8 เทคนิคปราบเด็กดื้อ เด็กซน โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง

07 February 2022
4361 view

8 เทคนิคปราบเด็กดื้อ เด็กซน

.

.

เชื่อว่าคุณแม่หลายๆ ท่านอาจจะเคยประสบปัญหากับลูกดื้อลูกซนมาบ้างแล้ว ยิ่งช่วงวัยที่สามารถวิ่งเล่นได้ตั้งแต่ 3-10 ขวบยิ่งดื้อยิ่งซนและพูดยากไม่ค่อยจะเชื่อฟัง ยิ่งว่าก็เหมือนยิ่งยุ บอกซ้ายจะไปขวา ทำให้ต้องเหนื่อยใจไปตามๆ กัน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ลูกๆ มีนิสัยที่ดื้อซนนั้นอาจจะมาจากสภาพแวดล้อมเพื่อนฝูง การเลี้ยงดู หรือถูกตามใจมากจนเกินไป วันนี้เราเลยจะมาแนะนำเทคนิคดีๆ ใช้ปราบเด็กดื้อ  เด็กซน โดยที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรง รับรองได้ว่าวิธีนี้จะสามารถปราบเด็กจอมดื้อจอมซนได้แบบอยู่หมัด เทคนิคที่ว่านี้มีอะไรบ้างมาดูกันเลยดีกว่า

8 เทคนิคปราบเด็กดื้อ เด็กซน อย่างได้ผล

ลูกดื้อลูกซนนั้นอาจจะเกิดมาจากหลายๆ สาเหตุไม่ว่าจะเป็นทางด้านพื้นฐานการเลี้ยงดู สภาพแวดล้อมรอบตัว พัฒนาการของวัย รวมถึงสภาพอารมณ์ของเด็กด้วยวันนี้เราจึงได้รวบรวมเทคนิคที่จะสามารถใช้ปราบ เด็กดื้อ เด็กจอมซนมาฝากคุณแม่ลองเอาไปปรับใช้รับรองได้ว่าเห็นผลอย่างแน่นอน

1. เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก

เพราะเด็กๆ ส่วนใหญ่มักจะเลียนแบบพฤติกรรมมาจากผู้ใหญ่คนใกล้ชิด หากคุณพ่อคุณแม่แสดงพฤติกรรมที่ดีก็จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูกๆ ถึงแม้ว่าลูกจะยังไม่ค่อยเข้าใจ แต่ในแง่ของพฤติกรรมเลียนแบบแล้วลูกจะซึมซับการกระทำดังกล่าวนั่นไปด้วย แต่กลับกันหากคุณพ่อคุณแม่และคนใกล้ชิดมีพฤติกรรมที่ไม่ดีเด็กก็จะเลียนแบบพฤติกรรมนั่นไปด้วยเพราะคิดว่าผู้ใหญ่ทำได้เด็กก็ทำได้จึงกลายเป็น เด็กซน ที่ผู้ใหญ่พูดอะไรก็ไม่ค่อยฟัง

2. ชี้แนะแนวทางให้

ธรรมชาติของเด็กมักจะซนไม่ค่อยจะชอบอยู่กับที่ เพราะเด็กในวัยนี้ยังไม่รู้ว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้จึงมักจะแสดงพฤติกรรมที่เคยชินออกมา การชี้แนะแนวทางให้กับเด็กๆ ได้เรียนรู้ว่าอันไหนควรทำและอันไหนที่ไม่ควรทำบอกสอนเขาโดยที่ไม่ดุหรือใช้ความรุนแรงเขาก็จะค่อยๆ เรียนรู้และจะไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำนั่นเอง

3. ให้เด็กเรียนรู้ถึงผลที่ได้รับโดยตรง

การเลี้ยงลูกแบบตามใจหรือประคบประหงมมากเกินไปอาจจะทำให้เด็กกลายเป็น เด็กซน ได้ลองปล่อยให้เด็กได้เรียนรู้ถึงผลที่จะตามมาจากการกระทำโดยตรงอย่างเช่น หากลูกไม่ยอมทานข้าวก็ไม่ต้องบังคับปล่อยให้รู้จักหิว จะได้เรียนรู้ว่าเมื่อถึงเวลาทานข้าวจะต้องทานข้าวเพราะหากไม่ยอมทานข้าวก็จะทำหิว เมื่อลูกได้เรียนรู้ประสบการณ์ด้วยตนเองแล้วก็จะจำและจะไม่ทำอีก แต่การทำอย่างนี้ก็ควรอยู่ในขอบเขตไม่ใช่ว่าให้ปล่อยปละละเลย

4. ชื่นชมลูกบ่อยๆ

ไม่ว่าลูกจะดื้อหรือซนขนาดไหนคุณแม่ก็ไม่ควรใช้ความรุนแรงหรือดุด่าว่ากล่าวโดยการตะคอกใส่เพราะจะยิ่งเป็นเชื้อไฟทำให้ลูกรู้สึกน้อยใจและยิ่งทำให้ตัวร้ายๆ หนักมากกว่าเดิม คุณแม่ควรสร้างสัมพันธ์กับลูกดีๆ ชื่นชมเขาสม่ำเสมอทุกครั้งที่ลูกทำดีและหากลูกทำผิดก็ค่อยๆ บอกกล่าวด้วยเหตุและผลจะทำให้ลูกเชื่อฟังและไม่เป็น เด็กซน อีกต่อไป

