น้ำคร่ำ
.
.
น้ำคร่ำคืออะไร ?
ว่าที่คุณแม่ทุกท่านทราบหรือไม่คะ ว่าขณะที่คุณแม่ตั้งครรภ์นั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมายภายในร่างกาย มีบางอย่างเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่ไม่เคยมีในร่างกาย พอตั้งครรภ์ปุ๊บก็เกิดขึ้นมาทันที วันนี้มาทำความรู้จักกับสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับชีวิตเล็ก ๆ กันค่ะ ปกติเมื่อมีการตั้งครรภ์ทารกจะเจริญเติบโตอยู่ภายในมดลูก แต่ไม่ได้อยู่ในมดลูกโดยตรงเลยทีเดียว เนื่องจากทารกจะลอยอยู่ในน้ำที่เรียกว่า "น้ำคร่ำ" และน้ำคร่ำที่ว่านี้ก็จะบรรจุอยู่ในถุงที่เรียกว่าถุงน้ำคร่ำอีกทีหนึ่ง ถุงน้ำคร่ำจะบรรจุและอัดแน่นอยู่ภายในมดลูก น้ำคร่ำที่ล้อมรอบตัวทารกนั้นจะค่อย ๆ สร้างเพิ่มขึ้นมาทีละน้อย
หน้าที่ของน้ำคร่ำ
น้ำคร่ำที่มีอยู่ภายในถุงน้ำคร่ำไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่ให้ทารกหกคะเมนตีลังกาเล่นเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่อีกมากมายหลายประการ เช่นเป็นแหล่งระบายของเสียจากตัวทารก เป็นแหล่งให้อาหารทารก รวมทั้งยังปรับอุณหภูมิในมดลูกให้เหมาะสมแก่การอยู่อาศัยของทารกด้วย น้ำคร่ำมีบทบาทค่อนข้างมากในการที่จะทำให้ทารกดำรงชีวิตอยู่ในมดลูกได้อย่างปกติสุข การตั้งครรภ์ที่มีน้ำคร่ำมากหรือน้อยเกินไป มักเป็นตัวบ่งบอกว่า ทารกในครรภ์อาจจะพิการหรือมีการเจริญเติบโตที่ไม่สมบูรณ์
ปริมาณของน้ำคร่ำ
ขณะท้องได้ประมาณ 3 เดือน จะมีน้ำคร่ำประมาณ 50-80 มิลลิลิตร เมื่อท้องได้ 4 เดือน จะมีน้ำคร่ำเพิ่มขึ้นเป็น 150-200 มิลลิลิตร และเมื่อใกล้คลอดน้ำคร่ำจะมีมากถึง 1 ลิตร องค์ประกอบที่สำคัญของน้ำคร่ำคือน้ำ ซึ่งมีปริมาณ 98 เปอร์เซ็นต์ และส่วนที่เป็นของแข็งประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนที่เป็นของแข็งประกอบด้วยสารต่าง ๆ มากมาย เช่น โปรตีน กรดยูริค สารยูเรีย รวมทั้งขี้ไคลของทารก ขนอ่อน เส้นผม และปัสสาวะของทารกด้วย โดยปกติน้ำคร่ำไม่ได้อยู่เฉย ๆ เหมือนน้ำที่นิ่ง แต่จะมีการไหลเวียนอยู่ตลอดเวลาโดยจะผ่านเข้าไปในตัวทารกจากการกลืนเข้าไป และถูกขับออกจากทารกโดยการถ่ายเป็นปัสสาวะออกมา
ความผิดปกติของน้ำคร่ำ
1. ภาวะน้ำคร่ำน้อย (Oligohydramnios)
ความหมายน้ำคร่ำน้อย (oligohydramnios) หมายถึง ภาวะตั้งครรภ์ที่มีจำนวนน้ำคร่ำน้อยกว่าปกติ ในบางรายปริมาณน้ำคร่ำมีน้อยจากค่าปกติมากอาจจะลดลงจนเหลือเพียง 2-3 มล.ของน้ำคร่ำที่ข้นเหนียวทั่ว ๆ ไปภาวะนี้มักมีน้ำคร่ำประมาณ 100-300 มล. เมื่อน้ำคร่ำน้อยก็เกิดภาวะ ผิดปกติที่ปอด ในทารกได้บ่อย เนื่องจาก
1. มีการกดต่อผนังทรวงอก โดยมดลูกที่มีน้ำคร่ำน้อย ซึ่งจะขัดขวางการขยายตัวของปอด และผนังทรวงอก
2. ขาดน้ำที่จะหายใจเข้าไปในปอด และผลตามมาคือการหยุดการเติบโตของปอด
3. อาจจะเกิดจากความผิดปกติของปอดเอง จะเห็นว่าปริมาณน้ำคร่ำที่หายใจเข้าในตัวทารกที่ปกติ มีบทบาทสำคัญในการทำให้ปอดขยายตัว แล้วส่งผลให้มีการเจริญเติบโตของปอดเป็นปกติสาเหตุยังไม่เป็นที่ทราบชัดเจน อาจเกิดจาก
