น้ำนมพุ่ง
น้ำนมพุ่ง คุณแม่หลายท่านที่กำลังมีปัญหาเกี่ยวกับน้ำนมไหล พุ่งแรง จนทำให้ลูกกลืนไม่ทัน มีอาการสำลักและเบือนหน้าหนีออกจากเต้าไม่ยอมดูด อาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าตัวเองมีน้ำนมน้อยลูกจึงไม่ยอมดูด เป็นสาเหตุหนึ่งของการหันไปพึ่งนมผสมเสริม คุณแม่ที่มีน้ำนมพุ่งจะพบว่าพอลูกถอนปากเมื่อเริ่มดูดนมจะมีน้ำนมพุ่งแรงใส่ หน้าลูกหรือเต้านมอีกข้างมีน้ำนมพุ่งออกแรงด้วย การที่มีน้ำนมพุ่งมีสาเหตุมาจากการตอบสนองต่อฮอร์โมนอ๊อกซิโทซินซึ่งช่วยในการหลั่งน้ำนมออกจากท่อน้ำนมที่มีมาก ทำให้มีน้ำนมพุ่งแรงออกจากหัวนม หรือคุณแม่ที่มีน้ำนมมากกว่าปกติ ทางแก้ไขคือต้องทำให้น้ำนมไหลช้าลง วันนี้ Mama Expert มีเทคนิค 8 ประการสำหรับการทำให้น้ำนมไหลช้าลง ดังนี้
.
.
น้ำนมพุ่งแรงรับมืออย่างไรดี
1. อาศัยท่าในการให้นม ให้แม่อยู่ในท่านอนหงาย ให้ลูกนอนคว่ำบนอกแม่ หรือใช้ท่ากึ่งนั่งกึ่งนอนเพราะจะทำให้น้ำนมไหลช้าลง เมื่อลูกดูดไปได้สักพัก น้ำนมจะไหลช้าลงเป็นปกติ คุณแม่ก็สามารถเปลี่ยนกลับท่าอื่นได้
2.ใช้ นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้บีบบริเวณลานนม หรือใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางคีบเหมือนคีบบุหรี่บริเวณลานนมเพื่อกดท่อน้ำนมทำ ให้น้ำนมไหลช้าลง แต่เมื่อน้ำนมไหลช้าลงแล้ว ก็เปลี่ยนมือเป็นท่าประคองเต้านมได้
3.บีบน้ำนมออกเล็กน้อยก่อนให้ลูกดูด แต่อย่าบีบออกเยอะ มิฉะนั้น เต้านมจะสร้างน้ำนมมากขึ้น น้ำนมอาจพุ่งมากขึ้น
ถ้าใช้ 3 วิธีข้างต้นแล้วยังไม่ได้ผล ก็ยังมีวิธีอื่นอีก เช่น
4. ให้ลูกดูดนมเพียงเต้าเดียวจนอิ่ม อีกเต้าหนึ่งไม่ให้ดูด แต่ถ้าคัดก็บีบออกเล็กน้อยพอให้อาการคัดทุเลา อย่าบีบออกหมด จากนั้นค่อยทำแบบเดียวกันกับอีกเต้าหนึ่งเพื่อส่งสัญญาณไปที่สมองว่าร่างกายไม่ต้องการใช้มาก ก็จะสร้างน้ำนมน้อยลง หลัง 4-7 วัน ถ้ายังไม่ดีขึ้น อาจทำแบบนี้ต่อโดยยืดเวลาให้นานขึ้นก่อนจะเปลี่ยนเต้า เช่นยืดเวลาจาก 3 เป็น 4 ชั่วโมง ถ้าเป็นมากๆ อาจยืดถึง 6 ชั่วโมงก็ได้
5. ในรายที่แม่น้ำนมพุ่ง และลูกขี้หงุดหงิด ให้ลูกดูดในช่วงที่ลูกเพิ่งตื่นใหม่ๆ ยังไม่ตื่นเต็มที่ ยังไม่ทันจะหงุดหงิด เวลาดูด จะดูดไม่แรงนัก ก็กระตุ้นน้ำนมน้อยลง
6. การปรับท่าให้นม ถ้าลูกไม่ชอบนอนคว่ำ อาจเอาแค่เอนๆ ไปด้านหลังโดยให้ปากและลำคอของลูกอยู่ในระดับสูงกว่าหัวนมแม่ เพื่อลดแรงพุ่งของน้ำนม
7. อาจให้นอนตะแคงด้วยกัน ในท่านี้ เวลานมออกเยอะมาก ลูกอาจคายปากเล็กน้อยให้น้ำนมแม่ไหลออกข้างมุมปาก ลดการสำลักลง
8. อาจใช้แผ่นพลาสติกยางที่ครอบเต้านม ที่เรียกว่า nipple shield ครอบบนเต้านมแม่ก่อนให้ลูกดูด วิธีนี้จะลดแรงดูดต่อเต้านมลง แต่ไม่ควรใช้นาน มิฉะนั้นลูกอาจจะติดได้ ที่สำคัญเด็กมักจะได้ลมเข้าไปเยอะ อย่าลืมไล่ลมให้เลอด้วยนะคะ
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
1. 10 ข้อดีของนมแม่ ที่คุณแม่ไม่รู้ไม่ได้
2. 12 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับนมแม่
3. ลูกไม่ยอมดูดเต้า ลูกปฏิเสธเต้า ทำอย่างไร
เรียบเรียงโดย พว. นฤมล เปรมปราโมทย์