โรค เอส แอล อี (Systemic Lupus Erythematosus: SLE ) กับหญิงตั้งครรภ์

23 February 2012
4083 view

โรค เอส แอล อี (Systemic Lupus Erythematosus: SLE ) กับหญิงตั้งครรภ์

คนปกติจะมีระบบป้องกันตนเองในการต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆนั่นคือระบบภูมิคุ้มกัน คือเมื่อมีเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะทำการต่อสู้กับเชื้อโรคนั้นและทำการจดจำเชื้อโรคเอาไว้ และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับเชื้อโรคนั้นๆ เพื่อที่หากมีเชื้อโรคชนิดเดิมเข้าสู่ร่างกายอีกก็จะสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้ทำให้ไม่ป่วยเป็นโรคเดิมอีกหรือเป็นไม่รุนแรงเหมือนครั้งแรก

แต่ในผู้ป่วย SLE นั้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ ซึ่งไม่สามารถจดจำเนื้อเยื่อของร่างกายตัวเองได้ ทำให้สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อทำลายเนื้อเยื่อตัวเอง ทำให้เนื้อเยื่อนั้นเกิดการอักเสบและถูกทำลาย เนื้อเยื่อที่มักเกิดอาการได้แก่ ข้อต่อต่างๆ เช่นข้อเข่า ข้อนิ้วมือ มีอาการปวด บวม แดง ร้อน อาการที่เกิดกับผิวหนังได้แก่ มีผื่นขึ้นโดยเฉพาะบริเวณที่ถูกแสงแดด เช่นผื่นที่หน้าบริเวณโหนกแก้มและจมูกทำให้มีลักษณะคล้ายปีกผีเสื้อเรียก นอกจากนี้ SLE ยังส่งผลถึงอวัยวะสำคัญของร่างกาย ได้แก่ ไตมีการอักเสบไตเสื่อม ความดันสูง มีการอักเสบของหลอดเลือด เยื่อหุ้มปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

ผู้ป่วย SLE รักษาไม่หายแต่สามารถมีคุณภาพีชีวิตใกล้เคียงคนปกติ ผู้ป่วยต้องทราบว่าโรคนี้จะมีบางช่วงที่ปราศจากอาการ บางช่วงก็มีระยะที่เกิดโรคกำเริบ ผู้ป่วยต้องเรียนรู้วิธีป้องกันโรคกำเริบและรู้วิธีรักษา สาเหตุของ SLE ที่แท้จริงไม่มีใครทราบแต่เชื่อว่าเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น พันธุ์กรรม สิ่งแวดล้อม เช่น แสงแดด ความเครียด ยาบางชนิด การติดเชื้อบางชนิด เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรค อาการทางระบบประสาท ชัก เป็นอัมพาต เป็นต้น

ปัญหาที่สำคัญของหญิงตั้งครรภ์ที่เป็น SLE นั่นคือ ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานซึ่งส่งผลต่อกระบวนการแข็งตัวของเลือด ซึ่งส่งผลให้มีการเกิดปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดสูงขึ้น และส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ เช่น เกิดลิ่มเลือดทั้งในหลอดเลือดดำและในหลอดเลือดแดงของแม่ มีการแท้งบุตร มีการเสื่อมสภาพของรก ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ และความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์

หญิงตั้งครรภ์ที่เป็น SLE นั้นควรจะต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยที่สุดจะอยู่ในระหว่างที่โรคสงบ แพทย์จะสั่งยาที่มีขนาดต่ำๆให้เพื่อควบคุมโรคให้สงบไปจนตลอดการตั้งครรภ์ ยากลุ่มสเตียรอยด์นั้นสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์ แต่ทั้งนี้ต้องสั่งโดยแพทย์เท่านั้น เนื่องจากยังมีอาการข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยาต่อมารดาได้ เช่นน้ำหนักตัวเพิ่ม เป็นเบาหวานและกระดูกพรุนขณะตั้งครรภ์ การใช้ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ควรละเว้นหากสามารถทำได้ แม้ว่าจะไม่ทำให้ทารกเกิดความพิการ แต่อาจทำให้เกิดภาวะที่มีปริมาณน้ำคร่ำน้อยซึ่งเกิดจากผลของยาต่อไตของทารก และอาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อระบบไหลเวียนเลือดและหัวใจของทารกในครรภ์ได้ และยังอาจทำให้ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกเนื่องจากยาจะส่งผลต่อการทำงานของเกร็ดเลือด

ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงจาก SLE ในหญิงตั้งครรภ์แพทย์อาจจะให้ยาต้านเกร็ดเลือด ในขนาดต่ำๆไว้ โดยอาจเริ่มเมื่อสิ้นสุดระยะไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือด และจะให้เมื่อหลังคลอดทันทีซึ่งเป็นระยะที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด

การดูแลครรภ์ในผู้ที่เป็น SLE นั้น ควรมีการตรวจติดตามอย่างใกล้ชิด มีการประมาณอายุครรภ์อย่างถูกต้องแม่นยำ ควรได้มีการตรวจอัลตร้าซาวด์โดยละเอียดในระยะไตรมาสที่สองและสามของการตั้งครรภ์ เพื่อประเมินสภาพของทารก การไหลของเลือดผ่านสายสะดือ และหากพบว่ามีปมที่สายสะดือของทารกอาจบอกให้ทราบว่าทารกอยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงสูง การประเมินสภาพของทารกควรกระทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเพื่อประเมินความเสี่ยงต่างๆ และการเจริญเติบโตของทารกว่าเหมาะสมกับอายุครรภ์หรือไม่ นอกจากนี้การประเมินอาการต่างๆของมารดาในระหว่างตั้งครรภ์ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน