ลูกร้องไห้กลางคืน ลูกกรีดร้อง ฝันร้ายกลางดึก ทำอย่างไร?

21 November 2017
104468 view

ลูกร้องไห้กลางคืน

.

.

ปัญหาการนอนของเจ้าตัวเล็กที่คุณพ่อคุณแม่พบได้บ่อยๆคือการร้องไห้ในเวลากลางคืน คุณแม่หลายๆคนพลอยเครียดไปด้วยเพราะไม่รู้จะทำอย่างไรเวลาลูกร้อง อาการร้องกรี๊ดดังกล่าวเป็นการฝันร้ายหรือไม่ เป็นอีกหนึ่งคำถามในใจของคุณแม่  ปัญหาการหลับนอนของลูกน้อย ต้องรีบแก้ไขและต้องแก้ไขให้ตรงจุดและถูกวิธีเนื่องจากส่งผลต่อพัฒนาการด้านการเจริญเติบโต  จากการศึกษาวิจัยทางการแพทย์พบว่าเด็กที่มีปัญหาการนอนหลับ จะมีความสูงต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เพราะการนอนดึก นอนไม่หลับ ไปลดการหลั่งของฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายเจริญเติบโต (growth hormone)ได้ค่ะ

ทำไมลูกร้องไห้กลางคืน

อาการกรีดร้อง หรือร้องเหมือนตกอกตกใจกลัวอะไรซักอย่าง เป็นปัญหาหรือไม่ คำตอบคือ เป็นปัญหาค่ะ ผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญและแก้ไขให้สำเร็จ พฤติกรรมร้องของเด็กดังกล่าวพบได้บ่อย ในเด็กอายุ 2- 4 ปีการแสดงออก เด็ก มักกรีดร้องเหมือนร้องตื่นตกใจ บางคนหลับหูหลับตาร้อง บางคนมีเหงื่อออก หัวใจเต้นแรง ช่วงเวลาการเกิดอาการดังกล่าว คือช่วงแรกของการนอนหลับ หลังการหลับไม่นาน เพราะเป็นช่วงหลับตื้นของเด็ก คุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าใช่อาการฝันร้ายหรือไม่ คำตอบคือไมใช่ค่ะ แตกกต่างกัน ซึ่งจะพูดถึงในหัวข้อต่อไป พ่อคุณแม่หลายคนพอเห็นลูกร้องตกใจตื่นกลางดึกก็มักรีบอุ้มขึ้นมากอดหรือเขย่าลูกให้ตื่น เป็นการกระทำที่ผิดค่ะ ไม่สมควรอย่างยิ่งเนื่องจาก การร้องแบบนี้เกิดในช่วงของการนอนที่เรียกว่า Non REM Sleep หมายถึงช่วงที่เด็กจะจดจำเหตุการณ์อะไรไม่ได้ในระหว่างนั้น เมื่อเด็กถูกคุณพ่อคุณแม่เขย่าตัวปลุกให้ตื่นขึ้นมา ก็จะยิ่งตกใจ

สาเหตุของลูกร้องไห้กลางคืน

เมื่อลูกน้อยของคุณแม่ตื่นกลางคืนแล้วร้องไห้งอแง เรื่องนี้อาจจะฟังดูเหมือนไม่ใช่ปัญหาใหญ่แต่อย่างใด แต่ก็กวนใจคุณพ่อคุณแม่ได้พอสมควรเลยทีเดียวค่ะ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ตกกลางคืนทีไรเจ้าเบบี๋ก็หลับๆตื่นๆ ร้องไห้งอแงทุกที บางบ้านถึงกับหอบลูกไปหาหมอด้วยอาการตกใจ กลัวเรื่องเร้นลับที่ทำให้ลูกน้อยตื่นกลางดึกมาร้องไห้ Mama Expert จึงศึกษาข้อมูล รวบรวมสาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยร้องไห้ในช่วงเวลากลางคืนมาฝากคุณพ่อคุณแม่ เพื่อคลายความกังวลใจซึ่งมีสาเหตุหลักๆ ดังนี้

