โรคอาหารเป็นพิษในเด็ก
.
.
โรคอาหารเป็นพิษ ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวมากที่สุด และเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน จึงทำให้เป็นโรคที่ไม่ควรมองข้ามและต้องระมัดระวังให้ดี โดยเฉพาะเรื่องของการรับประทานอาหาร เนื่องจากสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษก็คือการทานอาหารที่ไม่ถูกหลักอนามัย เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่คุณพ่อ คุณแม่จะต้องให้ความสำคัญมากที่สุดก็คือเรื่องของการทานอาหาร เพราะหากเกิดโรคนี้ขึ้นแล้วบอกได้เลยว่าอันตรายกว่าที่คิดแน่นอน แต่ก่อนอื่นเราไปทำความรู้จักกับโรคนี้กันก่อนเลยดีกว่าว่าเป็นอย่างไร มีสาเหตุเกิดจากอะไร พร้อมวิธีป้องกันโรคที่ทุกคนควรรู้
โรคอาหารเป็นพิษ คืออะไร
โรคอาหารเป็นพิษ คือ ภาวะที่เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคเข้าไปในร่างกาย จึงทำให้เกิด อาการอาหารเป็นพิษ โดยเริ่มจากการอาเจียน ปวดท้องและมีอาการท้องเสียบ่อย ๆ สำหรับโรคนี้เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ โดยทั่วไปโรคนี้จะเป็นภาวะที่ไม่รุนแรงมากนักสามารถหายได้เอง แต่เมื่อไหร่ที่ปล่อยไว้นาน ๆ จนเกิดอาการรุนแรงก็อาจจะทำให้เกิดการสูญเสียน้ำในร่างกายจนนำไปสู่สาเหตุของการเสียชีวิตได้
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิด โรคอาหารเป็นพิษ โดยส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อโรคจำพวก S.aureus หรือ B.cereus หรือ C.perfringens โดยที่เชื้อโรคเหล่านี้ได้มีการปนเปื้อนในอาหารต่าง ๆ ที่เรารับประทานกันใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ข้าวผัด อาหารสำเร็จรูปที่ไม่ได้ปรุงสุกใหม่ อาหารประเภทกระป๋อง รวมถึงอาหารสด น้ำดื่มที่ไม่สะอาด เป็นต้น ซึ่งเมื่อร่างกายของเราได้รับเชื้อโรคดังกล่าวสู่ร่างกาย เชื้อจะมีการเจริญเติบโตโดยเฉพาะในสภาวะสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนน้อย ส่งผลทำให้ผู้ที่ได้รับเชื้อเข้าไปมี อาการอาหารเป็นพิษ เกิดอาการอาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ผู้ป่วยบางคนที่ได้รับเชื้อโรคเหล่านี้เข้าไปอาจจะมีอาการที่รุนแรงกว่านี้ก็ได้
อาการของโรคนี้
อาการอาหารเป็นพิษ ที่แสดงออกมาชัดเจนเมื่อได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะแสดงอาการภายใน 1-2 วัน โดยจะขึ้นอยู่กับประเภทและปริมาณของเชื้อที่ร่างกายได้รับ บางคนก็อาจจะมีอาการทันทีหลังจากรับประทานอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน หรือบางคนก็นานกว่าสัปดาห์จึงจะมีอาการ โดยอาการของ โรคอาหารเป็นพิษ ก็จะมีดังต่อไปนี้
- รู้สึกพะอืดพะอม คลื่นไส้ มีอาการอาเจียนติดต่อกันหลายครั้งหรืออาจจะอาเจียนเป็นเลือด
- ถ่ายเหลวติดต่อกันหลายครั้ง โดยมีลักษณะเป็นมูกเลือด
- มีอาการทางระบบประสาท เช่น มีการมองเห็นไม่ชัด แขนเป็นเหน็บชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น
วิธีรักษาอาหารเป็นพิษในเด็ก
