ตกขาว
ตกขาวคืออะไร?
ตกขาว คือ สิ่งคัดหลั่งจากอวัยวะในอุ้งเชิงกรานไม่ว่าจะเป็นจากช่องคลอด ปากมดลูก หรือแม้กระทั่งจากตัวมดลูกเองตกขาวมีทั้งปกติและไม่ปกติ ลักษณะของตกขาวปกติคือตกขาวจะมีลักษณะเปลี่ยนแปลงตามรอบประจำเดือนโดยขึ้นกับปริมาณของฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตโรน (Progesterone) จะมีลักษณะใสไม่มีสีหรือเป็นสีขาว ไม่มีกลิ่นเหม็น ปริมาณไม่มากและไม่ก่ออาการคัน ตกขาวเป็นเรื่องทีผู้หญิงต้องให้ความสำคัญ เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนว่า ร่างกายคุณอาจตกอยู่ในอันตราย
ตกขาวผิดปกติ
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสมดุลของแบคทีเรียในช่องคลอด กลิ่น สี และลักษณะของตกขาวจะเปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลดังกล่าว ได้แก่
- การใช้ยาแก้อักเสบหรือสเตียรอยด์
- การติดเชื้อแบคทีเรีย Bacterial Vaginosis ซึ่งพบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์
- การใช้ยาคุมกำเนิด
- เบาหวาน มะเร็งปากมดลูก
- การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน เทียม(Chlamydia )หรือ หนองในแท้( Gonorrhea)
- การทำความสะอาดด้วยสบู่ที่เป็นด่างมากเกินไป
- การติดเชื้อรา ติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ปีกมดลูก รังไข่
- การติดเชื้อ Trichomoniasis จากการมีเพศสัมพันธ์
- การอักเสบของช่องคลอด
- การทำออรัลเซ็กส์ โดยไม่ทำความสะอาดช่องปาก
- การสวมใส่กางเกงในรัดแน่น อากาศไม่ถ่ายเท
- การพักผ่อนไม่เพี่ยงพอนอนดึก ร่างกายอ่อนเเอ เชื้อประจำถิ่นบริเวณช่องคลอดทำงานได้น้อยลง
สีและลักษณะตกขาวที่อาจพบได้
- ปนเลือดหรือมีสีน้ำตาล ประจำเดือนมาผิดปกติไม่ตรงรอบ หรือที่พบได้ไม่บ่อยคือเกิดจากมะเร็งโพรงมดลูกหรือมะเร็งปากมดลูก อาจมีอาการปวดท้องน้อยหรือมีเลือดออกผิดปกติร่วมด้วย
- ขุ่นมีสีเหลืองอาจมีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น Gonorrhea เลือดออกระหว่างรอบเดือน หรือมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- สีเหลือง เขียว มีฟองปน อาจเกิดจากการติดเชื้อปรสิต Trichomoniasis มักมีอาการปวดและคันเวลาปัสสาวะร่วมด้วย
- สีชมพู พบได้ในหญิงหลังคลอด เนื่องจากการลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก
- สีขาว หนาเป็นก้อน เกิดจากการติดเชื้อราจนมีอาการบวม แดง คันบริเวณอวัยวะเพศ เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์
- สีขาว เทา หรือเหลือง กลิ่นคาวเหมือนปลา เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย จะมีอาการคัน แสบ แดง และบวมบริเวณอวัยวะเพศ
เมื่อทราบสาเหตุของการทำให้ตกขาวของคุณผิดปกติแล้ว คุณผู้หญิงควรหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพช่องคลอดให้มากขึ้น สำหรับวิธีรักษา แนะนำให้พบสูตินรีแพทย์ เพื่อแยกโรคก่อน เพื่อรับยาที่ถูกต้องกับเชื้อที่ตรวจพบ
บทความแนะนำเพิ่มเติม
1. ตกขาวขณะตั้งครรภ์ อันตรายรือไม่
2. ตกขาวผิดปกติ ตกขาวมีกลิ่น ตกขาวสีน้ำตาลแก้ไขอย่างไรดี?
3. ลดอาการปวดประจำเดือนด้วยกล้วยหอม
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team