โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็ก สาเหตุ อาการ วิธีรักษา วิธีป้องกันและวัคซีน

22 January 2017
16636 view

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็ก

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีปัจจัยเสี่ยงสูงจะเป็นกลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี เพราะภูมิคุ้มกันที่จะกำจัดเชื้อโรคบางส่วนยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ เชื้อจึงมีโอกาสกระจายไปสู่อวัยวะต่างๆ ได้มากกว่าเด็กโตหรือผู้ใหญ่ แม้ว่าโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะไม่ได้พบบ่อยมากนักในประเทศไทย แต่กรณีที่พบจะมีความรุนแรงมาก ขึ้นอยู่กับสุขภาพเริ่มแรกของผู้ป่วยว่ามีความแข็งแรงมากแค่ไหน ตลอดจนความรวดเร็วในการเข้ารับการรักษา ซึ่งโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบอาจทำให้เกิดความพิการหรืออาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็กมีสาเหตุเกิดจากอะไร

สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส  เชื้อแบคทีเรียและอีกหลายๆสาเหตุด้วยกันดังนี้ 

  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัส   สามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้โดยผ่านทางเสมหะ และน้ำมูก แต่คนที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่ไม่เกิดโรค ความรุนแรงของโรคจะน้อยกว่ามาก และคนไข้สามารถหายได้เองในเวลาประมาณ 7 -10 วัน  ไม่จำเป็นต้องให้ยาแก้อักเสบ เพียงให้การดูแลทั่วไปตามอาการเท่านั้น
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย  อัตราการเสียชีวิตประมาณ 20-25% แต่ถ้าเป็นแบบรุนแรงการดำเนินโรคเร็วภายใน 24 ชั่วโมง อัตราการเสียชีวิตสูงกว่า 50% ถึงแม้อยู่ในมือแพทย์ก็ตาม ผู้ที่ติดชื้อแบบรุนแรงมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 90 % ถ้าหากก็อาจจะมีความผิดปกติของการทำงานของสมองบางส่วน
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากปรสิต ส่วนมากเกิดจากพยาธิตัวจี๊ด
  • สาเหตุอื่นๆที่ไม่เกียวกับการติดเชื้อ เช่น การแพร่กระจายของมะเร็งมายังเยื่อหุ้มสมอง  เยื่อหุ้มสมองอักเสบเหตุเนื้องอก และยาบางชนิด ส่วนใหญ่เป็นยาในกลุ่มยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตรอยด์ ยาปฏิชีวนะ และอิมมูโนกลอบูลินแบบให้ทางหลอดเลือดดำ  หรืออาจเกิดจากภาวะการอักเสบอื่นๆ


โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็กมีอาการอย่างไร

ในเด็กอาการของผู้ป่วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบอาจไม่มีลักษณะจำเพาะที่ชัดเจน แต่จะเป็นอาการที่สามารถพบได้ในโรคอื่นๆ และไม่มีความแตกต่างกันตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค เช่น ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร กระสับกระส่าย นอกจากนี้ยังมีบางอาการแสดงที่สามารถสังเกตุได้ ได้แก่ ไข้ ตาไวต่อแสง ปวดต้นคอ ก้มคอลำบาก อาจมีอาการซึม ชัก ไม่รู้สึกตัว และแขนขาอ่อนแรง ซึ่งถ้าเกิดกับเด็กเล็กจะมีระยะเวลาดำเนินโรคเร็วมาก ดังนั้นเมื่อลูกไม่สบาย พ่อแม่ควรรู้จักสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพราะเด็กเล็กจะไม่สามารถบอกอาการเองได้ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจก่อให้เกิดความบกพร่องทางด้านสติปัญญา ความพิการทางด้านร่างกาย ตลอดจนการสูญเสียชีวิต และค่าดูแลรักษาพยาบาลอีกเป็นจำนวนมหาศาล

การวินิจฉัยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็ก

หากประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเข้าได้กับโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบแพทย์จะทำการตรวจ

  1. เจาะเลือดตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด CBC
  2. บางรายอาจจะเจาะหาระดับเกลือแร่ในเลือด
  3. แพทย์จะเจาะนำเอาน้ำไขสันหลัง (spinal tap,lumbar puncture ) เพื่อนำน้ำไขสันหลังไปตรวจและเพาะเชื้อ
  4. แพทย์บางรายอาจจสั่งตรวจ computer scan

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็กรักษาอย่างไร

ถ้าเป็นเชื้อไวรัสแพทย์จะให้พัก และให้น้ำเกลือ แต่ถ้าเป็นเชื้อแบคทีเรียแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม
การรักษาใช้เวลานานแค่ไหน ผู้ป่วยที่เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียอาจจะต้องให้ยาฉีด 10-14 วัน หลังจากหายจะต้องเฝ้าระวังโรคแทรกซ้อน เช่น หูหนวก ชัก หรือตาบอด

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็กป้องกันได้หรือไม่

สำหรับการป้องกันด้วยวัคซีน ปัจจุบันพบว่าโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้บ่อยในเด็กนั้น มีวัคซีนป้องกันได้แล้ว คือ

  • วัคซีน HIB ที่ช่วยป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเชื้อแบคทีเรีย “ฮิบ”
  • และวัคซีนไอพีดี พลัส ที่ช่วยป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัส รวมถึงโรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคหูชั้นกลางอักเสบ และโรคปอดบวม

ซึ่งที่ผ่านมาพ่อแม่ส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยเข้าใจว่าวัคซีนป้องกันเชื้อแบคทีเรีย HIB ที่ฉีดให้กับเด็กทุกคนนั้น สามารถป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ทั้งหมด แต่ในความเป็นจริงยังมีเชื้อแบคทีเรียอีกหลายสายพันธุ์ที่สามารถก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งวัคซีน HIB ยังไม่สามารถคลอบคลุมได้ ซึ่งได้แก่ เชื้อนิวโมคอคคัส เชื้อซาลโมเนลลา และเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น เป็นต้น

วัคซีนโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็กราคาเท่าไหร่ 

  • ยี่ห้อ Act-Hib 441 บาท


  • ยี่ห้อ Hiberix 505 บาท

วัคซีนโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็กฉีดอายุเท่าไหร่

การฉีดวัคซีนฮิบ ควรเริ่มต้นให้เร็วที่สุดเมื่ออายุ 2, 4 และ 6 เดือน ไม่ควรชะลอเวลาไปฉีดเมื่ออายุ 6 เดือนหรือ 1 ปีเพื่อลดจำนวนเข็มในการฉีด เนื่องจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบมักพบในเด็กช่วงขวบปีแรกโดยเฉพาะเมื่ออายุ 2-6 เดือน

ความสูญเสียที่เกิดจากโรคร้ายอย่างโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ คงไม่เกิดขึ้น หากคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกเล็ก ควรดูแลสุขภาพลูกให้สมบูรณ์แข็งแรง และหมั่นสังเกตอาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด และพาพบกุมารแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที

บทความแนะนำเพิ่มเติม

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team