ลูกไม่สบายบ่อย เพราะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ดูแลรักษาอย่างไร

20 June 2023
677 view

ภูมิคุ้มกันบกพร่อง

.

.

ถ้าพบว่าลูกไม่สบายบ่อย ให้สงสัยว่าลูกอาจมีภูมิคุ้มกันที่บกพร่อง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการติดเชื้อ จากการที่ร่างกายขาดภูมิต้านทานโรค จึงทำให้ป่วยได้ ยิ่งเด็กในวัยเรียนต้องอยู่กับเพื่อนรุ่นเดียวกันเยอะ ๆ ยิ่งทำให้มีโอกาสเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้นไปอีก แล้วอย่างนี้จะมีวิธีดูแลอย่างไร สำหรับเด็กป่วยจากภูมิคุ้มกันที่บกพร่องนั้น วันนี้เราจึงมีข้อมูลมาแบ่งปันกัน

ลูกไม่สบายบ่อย สาเหตุจากภูมิคุ้มกันบกพร่อง

ระบบภูมิคุ้มกัน มีหน้าที่สำคัญคือช่วยดักจับและทำลายเชื้อโรคต่างทั้งแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา ส่วนภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือที่เราเรียกว่าโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องปฐมภูมินั้น คนที่มีภาวะนี้จะมีภูมิคุ้มกันที่ทำงานผิดปกติ ทำให้ร่างกายไวต่อเชื้อโรคจึงเกิดการโรคต่าง ๆ ตามมา ส่วนสาเหตุของโรคนั้น เป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งถ้าพ่อแม่มีร่างกายที่แข็งแรง ก็จะทำให้ลูกมีภูมิคุ้มกันที่ดีไปด้วย แต่เด็กที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องแบบปฐมภูมินี้มักจะเป็นมาตั้งแต่กำเนิด ทำให้ลูกไม่สบายบ่อย และเมื่อเจ็บป่วยทีก็ป่วยนานกว่าเด็กทั่วไป และแม้จะเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงถึงชีวิตแต่ก็ควรรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายจนถึงชีวิต

อาการแบบไหน แสดงว่าเป็นภูมิคุ้มกันบกพร่อง

แม้ว่าจะเป็นโรคที่เป็นตั้งแต่กำเนิด แต่อาการอาจยังไม่แสดงออก จนกระทั่งเด็กโต หรือเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้นผู้ปกครองจึงต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติจากอาการเหล่านี้ โดยถ้าแสดงอาการอย่างน้อย 2 ใน 3 ดังต่อไปนี้ ควรพาลูกไปพบแพทย์

1.มีการติดเชื้อบ่อย ๆ

ลูกไม่สบายบ่อยจากการติดเชื้อ ได้แก่หูอักเสบติดเชื้อมากกว่า4ครั้งขึ้นไปใน 1 ปี ไซนัสอักเสบรุนแรงมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไปใน 1 ปี รวมทั้งการติดเชื้อที่ผิวหนัง เยื่อบุตา ปาก และอวัยวะเพศ

2.มีการติดเชื้อรุนแรง หายยาก

ลูกไม่สบายบ่อย เนื่องจากติดเชื้อโรคที่หายยาก ทำให้เกิดอาการรุนแรง เช่นเคยติดเชื้อในกระแสเลือดตั้งแต่2ครั้งขึ้นไป รวมถึงต้องได้รับยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือด เพราะกินยาแล้วไม่หาย หรือใช้ยาปฏิชีวนะติดต่อกันมา 2 เดือนแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น

3.มีอาการผิดปกติอื่น ๆ

อาการผิดปกติ ที่ทำให้ลูกไม่สบายบ่อย แสดงถึงความเสี่ยงที่จะเป็นโรคติดเชื้อเรื้อรัง เช่น มีน้ำหนักและส่วนสูงที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานมาก ติดเชื้อราในช่องปากและผิวหนังเรื้อรัง รวมทั้งมีคนในครอบครัวเป็นภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด

ควรดูแลรักษาอย่างไร เมื่อลูกป่วยเป็นโรคนี้

เมื่อลูกไม่สบายบ่อย และได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคภูมิคุ้มกันที่บกพร่องนี้แล้ว ก็จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้ 

1.ฉีดแกมมาโกลบูลิน

การฉีดแกมมาโกลบูลินนั้น จะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันชั่วคราวให้กับผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันที่บกพร่องแบบปฐมภูมิ หรือที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด

2.ให้ยาปฏิชีวนะ 

การให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อช่วยรักษาและป้องกันการติดเชื้อโรค แต่ถ้าผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อที่รุนแรง ก็จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ

3.ให้ยาทดแทนภูมิคุ้มกัน

สำหรับผู้ป่วยโรคนี้ อาจได้รับยาทดแทนปัจจัยภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ขาดหายไป หรืออาจทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวที่บกพร่องนั้นทำงานได้ดีขึ้น เช่นการรักษาด้วยแกมมาอินเตอร์ฟีรอน ในกรณีที่เป็นโรคเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง

ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ป้องกันได้หรือไม่

ถ้าไม่อยากให้ลูกไม่สบายบ่อย จากภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ มีวิธีป้องกันดังต่อไปนี้

1.กินอาหารต้านโรค

การเลือกกินอาหารที่ดี ย่อมทำให้เด็กๆมีสุขภาพที่ดีขึ้นด้วย ดังนั้นจึงควรเลือกทานอาหารให้ครบ5หมู่ โดยเน้นกินอาหารที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เช่นผลไม้ที่มีเบต้าแคโรทีน วิตามินซี วิตามินอี วิตามินบี แร่ธาตุซิลีเนียม หรือสังกะสี โดยสารอาหารเหล่านี้พบได้ในผักที่มีสีเหลืองส้ม หรือผักใบเขียวจัด เห็ด เนื้อสัตว์ อาหารทะเล นม หรือถั่ว เป็นต้น

2.ออกกำลังกาย

การออกกำลังกายทำให้ระบบโลหิตหมุนเวียนได้ดีขึ้น เม็ดเลือดขาวก็แข็งแรงขึ้น จึงสามารถดักจับเชื้อโรคได้ ส่งผลทำให้เด็กๆไม่เจ็บป่วยได้ง่าย นอกจากนี้เมื่อออกกำลังกาย จะมีสารเอนเดอร์ฟินหลั่งออกมา ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ช่วยลดความวิตกกังวล และการเกิดโรคได้ ดังนั้นควรให้เด็กได้ออกกำลังกายอย่างน้อย 30นาทีเป็นเวลา 3 - 4 วันต่อสัปดาห์

3.พักผ่อนให้เพียงพอ

เด็กๆ ควรได้นอนหลับอย่างเต็มที่อย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งระหว่างการนอนหลับร่างกายจะหลั่งฮอร์โมน DHEA โดย 

ฮอร์โมนตัวนี้สารตั้งตนของฮอร์โมนเพศหญิงและเพศชาย จึงมีส่วนช่วยให้หายเครียดและมีภูมิต้านทานโรคที่ดีขึ้นด้วย

4.ทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง

การฝึกให้เด็กรู้จักการทำสมาธิ จะทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งการนั่งสมาธิสามารถทำให้ระดับฮอร์โมน DHEA เพิ่มขึ้น โดยส่งผลดีต่อภูมิคุ้มกันในร่างกายนั่นเอง

5.หลีกเลี่ยงการติดเชื้อ

เด็กที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ย่อมติดเชื้อโรคได้ง่าย ควรระมัดระวังการติดเชื้อ เช่นควรเลือกทานอาหารที่ปรุงสุกๆใหม่ๆ ไม่กินอาหารดิบ เพราะอาจมีเชื้อแบคทีเรียปะปน เลือกน้ำดื่มที่สะอาด ไม่พาเด็ก ๆ ไปใกล้ชิดกับผู้ป่วยซึ่งจะทำให้ติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่าย รวมทั้งควรสอนให้ลูกมีสุขอนามัยที่ดีด้วย 

การรักษาโรคภูมิคุ้มกันที่บกพร่อง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาก็สามารถทำให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรงได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นระหว่างนี้จึงควรใช้วิธีป้องกันลูกโดยการสร้างภูมิต้านทานให้ดีขึ้น และถ้าหากมีอาการแย่ลง ก็ควรที่จะรีบพาลูกไปปรึกษาแพทย์

 บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. 5 พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ พาลูกเที่ยว ย้อนรอยอดีต

2. วิตามินบำรุงร่างกาย หลังติดโควิด ช่วยฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรง

3. 7 วิตามินบำรุงสมอง ช่วยเสริมความจำ กระตุ้นการทำงานของสมองได้ดี

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team