- ทารกพิการโดยกำเนิด
- การอุดตันของระบบทางเดินปัสสาวะของทารก
- ภาวะไตฝ่อทั้งสองข้าง (renal agenesis)
- ทารกมีความผิดปกติของโครโมโซม เช่น trisomy 13 triploidy เป็นต้น
- รกเสื่อมสภาพ
- ภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์
- มารดาเป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน preeclampsia
- ครรภ์เกินกำหนด
- รกลอกตัวก่อนกำหนด
- การรั่วของถุงน้ำคร่ำเป็นเวลานาน ๆ
- ภาวะเบาจืด (diabetes insipidus) ของมารดาก็อาจเป็นสาเหตุของน้ำคร่ำน้อยได้ด้ว
การรักษาน้ำคร่ำน้อย การรักษาขึ้นกับสาเหตุ รายที่สัมพันธ์กับความพิการรุนแรงมักจะแนะนำให้เลือกยุติการตั้งครรภ์ รายที่มีภาวะทารกโตช้าในครรภ์ที่เกิดจาก UPI มักจะเน้นการตรวจสุขภาพทารกในครรภ์และให้คลอดในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยทั่วไปไม่มีการรักษาในระยะยาว แต่สามารถเพิ่มปริมาณน้ำคร่ำได้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ มีรายงานการให้ พบว่าสามารถเพิ่มปริมาณน้ำคร่ำได้
2. ภาวะน้ำคร่ำอุดตัน (Amniotic Fluid Embolism ,AFE)
เป็นภาวะแทรกซ้อนทางสูติกรรมที่มีความรุนแรง ประกอบด้วยลักษณะเฉพาะสามประการ คือ ภาวะความดันโลหิตต่ำอย่างทันทีทันใด ภาวะขาดออกซิเจน และ ภาวะความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด แต่ผู้ป่วยอาจจะมีอาการแตกต่างกันไปเฉพาะบุคคล ตั้งแต่ไม่มีอาการจนถึงมีครบทั้งสามภาวะเลยก็ได้
สาเหตุการเกิด ภาวะน้ำคร่ำอุดตัน
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งเสริมให้เกิด AFE ได้แก่ คลอดเร็ว มารดาอายุมาก เคยตั้งครรภ์หลายท้อง การทำหัตถการต่าง ๆ เช่น ใช้คีมหรือเครื่องดูดสุญญากาศ การผ่าตัดคลอด รกเกาะต่ำที่มีเลือดออก รกรอกตัวก่อนกำหนด ปากมดลูกฉีกขาดจากกระบวนการคลอด ทารกอยู่ในภาวะคับขัน ครรภ์เป็นพิษ การชักนำคลอดด้วยยาชนิดต่าง ๆ ซึ่งภาวะนี้อาจเกิดได้ในทุกกรณีแม้กระทั่งเป็นครรภ์เสี่ยงต่ำทั่วไป จึงกล่าวได้ว่าไม่สามารถทำนายและป้องกันได้
อาการน้ำคร่ำอุดตัน(AFE)
จะต้องมีสามองค์ประกอบด้วยกันคือ ถุงน้ำคร่ำต้องแตกแล้วและมีทางติดต่อกันของน้ำคร่ำกับเส้นเลือดมารดา โดยมีการหดรัดตัวของมดลูกช่วยขับน้ำคร่ำเข้าสู่กระแสเลือด มารดาเริ่มมีการเจ็บครรภ์ จะมีหายใจหอบเหนื่อย ความดันโลหิตลดต่ำ ขาดออกซิเจนอย่างรุนแรง อาจรุนแรงทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ มีผลให้ทารกขาดออกซิเจน นอกจากนี้ภาวะดังกล่าวยังพบได้บ่อยในสตรีครรภ์หลัง ๆ ที่มีอายุมาก และทารกมีขนาดใหญ่ ร้อยละ 70 เกิดในช่วงก่อนคลอด อาจเกิดตามหลังการทำหัตถการต่าง ๆ เช่น ทำแท้ง เจาะน้ำคร่ำ เติมน้ำคร่ำ การกระแทกหรือบาดเจ็บที่ท้อง ถอดไหมที่เย็บปากมดลูก หรือการล้วงรก สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระยะด้วยกัน คือ
1. ระยะแรกภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ผู้ป่วยจะมีอาการเริ่ม ด้วย หายใจลำบาก เจ็บอก หนาวสั่น ปวดศีรษะ มีอาการตื่นตระหนก ปวดและชาตามปลายนิ้ว มีคลื่นไส้อาเจียน อาการเหล่านี้อาจเกิดก่อนนานถึง 4 ชั่วโมงจนมีหอบเหนื่อย หลอดลมตีบ ขึ้นมาทันทีทันใดจนเกิดภาวะ ขาดออกซิเจน ร่วมกับอาการความดันโลหิตต่ำ
