เครื่องมือช่วยคลอด
ทำไมต้องใช้เครื่องมือช่วยคลอด
ในกรณีที่มีความผิดปกติของท่าของทารก ทารกอยู่ในภาวะคับขัน แรงเบ่งของแม่ หรือแรงหดรัดตัวของมดลูก การคลอดอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องมือช่วยคลอด
ชนิดของเครื่องมือช่วยคลอด
ชนิดของเครื่องมือช่วยคลอด ที่ได้รับความนิยมมี 2 ชนิดคือ
1.การใช้เครื่องมือช่วยคลอดด้วยคีม
Forceps extraction คือ การทำคลอดโดยการใช้คีม ช่วยดึงเด็กออกซึ่งวัตถุประสงค์การทำ คือ การช่วยให้ระยะเวลาที่ 2 ของการคลอดสั้น กรณีที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น ผลจากการได้ยาระงับการเจ็บปวด หรือกรณีทารกขาดออกซิเจน ในระยะใกล้คลอด
ภาวะที่ต้องพร้อมในการใช้เครื่องมือช่วยคลอดด้วยคีม
- ปาดมดลูกเปิดหมด
- รู้ท่าเด็กแน่นอน
- ส่วนนำลงอุ้งเชิงกรานอย่างน้อยระดับ ischial spine
- เชิงกรานไม่แคบ
- ถุงน้ำคร่ำแตกแล้ว
- ทารกมีชีวิตอยู่
วิธีการใช้เครื่องมือช่วยคลอดด้วยคีม
ก่อนที่จะช่วยคลอด แพทย์จะทำการฉีดยาชาบริเวณอุ้งเชิงกราน แล้วสอดคีมเข้าไปด้านข้างของศีรษะทารกทีละข้าง จากนั้นจึงทำการดึงอย่างนุ่มนวลผ่านช่องคลอด คุณแม่อาจช่วยการคลอดได้โดยเบ่ง เมื่อศีรษะเด็กเคลื่อนลงมาต่ำจึงทำการตัดฝีเย็บ แล้วทำคลอดส่วนศีรษะ คลายคีมออก ทำคลอดส่วนลำตัวและแขนขาตามปกติ ทารกที่คลอดโดยวิธีนี้ มักพบรอยแดงบริเวณคีมคีบ ซึ่งจะหายไปเองภายใน 2-3 วัน
2.การใช้เครื่องมือช่วยคลอดด้วยเครื่องดูดสุญญากาศ
การช่วยคลอดด้วยเครื่องดูดสุญญากาศ (Vacuum extraction) คือ การทำคลอดโดยใช้เครื่องสุญญากาศดึงศีรษะเด็ก เพื่อช่วยแรงเบ่งของแม่
วิธีการใช้เครื่องมือช่วยคลอดด้วยเครื่องสุญญากาศ
เช่นเดียวกันจะต้องทำการฉีดยาบริเวณอุ้งเชิงกราน แล้วใส่โลหะกลมรูปร่างคล้ายถ้วยเล็กๆ เข้าไปดูดกับหนังศีรษะทารกจากนั้นดูดอากาศในถ้วยออกเพื่อให้เป็นสุญญากาศแล้วดึงให้ทารกเคลื่อนต่ำลงมาพร้อมกับแรงเบ่งของคุณแม่ เมื่อศีรษะลงมาต่ำตัดฝีเย็บท่าคลอดส่วนศีรษะปิดเครื่องดูดสุญญากาศ ถ้วยจะหลุดออก แล้วทำคลอดส่วนที่เหลือของทารกตามปกติ ทารกที่คลอดโดยวิธีนี้ มักมีศีรษะนูนเป็นลักษณะคล้ายจุก ซึ่งเกิดจากแรงดูดของเครื่องดูดสุญญากาศ ซึ่งปกติจะหายไปใน 1-2 วัน
ข้อเสียเปรียบของเครื่องดูดสูญญากาศเมื่อเทียบกับคีม คือ ต้องใช้เวลานาน และมีอันตรายต่อหนังศีรษะเด็กได้มากกว่า
เครื่องมือทั้งสองชนิดนี้ใช้ในกรณีที่คุณแม่ไม่มีแรงเบ่งหรือมีภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้ไม่สามารถออกแรงเบ่งคลอดได้ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น หรือในกรณีที่ทารกอยู่ในภาวะคับขันจำเป็นต้องรีบให้คลอดในกรณีที่ปากมดลูกเปิดเต็มที่แล้วและทารกลงมาอยู่ต่ำใกล้บริเวณปากช่องคลอด การเลือกใช้เครื่องมือช่วยคลอดแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับ ท่าของทารก ความชำนาญของผู้ทำคลอด และความเร่งด่วนที่จำเป็นต้องรีบทำคลอด
การคลอดโดยใช้เครื่องมือช่วยคลอด หากไม่พบภาวะแทรกซ้อนของคุณแม่และทารก คุณแม่สามารถจะกลับไปพักผ่อนที่บ้านได้ในระยะเดียวกันกับการคลอดปกติค่ะ
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่หลังคลอด
1.การปฏิบัติตัวของคุณแม่หลังคลอด
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team
อ้างอิง
1.ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. พญ. เกษมศรี ศรีสุพรรณดิฐ. Forceps & Vacuum Extraction. เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/rfwfcv .[ค้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2561]
2.ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. คณาจารย์กลุ่มปี 6. Forceps extraction. เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/zSYDTb .[ค้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2561]