5. สอนให้ลูกรู้จักช่วยงานบ้าน

หากลูกโตพอที่จะสามารถช่วยงานบ้านงานเรือนได้แล้ว คุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักช่วยงานบ้านงานเรือนโดยที่ไม่ออกคำสั่งแต่เป็นการขอร้องให้ช่วย เมื่อลูกได้ช่วยงานบ้านก็จะทำให้ลูกมีความรับผิดชอบมากขึ้นลดนิสัย เด็กซน ลงและยิ่งคุณแม่มีของรางวัลให้ทุกครั้งที่ลูกช่วยงานบ้านก็จะยิ่งทำให้ลูกอยากที่จะทำมากขึ้น

6. เมินเพื่อให้หยุดทำบางอย่าง

หากลูกร้องไห้โวยวายเพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่ตามใจหรือไม่ได้ดั่งใจตัวเอง วิธีแก้ที่ดีที่สุดคือปล่อยให้ร้องไห้ไปเลยโดยที่ไม่ต้องสนใจ หรือทำท่าเมินใส่เลย เพราะหากคุณพ่อคุณแม่เข้าไปโอ๋หรือตามใจจะทำให้ลูกกลายเป็น เด็กดื้อ เอาแต่ใจตนเองและไม่มีเหตุผล การที่คุณพ่อคุณแม่เมินใส่จะทำให้ลูกได้เรียนรู้ว่าการที่ทำอย่างนั้นไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้ตามใจชอบและลูกก็จะหยุดไปเอง จากนั้นค่อยอธิบายให้เขาได้รู้ว่าทำไมถึงทำอย่างนั้นไม่ได้

7. ให้รางวัลทุกครั้งที่ลูกทำความดี

ทุกครั้งที่ลูกทำความดีหรือเชื่อฟังคุณแม่ควรจะมีรางวัลให้ลูก เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้ลูกทำความดีต่อไปอย่างเช่น หากลูกช่วยทำงานบ้านคุณแม่ก็ต้องมีของรางวัลให้ แต่ถ้าลูกเสนอช่วยงานโดยที่คุณแม่ไม่ได้ขอร้องหลังจากช่วยงานเสร็จแล้วก็ควรมีของรางวัลให้เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าการทำงานหรือทำความดีเป็นสิ่งที่น่ายกย่องและชื่นชม คุณแม่ถึงได้มีรางวัลให้เป็นประจำ

8. การลงโทษในขอบเขตที่จำเป็น

หากลูกทำผิดคุณแม่ควรลงโทษลูกอยู่ในขอบเขตเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ควรใช้ความรุนแรง เพราะยิ่งลงโทษแบบรุนแรงโดยที่ไม่มีเหตุผลบ่อยๆ จะส่งผลถึงสภาพจิตใจของลูกและจะยิ่งทำให้ลูกกลายเป็น เด็กซน มากยิ่งกว่าเดิม

ทำไมจึงไม่ควรตีหรือใช้ความรุนแรงกับลูก

การใช้ความรุนแรงโดยการตีกับ เด็กซน แน่นอนว่าจะได้ผลแค่เพียงชั่วคราวเท่านั้นเพราะจะทำให้เด็กรู้สึกหวาดกลัว แต่สิ่งที่ตามมาก็คือสภาพจิตใจของเด็ก เพราะโดยแท้จริงแล้วการที่เด็กหยุดดื้อเพราะโดนตีนั้น เนื่องจากรู้สึกกลัวแต่จะไม่รับรู้ว่าการโดนตีเป็นการสั่งสอน การดุด่าหรือการตียังส่งผลต่อสภาพจิตใจทำให้เด็กกลัว เจ็บปวดและเกิดความวิตกกังวลกลายเป็นซึมเศร้าได้ การใช้ความรุนแรงยังส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านอารมณ์ของเด็กด้วย เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรใช้ความรุนแรงหรือตีลูกเพราะจะส่งผลถึงสภาพจิตใจของลูกควรบอกสอนด้วยเหตุและผลจะดีกว่า

และนี่คือ 8 เทคนิคดีๆ ในการรับมือกับ เด็กซน โดยที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรงที่เราได้รวบรวมมาฝากคุณแม่ในวันนี้ การใช้ความรุนแรงหรือลงโทษเด็ก ด้วยวิธีรุนแรงจะส่งผลถึงสภาพจิตใจของเด็กได้ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกด้วยเหตุและผลใช้ความรักความใกล้ชิดเข้าช่วยจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. สอนลูกอย่างไร ให้รู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเอง ไม่ใช่เรื่องยาก

2. สอนลูกอย่างไร ให้รู้จักควบคุมอารมณ์ เมื่อโกรธหรือไม่พอใจ

3. วิธีสอนลูกเมื่อทำผิด ให้รู้จักยอมรับ และลงโทษอย่างเหมาะสม

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team