อยู่ไฟหลังคลอดแบบต่างๆ และข้อควรรู้ก่อนอยู่ไฟหลังคลอด

08 December 2011
67782 view

 อยู่ไฟหลังคลอด

อยู่ไฟหลังคลอด เป็นการดูแลตนเองด้วยการอบสมุนไพร การอบไอน้ำสมุนไพร การประคบสมุนไพร การเข้ากระโจม และการทับหม้อเกลือ นอกจากนั้นแล้วยังมีข้อห้ามในการรับประทานอาหาร งดอาหารแสลงต่าง ๆ เพราะมีเหตุผลและความเชื่อว่าจะทำให้สุขภาพทั้งแม่และเด็กดีแข็งแรง การส่งเสริมสุขภาพคุณแม่หลังคลอดด้วยการแพทย์แผนไทยหลากหลายวิธี ไม่ได้มีเฉพาะการอยู่ไฟเพียงอย่างเดียว แต่คุณแม่หลังคลอดควรทำเมื่อสภาพร่างกายพร้อม คุณแม่คลอดธรรชาติหลังออกจากโรงพยาบาลสามารถทำได้เลย ส่วนคุณแม่ผ่าตัดคลอดควรระวังเรื่องแผล ควรให้แผลหายตามปกติ 30-45 วันก่อนค่อยอยู่ไฟ ส่วนวิธีการอยู่ไฟต่าง ๆ มีตามนี้ค่ะ

อยู่ไฟหลังคลอด แบบโบราณ

การอยู่ไฟ หมายถึง การที่หญิงหลังคลอดนอนบนกระดานแผ่นเดียว มีไฟก่อไว้ข้างล่างพอร้อน เป็นระยะเวลา 7-14 วัน บางรายอาจจะอยู่เพียง 3 วัน หรือนานถึง 1 เดือน การอยู่ไฟเป็นประเพณีไทยโบราณดั้งเดิมซึ่งหญิงหลังคลอดจะต้องอยู่ไฟทุกคน การเตรียมอยู่ไฟ เช่น การนำไม้ไผ่มาล้อมบ้านเพื่อป้องกันผีกระสือ ใช้ใบหนาดหรือไพลเพื่อป้องกันผีร้าย ผีป่า และผีบ้านต่าง ๆ ในช่วงอยู่ไฟหญิงหลังคลอดจะอาบน้ำต้มสมุนไพร เพื่อชำระร่างกายให้สะอาดทาตัวด้วยขมิ้น เพื่อป้องกันผิวหนังอักเสบ เป็นการบำรุงผิวพรรณไปในตัว

อุปกรณ์ของการอยู่ไฟหลังคลอดแบบโบราณ

  • แคร่สำหรับการนอน (กระดานไฟ) ซึ่งนิยมกระดานแผ่นเดียว โดยมีเหตุผลให้หญิงหลังคลอดนอนนิ่ง ๆ เพื่อให้แผลมีเย็บที่มีการฉีกขาดขณะคลอดหายสนิทดีเร็วขึ้น
  • พื้นสำหรับเติมเชื้อเพลิง
  • แคร่สำหรับก่อไฟ
  • อ่างน้ำพร้อมกระบวยสำหรับตักน้ำพรมไม่ให้ไฟร้อนเกินไป

ประโยชน์ของการอยู่ไฟ คือ ช่วยให้หญิงหลังคลอดได้พักผ่อน และได้รับความอบอุ่น ทำให้น้ำคาวปลาถูกขับออกมา ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น นอกจากนี้ความร้อนช่วยกระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก ช่วยให้มารดามีสุขภาพแข็งแรง ช่วยให้แผลฝีเย็บแห้งและหายเร็วขึ้น

