โรคชิคุนกุนย่า
โรคชิคุนกุนย่าคืออะไร
ไข้ชิคุนกุนย่า อาจไม่คุ้นหูเพราะนานๆจะพบโรคนี้ ประเทศแทนซาเนียเป็นประเทศแรกที่ค้นพบโรคดังกล่าว ชิคุนกุนยา (Chikungunya) เป็นภาษามากอนดี (ประเทศแทนซาเนีย) แปลว่าตัวโค้งงอ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง มีผื่น ปวดข้อมากจนตัวโค้งงอ เลยตั้งชื่อโรคนี้ตามลักษณะอาการของผู้ป่วย
สาเหตุของการเกิดโรคชิคุนกุนย่า
สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนย่า ยุงลายเป็นพาหะนำเชื้อโรคนี้ เมื่อยุงลายตัวเมียกัด และดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น เชื้อโรคจะเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อนี้ไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นเกิดอาการของโรคนี้ขึ้น โดยระยะฟักตัวหลังได้รับเชื้อโดยทั่วไปประมาณ 1-12 วัน แต่ที่พบบ่อยประมาณ 2-3 วัน ระยะติดต่อ ระยะไข้สูงประมาณวันที่ 2 – 4 เป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก นอกจากยุงลายเป็นพาหะนำเชื้อร้ายแล้ว ยังพบว่าลิงในแถบแอฟริกา กักเก็บเชื้อไวรัสชนิดนี้ด้วยเช่นกัน
อาการของโรคชิคุนกุนย่า
อาการของโรคคล้ายๆกับไข้เลือดออก แต่ระยะเวลาการเกิดไข้โดยรวมจะสั้นกว่าไข้เลือดออก ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกายและอาจมีอาการคัน ร่วมด้วย พบตาแดงแต่ไม่ค่อยพบจุดเลือดออกในตาขาว ในผู้ใหญ่อาการที่เด่นชัดคืออาการปวดข้อ ซึ่งอาจพบข้ออักเสบได้ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาการปวดข้อจะพบได้หลายๆ ข้อเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ
จะแยกได้อย่างไรว่า เป็นไข้เลือดออกหรือเป็นโรคชิคุนกุนย่า
- ในโรคชิคุนกุนยา ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างฉับพลันกว่าในโรคไข้เลือดออกเดงกี ผู้ป่วยมักจะมาโรงพยาบาลเร็วกว่า ส่วนระยะของไข้สั้นกว่าในโรคไข้เลือดออกเดงกี ผู้ป่วยที่มีระยะไข้สั้นเพียง 2 วัน พบในโรคชิคุนกุนยาได้บ่อยกว่าในโรคไข้เลือดออกเดงกีโดยส่วนใหญ่ไข้ลงใน 4 วัน
- ถึงแม้จะพบจุดเลือดได้ที่ผิวหนัง และการทดสอบทูนิเกต์ให้ผลบวกได้ แต่ส่วนใหญ่จะพบจำนวนทั้งที่เกิดเองและจากทดสอบน้อยกว่าในโรคไข้เลือดออกเดงกี
- ไม่พบผื่นเลือดออกที่มีลักษณะวงขาวๆในโรคชิคุนกุนยา แต่พบผื่นแบบผื่นแดงนูนราบ และพบอาการตาแดงในโรคชิคุนกุนยาได้บ่อยกว่าในโรคไข้เลือดออกเดงกี
- พบอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและปวดข้อในโรคชิคุนกุนยาได้บ่อยกว่าในโรคไข้เลือดออกเดงกี
- ในโรคชิคุนกุนยา เนื่องจากไข้สูงฉับพลัน พบการชักร่วมกับไข้สูงได้ถึงร้อยละ 10-15
การรักษาโรคชิคุนกุนย่า
ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่จำเพาะเจาะจง การรักษาเป็นการรักษาแบบประคับประคอง เช่นให้ยาลดอาการไข้ ปวดข้อ และดูแลให้ผู้ป่วยพักผ่อนอย่างเพียงพอ
วิธีป้องกันโรคชิคุนกุนย่า
วิธีที่ดีที่สุดก็คือ การกำจัดยุงลายอันเป็นตัวพาหะนำโรคชิคุนกุนยา โดยหมั่นตรวจดูแหล่งน้ำภายในบ้าน เช่น บ่อ กะละมัง ชาม โอ่งน้ำ ตุุ่มและทุกจัดที่มีน้ำขังเพียงเล็กน้อยยุงก็สามารถวางไข่ได้ ควรหาฝาปิดให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงมาวางไข่ หรือให้ใส่ทรายอะเบทในอัตรา 1 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร ลงไปในน้ำก็จะสามารถป้องกันการวางไข่ของยุงลายได้ รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาฉีดพ่นหมอกควันตามอาคารบ้านเรือนที่มีแหล่งน้ำขังอยู่ เพื่อเป็นการป้องกันและกำจัดลูกน้ำยุงลาย พาหะของ ชิคุนกุนยา สวมใส่เสื้อผ้าที่ป้องกันไม่ให้ยุงกัด สำหรับเด็กแนะนำเลือกใช้โลชั่นทากันยุงสมุนไพร ออร์แกนิก หรือทำจากสมุนไพรปลอดสารเคมี
บทความแนะนำเพิ่มเติม
1. 5 โรคอันตรายในเด็ก ที่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวัง
อ้างอิง
1. สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข.ชิคุนกุนยา.เข้าถึงได้จาก http://www.boe.moph.go.th/fact/Chikungunya.htm .[ค้นคว้าเมื่อ 5 สิงหาคม 2561]
2. วิกิพีเดีย.ชิคุนกุนยา.เข้าถึงได้จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ชิคุนกุนยา .[ค้นคว้าเมื่อ 5 สิงหาคม 2561]