1. ลูกร้องไห้กลางคืน เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ

เมื่อลูกน้อยเจ็บป่วย ไม่ว่าจะเป็นอาการไม่สบายตัว หรือผดผื่นคัน แมลงสัตว์กัดต่อย ก็เป็นสาเหตุทำให้ลูกน้อยของคุณแม่ต้องตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วร้องไห้งอแง หากการร้องของลูกน้อยเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ในตอนกลางคืน คุณแม่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปอุ้มขึ้นมาจากที่นอน เปิดไฟให้สว่าง หรือไม่จำเป็นต้องให้นมมื้อดึก เพราะจะกลายเป็นการสร้างเงื่อนไขความเคยชินให้กับลูกน้อย (ร้องไห้แล้วแม่ต้องอุ้ม) แต่คุณแม่ควรให้ลูกได้หลับด้วยตัวเอง หรือปลอบโยนด้วยการแตะเบาๆ เพื่อให้ลูกรู้ว่าคุณแม่อยู่ใกล้ๆ แต่เมื่อลูกน้อยร้องไห้กลางดึกเพราะเป็นผลจากการเจ็ยป่วย คุณแม่ต้องรีบเข้าไปดูแลและรีบหาวิธีรักษา เช่น เมื่อลูกน้อยไข้สูง คุณแม่ก็ต้องลดไข้ลูกด้วยด้วยการเช็ดตัวหรือไห้ยา ถ้าลูกน้อยร้องไห้เพราะผดผื่นคัน คุณแม่ก็ต้องหาวิธีแก้ไขอาการคันเหล่านั้นให้โดยเร็ว เพื่อที่จะให้ลูกน้อยได้นอนหลับต่อได้ตามปกติ แต่ถ้าคุณแม่แก้ไขทุกๆวิธีแล้วลูกน้อยยังไม่หยุดร้อง ควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อหาสาเหตุและรักษาต่อไปค่ะ

2. ลูกร้องไห้กลางคืนเนื่องจากฝันร้าย

อาการฝันร้ายในเด็ก (Nightmare) เด็กหรือผู้ใหญ่มีการฝันรายได้เช่นกันค่ะ ฝันร้ายของเด็กมักเริ่มเกิดในช่วงอายุ 3-6 ปี เป็นวัยที่ลูกเข้าโรงเรียนอนุบาลแล้ว ช่วงวัยดังกล่าวมักมีเรื่องของจินตนาการเข้ามาเกี่ยวข้องตามวัย เพราะเป็นวัยของจินตนานการ เด็กวัยนี้มีจินตนาการค่อนข้างสูง ฝันร้ายมักเป็นเรื่องตื่นเต้นน่ากลัว เช่น หนีผี ปีศาจ ตกจากที่สูง จมน้ำ หรือเรื่องความตาย อาการฝันร้ายจะเกิดในช่วง REM Sleep หมายถึงช่วงหลับของเด็กที่สามารถจดจำเหตุการณ์ได้ ช่วงเวลาการเกิดก่อนเช้า ตี4 ตี5 ซึ่งแตกต่างจากการร้องตกใจกลางคืน(Sleep terror) ซึ่งมักเกิดช่วงหัวค่ำ หลังจากนอนไม่นาน

วิธีแก้ไขเมื่อลูกฝันร้าย คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องตกใจค่ะ เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่ปลอบลูกและทำให้ลูกรู้สึกสบาย พอลูกตื่นในช่วงกลางวันก็ลองถามเกี่ยวกับความฝันเมื่อคืน ให้ลูกเล่าเรื่องฝันร้ายเมื่อคืนให้ฟัง หรืออาจจะลองอ่านเรื่องเล่า อ่านนิทานต่าง ๆ ที่ทำให้ลูกลืมฝันร้ายแย่ ๆ ไปได้ค่ะ

3. ลูกร้องไห้กลางคืนเพราะนอนละเมอ

การนอนละเมอ คือ การพูดหรือทำกิริยาอาการต่างๆ โดยไม่รู้ตัวในขณะที่กำลังนอนหลับ และเมื่อตื่นขึ้นมาก็จำอะไรไม่ได้ โดยการนอนละเมอ อาจมีสาเหตุจาก การที่ลูกน้อยได้ทำกิจกรรมในช่วงกลางวัน ที่น่าตื่นเต้น หรือน่าหวาดกลัว ทำให้ลูกน้อยจำฝังใจแล้วเก็บไปนึกถึงในยามหลับ หรืออาจมาีสาเหตุมาจาก การพัฒนาของระบบประสาท ซึ่งจะเกิดขึ้นเฉพาะกับเด็กบางคน ที่ระบบประสาทยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ จึงทำให้ละเมอตื่นกลางคืน มาร้องไห้งอแง

