การเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก
การเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็กเป็นทักษะสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำให้ลูกได้ เพราะจะต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกตั้งแต่แรกเกิด Mamaexpert นำความรู้เทคนิควิธีเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็กมาฝากคุณพ่อคุณแม่ มาดูกันเลยจ้า...
การเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็กต้องเปลี่ยนกี่ครั้งต่อวัน
การเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็กบ่อยๆเป็นสิ่งที่จำเป็นค่ะ เนื่องจากในปัสสาวะจะมีแบคทีเรียที่อยู่ในอุจจาระผสมอยู่ สามารถสร้างความระคายเคืองให้ผิวและนำไปสู่การเกิดผื่นผ้าอ้อมได้ ดังนั้นคุณแม่ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมก่อนหรือหลังการให้นม (ยกเว้นเวลากลางคืนที่การเปลี่ยนผ้าอ้อมจะรบกวนการหลับของลูก) รวมทั้งควรเปลี่ยนผ้าอ้อมทันทีเมื่อลูกอุจจาระออกมา เด็กทารกจะอุจจาระวันละหลายครั้งและจะปัสสาวะทุก 1-3 ชั่วโมง ความเปียกชื้นอาจไม่ได้สร้างความรำคาญให้กับทารกส่วนใหญ่ ดังนั้นคุณแม่อย่าคิดว่า ลูกคงจะร้องไห้หรือแสดงอาการไม่สบายตัวทุกครั้งที่ต้องการเปลี่ยนผ้าอ้อม ผ้าอ้อมแบบใช้แล้วทิ้งสามารถซึมซับความเปียกชื้นได้ดี ดังนั้นคุณแม่จึงไม่สามารถรู้สึกถึงความเปียกชื้นได้จนกว่าผ้าอ้อมจะซึมซับจนเต็ม เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ ควรตรวจสอบความเปียกชื้นของผ้าอ้อมสำเร็จรูปทุกๆ 2-3ชั่วโมงโดยใช้นิ้วมือสำรวจความเปียกชื้นค่ะ
การเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก ต้องเลือกผ้าอ้อมอย่างไร
การเลือกชนิดผ้าอ้อมที่ใช้กับลูกเป็นหนึ่งในหัวข้อที่คุณพ่อคุณแม่ถกเถียงกันมากที่สุดค่ะ ผ้าอ้อมแต่ละชนิดต่างก็มีข้อดีและข้อด้อยที่ต่างกันไป คุณแม่ควรพิจารณาว่าแบบไหนเหมาะสมกับความต้องการมากที่สุด ข้อดีของผ้าอ้อมผ้าก็คือ ราคาไม่แพง และคุณแม่บางคนรู้สึกว่า ผ้าอ้อมผ้าก่อให้เกิดผดผื่นน้อยกว่า นอกจากนั้นยังสามารถรีไซเคิลได้จึงส่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า แต่ผ้าอ้อมผ้าก็มีจุดด้อยในเรื่องความสามรถในการซึมซับและความไม่สะดวกในการใช้งาน และในขณะเดียวกันคุณแม่ก็ต้องไม่ลืมว่าการซักผ้าอ้อมผ้าบ่อยๆ ก็มีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อมเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อใช้น้ำยาซักผ้าขาวหรือผงซักฟอกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพค่ะ สำหรับผ้าอ้อมสำเร็จรูปจะมีจุดเด่นเรื่องความสามารถในการซึมซับที่ดีเยี่ยม และความสะดวกในการใช้งาน แต่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปก็สร้างปริมาณขยะที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนะคะ แม้ว่าคุณแม่จะพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนถึงชนิดผ้าอ้อมผ้าที่จะเลือกใช้แล้ว แต่ก็ควรเผื่อใจไว้ว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในภายหลัง ดังนั้นอย่าลงทุนซื้อผ้าอ้อมที่มีราคาแพงมากหรือในปริมาณที่มากเกินไป ให้พิจารณาประเด็นที่จะนำไปใช้ได้จริง เช่น คุณมีเครื่องซักผ้าหรือไม่ ให้ลองปรึกษาเพื่อนที่มีลูกเล็กๆ และดูว่าเพื่อนเลือกใช้แบบไหน เปรียบเทียบราคาของผ้าอ้อมผ้าและผ้าอ้อมสำเร็จรูปในช่วง 2-3 ปี ที่คุณจะต้องใช้ผ้าอ้อมชนิดนั้น หรืออาจคำนวณรวมไปถึงลูกคนที่สองหรือสามที่คุณแม่จะมีในอนาคตด้วยค่ะ แต่ถึงแม้ว่าคุณแม่จะเลือกใช้ผ้าอ้อมผ้า การใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปก็มีประโยชน์อย่างมากขณะเดินทางหรือในกรณีฉุกเฉินค่ะ
ข้อควรรู้ในการเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก
สิ่งที่คุณแม่ควรเตรียมพร้อมไว้ใกล้มือเมื่อคุณแม่ต้องการเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูก
- พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเปลี่ยนผ้าอ้อม ควรเป็นที่ที่มีพื้นผิวสะอาดและสามารถเช็ดล้างได้
- ผ้าอ้อมสำหรับเปลี่ยน (คุณแม่ควรเตรียมเข็มกลัดหากใช้ผ้าอ้อมผ้า)
- ถังขยะหรือถุงสำหรับทิ้งผ้าอ้อมใช้แล้ว
- ผ้านุ่มเช็ดทำความสะอาด (เบบี้ ไวพ์ หรือ ทิชชู่เปียก) ถ้าคุณแม่เลือกแบบที่มีส่วนผสมของเบบี้ โลชั่นก็จะช่วยให้ทำความสะอาดได้หมดจดยิ่งขึ้น อีกทั้งยังถนอมผิวบอบบางของลูกน้อยให้นุ่มชุ่มชื่นขึ้นค่ะ
- ครีมทาแก้ผื่นผ้าอ้อม หากลูกน้อยมีอาการของผดผื่น
- เสื้อผ้าชุดใหม่สำหรับเปลี่ยน หากมีปัสสาวะรั่วซึมจากผ้าอ้อม
- ของเล่นไว้ใช้เบี่ยงเบนความสนใจของลูกระหว่างที่คุณแม่เปลี่ยนผ้าอ้อม
ขั้นตอนในการเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก
- ให้ลูกนอนลงบนพื้นผิวที่เรียบ อ่อนนุ่มและปลอดภัย
- ถอดผ้าอ้อมโดยดึงแถบกาวขึ้น แล้วจากนั้นพับแถบกาวติดกับตัวมันเองเพื่อไม่ให้ติดตัวลูก
- ใช้ ทิชชูเปียกหรือสำลีก้อนชุบน้ำทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศโดยเช็ดจากหน้าไปหลัง
- วางผ้าอ้อมสะอาดใต้ตัวทารกและเช็ดตัวทารกให้แห้งด้วยผ้าสะอาด
- ทาครีมป้องกันผื่นผ้าอ้อม บางๆ เพื่อป้องกันก้นของลูกน้อยไม่ให้เกิด ผื่นผ้าอ้อม
- สวมผ้าอ้อมให้แน่นโดยดึงแถบกาวจากด้านหลังของผ้าอ้อมมาติดที่ด้านหน้า ผ้าอ้อมควรแนบสนิทกับตัวลูก แต่ไม่รัดแน่นจนเกินไป เพราะจะทำให้ลูกอึดอัดได้
- นำผ้าอ้อมสกปรกไปทิ้งและล้างมือ
การเปลี่ยนผ้าอ้อมแต่ละครั้ง คุณพ่อคุณแม่อย่าปล่อยให้ลูกอยู่ตามลำพังบนโต๊ะเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือพื้นผิวใดๆ ก็ตาม เพราะลูกน้อยอาจพลัดตกหรือกลิ้งตกลงมาได้ค่ะ และสำหรับพ่อแม่มือใหม่ควรเตรียมผ้าอ้อมไว้ให้มากๆ เนื่องจากเด็กแรกเกิด จำเป็นต้องใช้ผ้าอ้อมในปริมาณที่เยอะพอสมควรค่ะ ที่สำคัญก่อนและหลังเปลี่ยนผ้าอ้อม คุณพ่อคุณแม่จะต้องล้างมือให้สะอาดก่อนเสมอค่ะ การเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูก จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป Mamaexpert ขอเป็นกำลังใจให้ทุกๆบ้านจ้า...
บทความแนะนำเพิ่มเติม
1. ขั้นตอนการอาบน้ำเด็กที่ถูกต้อง
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team