วิธีรักษา โรคอาหารเป็นพิษ ในเด็กมีวิธีการรักษาคือ ก่อนอื่นต้องประเมินอาการก่อนเลยเป็นอันดับแรก หากคุณพ่อ คุณแม่เห็นว่ามีอาการที่ไม่รุนแรงมากนักสามารถรักษาได้ด้วยการให้ลูกนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลด้วยการให้ดื่มน้ำเยอะ ๆ โดยการดื่มแบบจิบบ่อยๆ อาจจะเป็นน้ำผสมเกลือแร่ด้วยก็ได้ ซึ่งเป็นเกลือแร่ ORS เพื่อเป็นการทดแทนน้ำที่สูญเสียไป เมื่อมีอาการที่ดีขึ้นแล้วให้รับประทานอาหารที่อ่อน ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม อาจจะทานน้อย ๆ ก่อน แต่หากเมื่อไหร่ที่คุณพ่อ คุณแม่ ประเมินอาการแล้วพบว่าอาการไม่ดีขึ้นเลยควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที ไม่ควรปล่อยไว้ให้หายเองเพราะอาจจะเกิดการสูญเสียน้ำในร่างกายในปริมาณที่มากและเสี่ยงต่อการช็อคก็ได้
ป้องกันโรคนี้ได้อย่างไร
โรคอาหารเป็นพิษ เป็นโรคที่เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ โดยมีวิธีป้องกันการเกิดโรคดังนี้
1. ดูแลรักษาอนามัย โดยเริ่มจากการฝึกให้ลูกรู้จักรักษาความสะอาดด้วยการล้างมือก่อนการทานอาหารทุกครั้ง และหลังทานอาหารเสร็จก็ควรล้างมือใหม่ให้เรียบร้อย และทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งสกปรกควรรีบทำความสะอาดทันที หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งของสาธารณะ และไม่ใช้สิ่งของร่วมกับคนอื่นเด็ดขาด
2. บริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะ สิ่งสำคัญในการทานอาหารนั่นก็คือ ให้ลูกได้ทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการทานของสุกๆ ดิบๆ และไม่ควรทานอาหารเก่าค้างคืน เพื่อป้องกันอาหารเป็นพิษ
3. จัดเก็บและเตรียมอาหารอย่างปลอดภัย เช่น การเลือกใช้วัตถุดิบที่มีความสดใหม่ มีการเก็บรักษาอย่างถูกวิธี หากเป็นอาหารสดก็ควรมีการจัดเก็บด้วยอุณหภูมิที่เย็นและเหมาะสม ส่วนอาหารทั่วไปก็ควรเป็นอาหารที่ทำสดใหม่ด้วยเช่นกัน หากเป็นไปได้ก็ควรทำอาหารทานเอง เพื่อความปลอดภัยและความมั่นใจ ที่สำคัญเพื่อโภชนาการที่ครบถ้วนด้วยนั่นเอง
ก็ได้รู้จักกันไปแล้วกับ โรคอาหารเป็นพิษ โรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ดังนั้นเมื่อได้รู้เกี่ยวกับการเกิดโรคกันไปแล้ว ก็ควรที่จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับการทานอาหาร โดยเฉพาะเรื่องของความสะอาดที่คุณจะต้องไม่มองข้ามเด็ดขาด เพราะนี่คือสาเหตุหลัก ๆ ที่จะทำให้เกิด โรคอาหารเป็นพิษ ได้ง่าย และเมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดโรคนี้ขึ้นกับลูกน้อย หากรักษาอาการเบื้อต้นด้วยตนเองแล้วยังไม่มีอาการที่ดีขึ้นคุณควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะหากปล่อยไว้นาน ๆ โอกาสที่จะเสียชีวิตจะมีสูงมากทีเดียว
บทความแนะนำเพิ่มเติม
1. 8 วิธีลดสารพิษตกค้างในผักผลไม้ … เพื่อสุขภาพของลูกรัก
2. แพทย์ชี้ 5 เชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษในเด็ก ที่พ่อแม่ต้องรู้ดูแลให้เป็น
3. 7 อาการเตือนที่บ่งบอกว่า ลูกติดเชื้อท้องเสียโนโรไวรัส(Norovirus) เข้าแล้ว
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team