้องร่วมวางแผนคลอดกับคุณหมอด้วยค่ะ 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. เด็กม้ามโต ภาวะผิดปกติที่แม่ต้องสังเกตให้เป็น

2. ลูกถ่ายเหลวใช่ลูกท้องเสียหรือไม่ แม่มือใหม่ควรรู้

3. ลูกซีด ภาวะลูกซีด สังเกตอย่างไร พ่อแม่มือใหม่ควรรู้

เรียบเรียงโดย  : Mamaexpert Editorial Team