อยู่ไฟหลังคลอด ด้วยการอาบสมุนไพร

มีการใช้สมุนไพรสดหรือแห้งหลายชนิดมาต้มกับน้ำแล้วนำน้ำมาอาบ การอาบสมุนไพรขนานแท้และดั้งเดิมจะใช้ร่วมกับการประคบเปียก สมุนไพรที่ใช้ในการนำมาต้มอาบใช้เหมือนกับสมุนไพรประคบ หรืออบสมุนไพรโดยปรับตามความเหมาะสม การอาบสมุนไพรช่วยให้ร่างกายสดชื่น ผิวหนังสะอาด ลดอาการคัน ลดอาการหวัด คัดจมูก

อยู่ไฟหลังคลอด โดยการประคบสมุนไพร

อยู่ไฟหลังคลอดโดยการประคบสมุนไพร หมายถึง การนำสมุนไพรสดหรือแห้งหลายชนิดมาโขลกคลุกรวมกันห่อเป็นลูกประคบนำมาผ่านไอความร้อนจากนั้นนำมาประคบบริเวณหลัง ท้อง และขา สมุนไพรที่ใช้ประคบในหญิงหลังคลอด จะประคบด้วยสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหยเมื่อถูกความร้อน เช่น ไพล ขมิ้นชัน ตะไคร้ มะกรูด การบูร ประโยชน์ของการประคบด้วยสมุนไพรในหญิงหลังคลอด ได้แก่ ลดการเป็นตะคริว ลดการช้ำบวม ลดการอักเสบ กระตุ้นให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น และช่วยคลายกล้ามเนื้อ แก้ปวดเมื่อย

อยู่ไฟหลังคลอด โดยการเข้ากระโจม

คือ การนำสมุนไพรสดหรือแห้งหลายชนิดมาต้มในกระโจมเพื่อให้ไอน้ำที่ได้จากการต้ม ซึ่งจะต้องอยู่ในที่มิดชิดเพื่อให้ร่างกายได้รับไอน้ำอย่างทั่วถึง ในปัจจุบันจะมีการปรับประยุกต์ใช้เพื่อให้สะดวกขึ้น เป็นการอบสมุนไพรในตู้อบสำเร็จรูปหรือห้องอบสมุนไพร ส่วนสมุนไพรที่ใช้จะใช้เหมือนกับการอบไอน้ำสมุนไพร

ตัวอย่างกระโจมแบบชั้นเดียว เหมาะสำหรับใช้อบตัวหลังคลอดโดยเฉพาะ มาพร้อมสมุนไพรไทยจากธรรมชาติ การอบตัวในกระโจมด้วยสมุนไพร มีความสำคัญต่อคุณแม่หลังคลอดเป็นอย่างมาก เพราะมีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค ช่วยควบคุมน้ำหนัก ภูมิแพ้ กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตและน้ำเหลือง ขับสารพิษในร่างกายออกทางผิวหนัง ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง ลดอาการปวดเมื่อย ลดการบาดเจ็บ ของข้อต่อและกล้ามเนื้อ ทำให้นอนหลับสบาย ตัวกระโจมใหญ่ ออกแบบและตัดเย็บอย่างดี มีช่องระบายอากาศ สำหรับควบคุณอุณหภูมิภายในกระโจมและความชื้น ไม่ทำให้รู้สึกอึดอัด แม้ผู้ที่ไม่เคยอบอบตัวมาก่อน โครงสร้างของกระโจมทำจากวัสดุอย่างดี มีน้ำหนักเบา ไม่ขึ้นรา ไม่เป็นสนิม ซัก รีดทำความสะอาดได้

อยู่ไฟหลังคลอด ด้วยการอบไอน้ำสมุนไพร

การอบไอน้ำสมุนไพร หมายถึง การประยุกต์ใช้จากวิธีโบราณซึ่งใช้กับการเข้ากระโจมเพียงแต่แทนที่จะต้มสมุนไพรในกระโจมก็มาต่อท่อเอาไอน้ำสมุนไพรจากหม้อต้มขนาดมาตรฐานเข้ามาในห้องอบสมุนไพรซึ่งปลอดภัยและสะอาดกว่า

