อาหารเสริมเด็ก วัย 6- 24 เดือน แม่มือใหม่จำเป็นต้องรู้

29 October 2015
67974 view

อาหารเสริมเด็ก



เพราะความต้องการสารอาหารต่างๆของลูกแต่ละช่วงวันต่างกัน คุณแม่จึงต้องมีความรู้ความเข้าใจในการเลือกสรร และคัดสรร เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารให้เพียงพอ โดยเฉพาะช่วงอายุ ทารกช่วงอายุ 0 - 2 ขวบแรก ร่างกายและสมองเติบโตเร็วมาก น้ำหนักจะเพิ่มขึ้น 4 เท่าเมื่อเทียบกับน้ำหนักแรกเกิด มีส่วนสูงเพิ่มขึ้นถึง 70 %  น้ำหนักสมองเพิ่มขึ้น 300 %


ความต้องการอาหารของเด็กวัน 0 – 2 ปี เทียบตามน้ำหนักตัวแล้วพบว่า

  • เด็กต้องการพลังงาน มากกว่าผู้ใหญ่ 1.5 เท่า
  • เด็กต้องการโปรตีน มากกว่าผู้ใหญ่ 1.8  เท่า
  • เด็กต้องการธาตุเหล็ก มากกว่าผู้ใหญ่ถึง 2 เท่า

แต่สิ่งที่คุณแม่ควรคำนึงมากที่สุดคือ ทารกมีขนาดกระเพาะเล็กกว่าผู้ใหญ่ถึง 5 เท่าเพราะฉะนั้น ทารกจึงต้องได้รับอาหารที่ดีที่สุด เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายทารก สำหรับทารกอายุ 0-6 เดือน ให้กินนมแม่เพียงอย่างเดียว และสามารถให้ลูกกินนมแม่ต่อไปจนอายุ 2 ปีหรือนานเท่าที่จะทำได้ เมื่อลูกอายุ 6 เดือนขึ้นไป จำเป็นต้องได้รับอาหารเสริมตามวัยที่มีคุณภาพดี มีสารอาหารครบถ้วน 5 หมู่ อย่างเพียงพอ ควบคู่ไปกับนมแม่ และประเภทอาหารต้องเริ่มไปทีละขั้น อย่าก้าวกระโดเพราะระบบย่อยอาหารของลูกอาจรับอาหารได้ไม่ทั้งหมด 


ให้อาหารลูกรักอย่างถูกต้องตามช่วงวัย 


ช่วงวัย  6 -7 เดือน อาหารของลูกที่เหมาะสม เป็นอาหารบดละเอียดบดอาหารให้ละเอียด หรืออาหารปั่น 
เมนูแนะนำได้แก่ เช่น  ข้าวกล้องและถั่วที่ต้มน้ำซุปผักที่อุ่นแล้ว โดยปั่นหรือครูดผ่านกระชอน กินวันละมื้อเดียว ในวันแรก เริ่มป้อนเพียง 1 ช้อนโต๊ะ เวลากินข้าวแล้วฝืดคอ หัดให้ลูกกินน้ำจากถ้วยหรือหลอดดูด หรือช้อนตักน้ำป้อน หลังกินอาหารแล้วตามด้วยนมแม่จนอิ่ม ค่อยๆ เพิ่มอาหารวันละ 1 ช้อนโต๊ะ อย่าเพิ่มเร็ว เดี๋ยวท้องอืด แล้วร้องกวนตอนกลางคืน แต่ถ้าลูกไม่อยากกิน ไม่บังคับ ให้หยุดป้อน แล้วค่อยให้ใหม่วันต่อมา จนกินได้ครบมื้อ ปริมาณ 5-7 ช้อนโต๊ะ นมมื้อนั้นจะเลื่อนการกินออกไปอีก 1-2 ชั่วโมง กรณียังไม่รู้ว่าแพ้อาหารหรือไม่ ควรให้กินมื้อเช้าหรือกลางวัน เพราะหากป้อนมื้อเย็น แล้วมีปัญหาแพ้อาหาร ลูกอาจมีอาการผิดปกติตอนกลางคืน ซึ่งสังเกตอาการได้ยากและต้องไปโรงพยาบาลเวลาฉุกเฉิน แต่ถ้ารู้ว่า ไม่มีอาการแพ้ อาจเปลี่ยนมาให้อาหารเป็นเวลาเย็น อาจมีประโยชน์ในแง่อาหารทำให้อิ่มนานขึ้น ลูกอาจหลับได้ยาวขึ้น