ปัญหาการนอนละเมอในเด็ก สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ
1. ละเมอฝันผวา (night terror) ส่วนใหญ่จะเกิดในเด็กอายุ 4-7 ปี อาการสำคัญคือ ตกใจตื่นขึ้นอย่างฉับพลัน บางครั้งก็หวีดร้องด้วย ซึ่งจะแตกต่างจากฝันร้ายตรงที่เด็กจะจดจำอะไรไม่ได้เลย กรณีนี้มักไม่เกี่ยวกับสิ่งกระตุ้น แต่เกิดจากระบบประสาทของเด็กยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ทำให้การจัดเรียงข้อมูลในสมองทำงานไม่เป็นระเบียบ อาการจะเกิดขึ้นในวันที่เด็กมีความเครียด แต่ไม่ใช่เพราะเด็กมีปัญหาทางอารมณ์ การปลุกให้ลูกตื่นจากละเมอฝันผวาหรือพยายามคุยกับเขาในช่วงนั้นไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เพราะอาจยิ่งทำให้มีอาการนี้นานขึ้น เช่น แทนที่ลูกจะตื่นมาร้องแค่ 5 นาที ต่อไปอาจจะกินเวลาถึง 15 นาทีได้ วิธีที่ควรทำก็เพียงแต่อุ้มลูกมากอดไว้ ลูบหัวเบาๆโยกตัวเบาๆ และปลอบให้เขานอนต่อ เพราะถึงอย่างไรเขาเองก็จะจำฝันนี้ไม่ได้ในวันรุ่งขึ้นค่ะ
2. ละเมอเดิน (sleepwalking) มักเกิดกับเด็กโต ลูกอาจจะเดินไปรอบห้อง หรือเดินไปข้างนอกห้องหรือนอกบ้านทั้งๆ ที่ไม่รู้ตัวก็ได้ และเมื่อตื่นก็จะจำอะไรไม่ได้เช่นกัน ซึ่งถือว่าอันตรายมาก เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ หากลูกมีอาการไม่มาก พ่อแม่สามารถปรับสภาพแวดล้อมเพื่อป้องกันอันตรายไว้ก่อนได้ โดยจัดห้องนอนให้โล่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เดินชนสิ่งกีดขวาง ประตูหน้าต่างต้องแน่นหนาเพื่อไม่ให้ละเมอเดินออกไปข้างนอก ควรหลีกเลี่ยงเตียงสองชั้น หันมาใช้เตียงธรรมดาหรือฟูกแทน หากมีอาการมากก็ไม่ควรให้ลูกนอนคนเดียวค่ะ

สิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรทำเมื่อลูกตื่นมาร้องไห้ตอนกลางคืน

  1. ตอบสนองลูกทันที โดยรีบเข้าไปอุ้ม และตบก้นกล่อมจนหลับ
  2. เปิดไฟ ชงนมให้ลูกกิน และปล่อยให้ลูกดูดนมจนหลับคาขวด
  3. มีกิจกรรมก่อนเข้านอนกับลูกมากเกินไป เช่น เล่น ดื่มนม หรืออุ้มกอดและกล่อมจนลูกหลับ

วิธีรับมือเมื่อลูกน้อยร้องไห้กลางคืน

สามารถทำได้โดยเริ่มจากพ่อแม่เอง ฝึกวินัยการนอนให้ลูกได้ตั้งแต่เล็กๆ โดยอายุที่เหมาะสม คือ ประมาณ 6 – 8 เดือน เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่เด็กสามารถนอนยาวได้ โดยการ

  1. ให้เข้านอนเป็นเวลา และฝึกไม่ให้ลูกทานมื้อดึก
  2. เริ่มให้เด็กนอนบนเตียง ในช่วงที่เด็กกำลังเคลิ้มแต่ยังไม่หลับ เพื่อฝึกให้เด็กหลับได้ด้วยตนเอง
  3. ไม่อุ้มกล่อม หรือป้อนนมให้ลูกจนหลับ
  4. เมื่อลูกตื่นมาร้อง ให้พ่อแม่ทำเฉยไว้ก่อน ลองปล่อยให้เด็กลองหลับด้วยตนเอง หรือถ้าร้องนานหน่อย อาจจะเข้าไปตบก้น หรือหาตุ๊กตามาให้ลูกกอด

อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวเหล่านี้ จะประสบผลสำเร็จ ก็ต่อเมื่อพ่อแม่ต้องใจแข็ง และเห็นพ้องต้องกันว่าจะแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ เมื่อลูกรู้ว่าการร้องไม่ได้ผล เด็กจะเริ่มเรียนรู้ที่จะหลับได้ด้วยตนเอง คืนต่อๆไป เด็กจะตื่นและร้องน้อยลงเรื่อยๆ ทุกปัญหามีทางแก้ไขเสมอ ปัญหาการนอนของลูกต้องแก้ไขให้เร็วที่สุดและแก้ไขให้ตรงจุด เพื่อพัฒนาการทางร่างกายที่ดีของลูกน้อย อย่าเก็บความสงสัยไว้คนเดียว หากคุณพ่อคุณแม่มีปัญหาสงสัยควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือกุมารแพทย์ เพื่อหาทางออก Mama Expert เป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกท่านค่ะ

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. สิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรทำ เมื่อลูกตื่นมาร้องไห้ตอนกลางคืน

2. วิธีที่ช่วยให้ลูกคุณแม่หลับง่ายกว่าที่เคย

3. ปัญหาลูกตื่นกลางคืนบ่อยแก้ไขอย่างไร?

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team 

อ้างอิง :

1.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).ปล่อยลูกร้องกลางดึก สิ่งสำคัญนอนหลับเป็นเวลา.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/rDUv4F .[ค้นคว้าเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2560]

2.Non-rapid eye movement sleep.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/XeWgn6 .[ค้นคว้าเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2560]