การตรวจความผิดปกติหัวใจของทารกในครรภ์ (Fetal Echocardiogram)

23 February 2012
3860 view

ตรวจความผิดปกติหัวใจของทารกในครรภ์

ตรวจความผิดปกติหัวใจของทารกในครรภ์ โรคหัวใจแต่กำเนิดเป็นโรคที่พบบ่อยโรคหนึ่ง และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทารกเสียชีวิตหลังคลอด โดยอาจเสียชีวิตจากความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือดที่รุนแรง หรือจากที่ให้การรักษาล่าช้าไม่ทันเวลา เพราะไม่สามารถวินิจฉัยได้ก่อนคลอด นอกจากนี้อาจมีโรคอื่นแทรกซ้อน  ทำให้อาการของโรคหัวใจเลวลงจนทำให้เสียชีวิต ดังนั้นหากได้รับการตรวจวิเคราะห์โรคอย่างรวดเร็ว และรับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพทันเวลา จะช่วยให้ทารกซึ่งเป็นโรคโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดสามารถรอดชีวิต และสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้อย่างปลอดภัย

ตรวจความผิดปกติหัวใจของทารกในครรภ์ได้อย่างไร

ปัจจุบันเราสามารถทำการตรวจวิเคราะห์โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดของทารกตั้งแต่ขณะที่ยังอยู่ในครรภ์มารดาด้วย Fetal Echocardiogram (ฟีทัล เอคโค่คาร์ดิโอแกรม) ซึ่งเป็นการตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์เพื่อดูความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือดของทารกในครรภ์มารดา ช่วยให้ทราบว่าทารกในครรภ์เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดหรือไม่ นอกจากนี้ยังสามารถทราบถึงความรุนแรงของความผิดปกตินั้นด้วย การที่ทราบได้ก่อนว่าทารกในครรภ์เป็นโรคหัวใจนั้น ส่วนหนึ่งจะช่วยให้พ่อแม่สามารถเตรียมพร้อมทางด้านจิตใจ และแพทย์สามารถวางแนวทางการรักษาที่เหมาะสมได้ ซึ่งอาจให้การรักษาได้ทันทีตั้งแต่ขณะที่ทารกยังอยู่ในครรภ์ หรือวางแผนการผ่าตัดหลังการคลอด

ตรวจความผิดปกติหัวใจของทารกในครรภ์ด้วย Fetal Echocardiogram

การตรวจด้วย Fetal Echocardiogram นั้นสามารถทำได้ตั้งแต่มารดาตั้งครรภ์ได้ 16 สัปดาห์ขึ้นไปจนถึงใกล้คลอด อายุครรภ์ที่เหมาะสมในการทำ คือ 18-22 สัปดาห์ ควรทำ Fetal Echocardiogram ให้แก่ทารกในครรภ์มารดาทุกราย หรือเมื่อมีข้อบ่งชี้ดังต่อไปนี้

1. ทารกในครรภ์มีปัจจัยเสี่ยงหรือมีความผิดปกติจากการตรวจของสูติแพทย์ เช่น ทารกไม่โต มีความผิดปกติของอวัยวะบางอย่าง เช่น ปากแหว่ง ความผิดปกติของสมอง กระดูก หรือมีการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ รวมทั้งตรวจพบว่ามีโครโมโซมผิดปกติ เป็นต้น

2. มารดามีปัจจัยเสี่ยงหรือมีโรคประจำตัว เช่น มารดาป่วยเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือมีการติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น

3. ครอบครัวมีภาวะเสี่ยง คือ บุคคลในครอบครัว หรือญาติพี่น้องตามสายเลือดป่วยเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือมีความผิดปกติทางด้านโครโมโซม

4. มารดาอายุมากขณะตั้งครรภ์ คือ อายุเกิน 35 ปี

การตรวจว่าทารกในครรภ์เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดนั้น เป็นการช่วยลดความเสี่ยงเมื่อลูกน้อยเกิดมา ช่วยให้ทราบถึงความรุนแรงของความผิดปกตินั้นด้วย ทำให้สามารถวางแนวทางการรักษาได้ ซึ่งอาจให้การรักษาในขณะตั้งครรภ์อยู่ได้ด้วย

บทความแนะนำสำหรับแม่ตั้งครรภ์

1. เบาหวานขณะตั้งครรภ์ แม่ท้องต้องระวัง

2. โรคภูมิแพ้ในแม่ตั้งครรภ์

3. โรคอันตรายระหว่างตั้งครรภ์

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team