2. ระยะที่สองภาวะเลือดไม่แข็งตัว ระยะนี้จะเกิดภาวะเลือดไม่แข็งตัว โดยยังไม่ทราบกลไกที่ทำให้เกิดอย่างแท้จริง ผู้ป่วยอาจจะมีการตกเลือดหลังคลอด มดลูกหดรัดตัวไม่ดี มีการแข็งตัวของเลือดในหลอดเลือดขนาดเล็กๆทั่วร่างกาย มีการแข็งตัวของเลือดในหลอดเลือดขนาดเล็กๆทั่วร่างกาย ทำให้สารเคมีที่ใช้ในการแข็งตัวของเลือดถูกใช้ไปจนหมด และเม็ดเลือดแดงจะถูกทำลายจากลิ่มเลือดที่แข็งตัวเหล่านี้ ผู้ป่วยจะมีเลือดออกไม่หยุดเกิดขึ้นได้ในอวัยวะสำคัญต่าง ๆ เช่น ปอด สมอง ลำไส้ และเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต
การรักษา ภาวะน้ำคร่ำอุดตัน
พิจารณาผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องในรายที่มารดามีภาวะหัวใจหยุดเต้นไปแล้วและทารกมีอายุครรภ์มากพอที่จะเลี้ยงรอดได้ และรักษาตามภาวะฉุกเฉิน ที่สามารถกูชีวิตมารดาได้
3. ครรภ์แฝดน้ำ (Polyhydramnios)
ครรภ์แฝดน้ำหรือครรภ์มานน้ำ (hydramniosหรือ polyhydramnios) หมายถึง ภาวะตั้งครรภ์ที่มีจำนวนน้ำคร่ำมากผิดปกติ เกินเปอร์เซนไตล์ที่ 95 ของแต่ละอายุครรภ์
สาเหตุครรภ์แฝดน้ำ
สาเหตุมาหลายด้านด้วยกัน สาเหตุเกี่ยวกับรก เช่น เนื้องอกของรก เกร่ยวกับมารดาเช่นมาดามีโรคประจำตัวขณะตั้งครรภ์ และสาเหตุที่เกิดจากทารกในครรภ์ได้แก่ความพิการของทารก ซึ่งส่วนใหญ่สัมพันธ์กับการกลืนของทารกตั้งแต่ความผิดปกติของระบบประสาทลงมาถึงการอุดกั้นของทางเดินอาหารที่พบได้บ่อยที่สุดได้แก่ มีปัญหาในการกลืนน้ำคร่ำ ทารกไม่มีกะโหลก เนื้องอกที่หน้า ปากแหว่งเพดานโหว่ และการตีบตันของทางเดินอาหาร เช่น หลอดอาหาร หรือดูโอดีนั่มตีบตัน นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและระบบประสาท
อาการครรภ์แฝดน้ำ
ขนาดมดลูกใหญ่กว่าอายุครรภ์ ร่วมกับการที่คลำส่วนของทารกในครรภ์ได้ยาก ฟังเสียงหัวใจทารกได้ยาก ผนังของมดลูกตึงถ้าน้ำคร่ำมีปริมาณเยอะมากก็จะคลำส่วนของทารกไม่ได้เลย
การรักษาครรภ์แฝดน้ำ
ครรภ์แฝดน้ำชนิดรุนแรงน้อย หรือ เรื้อรัง ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรือมีไม่มาก กลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องให้การรักษาใด ๆ เพียงแต่ตรวจเช็คดู ความผิดปกติที่อาจจะเกิดร่วมด้วยเช่นโรคเบาหวานหรือทารกในครรภ์ผิดปกติแต่ถ้าหายใจลำบากปวดท้อง หรือเคลื่อนไหวลำบากควรจะให้นอนพักในโรงพยาบาลและพิจารณาเจาะน้ำคร่ำออกเพื่อลดปริมาณน้ำคร่ำลง
คุณแม่ทราบแล้วใช่ไหมค่ะว่าน้ำคร่ำที่มีอยู่ภายในถุงน้ำคร่ำไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่ให้ทารกหกคะเมนตีลังกาเล่นเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่อีกมากมายหลายประการ เช่นเป็นแหล่งระบายของเสียจากตัวทารก เป็นแหล่งให้อาหารทารก รวมทั้งยังปรับอุณหภูมิในมดลูกให้เหมาะสมแก่การอยู่อาศัยของทารกด้วย
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team