ช่วงวัย  7 เดือน อาหารจากปั่นเป็นบด เริ่มผสมเนื้อสัตว์ คุณแม่เริ่มใส่เนื้อสัตว์ลงในอาหาร บดละเอียด เริ่มเนื้อสัตว์ชนิดใหม่ทุกครั้งใช้ทีละอย่าง และใช้ซ้ำ 4-5 วันเพื่อตรวจสอบอาการแพ้ เนื้อสัตว์ที่แนะนำ ได้แก่ ไก่ หมู ปลาน้ำจืด เช่น ปลาช่อน ปลาดุก ปลานิล ปลาทับทิม ปลากราย ปลาเนื้ออ่อน ตับไก่ ตับหมู ไข่แดง (ต้องต้มให้สุกเต็มที่ หากเป็นยางมะตูม หรือ ไข่ลวกหรือไข่ที่ตอกลงไปในโจ๊ก ซึ่งสุกไม่เต็มที่ เชื้อโรคไม่ถูกทำลาย จะทำให้ถ่ายเป็นมูกเลือดได้) ปริมาณที่ใส่ต่ออาหาร 1 มื้อ คือ 1 ช้อนโต๊ะ ไม่ควรมากกว่านี้ เพราะไตจะทำงานหนัก ส่วนไข่ขาว และอาหารทะเลให้เริ่มหลังจากอายุ 1 ขวบ เนื่องจากแพ้ง่าย หากเริ่มเร็วเกินไป อาจไปกระตุ้นทำให้เกิดปัญหาแพ้ภายหลังได้ คุณแม่อาจจะเริ่มผลไม้ปั่นละเอียด(เติมน้ำลงไปด้วย จะได้ไม่ฝืดคอและไม่หวานเกินไป) เป็นอาหารว่างอีก 1 มื้อ ปริมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะ เช่น แอปเปิ้ล สาลี่ แคนตาลูป ชมพู่ แตงไทย แตงญี่ปุ่น ลูกพลับ ลูกพีช ลูกแพร์ พุทรา กล้วย มะม่วงสุก มะละกอสุก (หากกินผัก ผลไม้ สีเหลือง สีส้มมากๆ อาจทำให้ผิวสีเหลือง ไม่อันตราย กินต่อไปได้ ถ้าหยุดกินแล้ว กว่าจะหายเหลือง จะใช้เวลานานประมาณ 6 เดือน) ส่วนผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะนาว กีวี สัปปะรด มะเขือเทศ บลูเบอรี่ สตรอเบอรี่ ให้เริ่มหลัง 1 ขวบ เนื่องจากแพ้ง่าย
ช่วง 2 ขวบแรกขนมไม่จำเป็น จะทำให้ลูกติดใจรสชาติ ไม่ชอบกินข้าว ฟันผุ เป็นโรคอ้วนได้

ช่วงวัย 8 – 9 เดือน เพิ่มปริมาณและเนื้ออาหารหยาบขึ้น ตุ๋นให้นุ่ม  วัยนี้ระบบย่อยอาหารเริ่มดีแล้ว คุณแม่จึงสามารถเพิ่มข้าวเป็นสองมื้อ อาหารบดหยาบ แต่ต้องตุ๋นให้นุ่มแต่ต้องดูด้วยว่าลูกสามารถกินได้หรือไม่ ถ้าเคี้ยวแล้วกลืนได้ ไม่ติดคอ ไม่คายออกมา ไม่อมเอาไว้ในปากโดยไม่กลืน แสดงว่ากินได้ แต่ถ้ายังไม่ได้ ให้กลับไปบดละเอียดเหมือนเดิม แต่ทำให้ข้นมากขึ้นเล็กน้อย แล้วเดือนหน้าค่อยลองป้อนใหม่

ช่วงวัย 11 -12 เดือน เปลี่ยนอาหารตุ๋นเป็น แบบต้มแทน หลังจากเริ่มอาหารต้มแล้วให้ประเมินด้วยว่าลูกกินได้หรือไม่ เด็กหลายคนเริ่มกินข้าวสวย และข้าวเหนียวได้ตั้งแต่อายุ 1 ขวบ เริ่มปรุงรสอ่อนๆได้ แต่ต้องดูด้วยว่า ไม่มีปัญหาท้องผูก หรือ ถ่ายออกมาเป็นอาหารไม่ย่อย เนื่องจากการกินอาหารที่หยาบมากขึ้น

ช่วงวัย 12 เดือนขึ้นไป เริ่มข้าวสวย ข้าวเหนียว ลูกสามารถรับประทานข้าวสวย ข้าวเหนียวได้ แต่คุณแม่ตองประเมินรับบการย่อยขอลูกด้วยถาหากท้องอืดต้อง งด และสอนให้ลูกเคียวอาหารให้ละเอียดมากขึ้น ในช่วงวัย1 ขวบ ลูกรับประทานอาหาร 3 มื้อ การดื่มนมของลูกจึงลดลงเป็นปกติ และลูกวัยนี้สามารถดื่มนม UHT ได้แล้ว ควรเลิกขวดอย่างจริงจังให้ลูกดูดนมจากหลอดและแก้วแทน สำหรับคุณแม่ที่ยังให้นมแม่อยู่ ยังสามารถให้ได้อย่างต่อเนื่องเพราะคุณค่าของนมแม่ไม่ได้ลดลง ยังเป้นนมที่ดีที่สุดในโลกเช่นเดิม แต่ลูกอาจดื่มนมแม่ลดลง เพราะอิ่มข้าว ส่วนการปรุงรสชาติอาหารแนะนำให้เริ่มที่2 ขวบขึ้นไปจะดีที่สุดค่ะ 

ขอบคุณข้อมูล : พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด  http://www.real-parenting.com/