สมุนไพรที่ใช้ในการอยู่ไฟหลังคลอด ด้วยการอบไอน้ำมี 4 กลุ่ม คือ

  1. สมุนไพรที่มีกลิ่นหอม ซึ่งมีน้ำมันหอมระเหยช่วยรักษาโรคผิวหนัง ปวดเมื่อย อาการหวัดคัดจมูก เช่น ไพล ขมิ้นชัน มะกรูด
  2. สมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว กลุ่มนี้จะมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ ช่วยชะล้างสิ่งสกปรกและเพิ่มความต้านทานโรคให้กับผิวหนัง เช่น ใบมะขาม และใบหรือฝักส้มป่อย
  3. เป็นสารหอมที่ระเหิดได้เมื่อถูกความร้อน เช่น พิมเสน การบูร ช่วยแต่งกลิ่น บำรุงหัวใจ ทำให้สดชื่น
  4. สมุนไพรที่ใช้เฉพาะโรค เช่น ผื่นคัน ใช้เหงือกปลาหมอ ปวดเมื่อยใช้เถาวัลย์เปรียง กระวาน แก้เจ็บตา ตาแฉะ เกสรทั้ง 5 แต่งกลิ่นช่วยระบบการหายใจ

อยู่ไฟหลังคลอด โดยการทับหม้อเกลือ

การทับหม้อเกลือ หมายถึง การนำเกลือสมุทรใส่หม้อตั้งไฟให้ร้อน แล้วมาวางบนสมุนไพรที่เตรียมไว้ ห่อผ้าแล้วนำมาประคบตามอวัยวะต่าง ๆ ของหญิงหลังคลอด

คลิปอยู่ไฟหลังคลอด โดยการทับหม้อเกลือ

ข้อควรระวังในการอยู่ไฟหลังคลอด โดยการทับหม้อเกลือ

  1. ห้ามทำกรณีที่มดลูกยังลอยตัว ต้องรอให้มดลูกเข้าอู่ก่อนหรือหลังคลอดประมาณ 2 สัปดาห์
  2. การคลอดโดยวิธีผ่าตัด ทำหมัน ห้ามทับหม้อเกลือ หรือควรจะรอให้เกิน 1 เดือน
  3. ห้ามทำในรายที่มีไข้
  4. ห้ามรับประทานอาหารหนักก่อนทับหม้อเกลือ

ประโยชน์ของการทับหม้อเกลือได้แก่ ทำให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็ว ลดไขมันหน้าท้อง บรรเทาอาการปวดเมื่อย กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต และ ทำให้น้ำคาวปลาไหลสะดวกการทับหม้อเกลือควรทำติดต่อกัน 3-5 วัน ครั้งละไม่เกิน 2 ชั่วโมง และควรทำในตอนเช้า แต่เมื่อสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบันคนไทยจะเปลี่ยนไปจากเดิมไปมากก็ตาม แต่ยังมีหญิงคลอดทั้งในเมืองและชนบทใช้วิธีการส่งเสริมสุขภาพหลังคลอดด้วยการแพทย์แผนไทยอยู่มาก และส่วนใหญ่พบว่าสุขภาพหญิงหลังคลอดดีขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจแข็งแรง ปัจจุบันจึงได้มีนักวิจัยจำนวนมากที่หันมาศึกษาวิจัยการส่งเสริมสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทยเพื่อเป็นข้อมูลยืนยันทางวิทยาศาสตร์และเป็นความหวังว่าในอนาคตคนรุ่นใหม่คงจะได้ใช้การแพทย์แผนไทยเป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานต่อไป

บทความแนะนำเพิ่มเติมสำหรับคุณแม่

1. 13อาการผิดปกติหลังคลอด ที่ต้องพบแพทย์

2. คุมกำเนิดหลังคลอดแบบไหนคลิกเลย

3. เมนูแม่หลังคลอด

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team