ภาวะลำไส้กลืนกัน
ภาวะลำไส้กลืนกัน มักจะพบบ่อยในเด็กอายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป เป็นภาวะผิดปกติ ที่อาจพบได้และมักเป็นในเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่จะต้องระวังและรู้จักสังเกตอาการของลูกน้อย มาดูภาวะลำไส้กลืนกันในเด็กกันเลยค่ะ..
ภาวะลำไส้กลืนกัน คืออะไร?
ภาวะลำไส้กลืนกัน (Intussusception) คือการที่ลำไส้เล็กส่วนหนึ่งม้วนตัว เข้าไปอยู่ในอีกส่วนหนึ่งของลำไส้ (เหมือนกับการที่เราทำการถลกแขนเสื้อขึ้น) ทำให้เกิดการอุดตันของลำไส้ เป็นภาวะผิดปกติ ที่อาจพบได้และมักเป็นในเด็กเล็ก
ภาวะลำไส้กลืนกันเกิดจากอะไร
ยังไม่ทราบว่าอะไรเป็นสาเหตุ แต่ในบางรายพบว่า อาจเกิดขึ้นหลังการติดเชื้อของลำไส้ หรือ จากการที่มีความผิดปกติในผนังของลำไส้เล็ก ที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด เช่น ก้อนติ่งเนื้อ (Polyps) หรือกระพุ้งของลำไส้ (Meckel’s diverticulum)ภาวะลำไส้กลืนกันนี้พบบ่อยในเด็ก อายุน้อยกว่า 2 ปี โดยมีอุบัติการณ์ประมาณ 2 ใน 1,000 ราย
ภาวะลำไส้กลืนกันมีอาการเป็นอย่างไร
อาการปวดท้องจะค่อนข้างรุนแรงเป็นพักๆ ทำให้เด็กมี อาการกรีดร้อง ตัวงอเป็นพักๆได้ อาการอาเจียน ก็เป็นอาการเด่นอีกอันหนึ่ง บางครั้งเด็กจะมีอาเจียนรุนแรง ดูหน้าซีดๆ สลับกับอาการปวดท้อง ในรายที่เป็นมาก อาจจะพบว่า เด็กมีถ่ายเป็นมูกเลือด สีแดงๆ เหมือนเยลลี่ด้วยซึ่งถ้าภาวะลำไส้กลืนกันนี้ไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที ก็จะทำให้เริ่มมีเลือดมาเลี้ยง ผนังลำไส้บริเวณนั้นน้อยลง และเกิดลำไส้เน่าเสียไป มีการติดเชื้ออักเสบรุนแรงในช่องท้องแทรกซ้อน และ อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้
ภาวะลำไส้กลืนกันรักษาได้หรือไม่
ถ้ายังเป็นระยะแรกๆ ที่เริ่มมีอาการ และ สภาวะของเด็กยังดูดี ก็จะทำการตรวจสวนแป้ง ทางทวารหนัก (Barium enema) ซึ่งจะเป็นการตรวจเพื่อการวินิจฉัยโรค และ เป็นการรักษาไปด้วยในตัว คือ แป้งที่สวนโดยรังสีแพทย์ผู้ชำนาญการ จะเป็นตัวช่วยดันให้ลำไส้ ส่วนที่ม้วนตัวนั้นยืดคลายออกมาเป็นปกติได้ โดยไม่ต้องทำการผ่าตัดแต่ถ้าเด็กมีภาวะแทรกซ้อนแล้ว ก็จะต้องทำการผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหาลำไส้กลืนกันนี้ให้ ซึ่งถ้าในการทำผ่าตัดพบว่าลำไส้ส่วนใหญ่ ยังไม่มีปัญหาเน่าเสีย ก็จะสามารถทำให้คลายตัวเป็นปกติได้เช่นกัน มีเพียงบางรายที่อาจจะต้องมีการตัดต่อลำไส้ ถ้าพบว่าลำไส้เริ่มเสียแล้วที่สำคัญคือภาวะลำไส้กลืนกันนี้ แม้ได้รับการรักษาให้คลายการกลืนกันแล้ว ก็อาจมีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำได้อีก ในเวลาต่อมา
ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จะต้องคอยสังเกตุอาการผิดปกติของเด็กที่ทำให้นึกถึงว่าจะเกิดภาวะลำไส้กลืนกันขึ้นซ้ำอีก เช่น อาการปวดท้องรุนแรง และ อาการอาเจียนค่อนข้างมาก ซึ่งในรายเช่นนี้ก็ต้องพบแพทย์เพื่อให้การรักษาให้ลำไส้คลายการกลืนกันโดยเร็ว
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
1. เด็กตับโต
3. ลูกซีด
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team