โฟกัสตรงจุด อนาคตตรงใจ ด้วย “กิจกรรมพัฒนาทักษะ 8 ด้าน”

06 December 2018
43152 view

การเตรียมความพร้อมให้ลูกมุ่งสู่ความสำเร็จในอนาคต เป็นเรื่องที่พ่อแม่ยุคใหม่ไม่ควรพลาด เพราะถ้าหากคุณพลาด!!! เท่ากับว่าลูกของคุณกำลังเดินตามหลังเพื่อนๆ อยู่ Mamaexpert ชวนคุณพ่อคุณแม่ทุกบ้านก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ด้วยการวางรากฐานความสำเร็จให้กับลูกตั้งแต่วันนี้ เริ่มด้วยการโฟกัสให้ตรงจุด

ทักษะ 8 ด้าน ที่ลูกต้องมี ต้องใช้จริงในอนาคต

ก่อนจะเข้าสู่กิจกรรมพัฒนาทักษะทั้ง 8 ด้าน ซึ่งมีหลากหลายกิจกรรมให้คุณแม่ได้นำมาประยุกต์ใช้กับลูกอย่างเหมาะสมตามช่วงวัยนั้น คุณแม่มาทบทวนกันก่อนค่ะว่า... ทักษะทั้ง 8 ด้าน ที่ลูกต้องมี ต้องใช้จริงในอนาคตนั้น มีดังนี้

  1. สมาธิจดจ่อ คุณแม่ต้องเน้นการฝึกให้ลูกมีสมาธิจดจ่อ เมื่อลูกสมาธินิ่ง จะทำให้ลูกสามารถเปิดรับ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้อย่างรวดเร็ว และมีระบบความจำที่ดีด้วย
  2. อดทนรอคอย เด็กในโลกปัจจุบัน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่แปรเปลี่ยน ทุกอย่างเร่งรีบ รวดเร็ว ทำให้เด็กขาดทักษะด้านการรอคอย ไม่รู้จักรอ เมื่อรอไม่ได้ทุกอย่างก็จบเพราะฉะนั้นต้องฝึกตั้งแต่วันนี้
  3. รู้จักแก้ปัญหา คุณพ่อคุณแม่มักคอยแก้ปัญหาให้กับลูก เพราะเข้าใจผิดว่าลูกยังเด็กไม่สามารถแก้ปัญหาเองได้ ข้อดีของการปล่อยให้ลูกแก้ปัญหาเองคือ ช่วยให้สามารถเอาตัวรอดได้ในอนาคต
  4. จดจำนำมาใช้ เด็กมีสมาธีดี จะช่วยส่งเสริมให้สมองจดจำและนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างมีแบบแผน รวมถึงมีผลการเรียนที่ดีด้วย
  5. สื่อสารเข้าใจ ภาษาและการสื่อสารเป็นทักษะแรกเริ่มเพื่อเชื่อมโยงให้ลูกพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การสื่อสารพัฒนาได้หากได้รับการฝึกที่ดีและต่อเนื่อง
  6. ริเริ่ม สร้างสรรค์ ทักษะด้านนี้เด็กๆ ทุกคนมีอยู่แล้ว แต่ขาดการกระตุ้น พ่อแม่ต้องปลดล็อคจินตนาการ เพื่อให้ลูกแสดงออกอย่างเหมาะสม และพบกับความสำเร็จในแบบที่ใช่สำหรับลูก
  7. เข้าสังคมได้ เด็กทุกคนต้องมีสังคม และในขณะเดียวกันเด็กก็ต้องการ การยอมรับจากสังคมเพื่อนด้วย หากเด็กได้รับการฝึกทักษะการเข้าสังคมอย่างเหมาะสมนั้น ลูกจะเลือกสังคมที่ดีให้กับตัวเองในอนาคต
  8. มีคุณธรรม เด็กไม่สามารถแยกแยะ ความรู้สึก ผิด ชอบ ชั่วดี ได้ จึงเป็นหน้าของคุณพ่อคุณแม่ที่จะปลูกฝังคุณงามความดี รวมถึงการคิดบวก การรู้จักแบ่งปันให้กับลูก เพื่อให้ลูกนำไปประยุกต์ใช้ในอนาคต

ทักษะทั้ง 8 ด้าน เป็นเรื่องใกล้ตัวที่คุณพ่อคุณแม่หลายบ้านนั้นมองข้าม และขาดการโฟกัสที่ตรงจุด การโฟกัสผิดเรื่อง ผิดจังหวะ ผิดเวลา ทำให้ลูกพลาดได้ เช่นกัน สอดคล้องกับรองศาสตราจารย์นายแพทย์ พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์  กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช  ที่แนะนำคุณพ่อคุณแม่ให้เริ่มโฟกัส 8 ทักษะสำคัญอย่างเข้าใจ

โฟกัสเน้นๆ กับกิจกรรมพัฒนาทักษะ 8 ด้าน

1. กิจกรรมฝึกทักษะสมาธิจดจ่อ (Sustain Focus)

สมาธิเป็นทักษะสำคัญของการเรียนรู้ เพราะสมาธิมีความสัมพันธ์กับสมองส่วนหน้าที่ควบคุมเรื่องความจำ ภายใต้การทำงานของคลื่นสมองอัลฟา (Alpha) ส่งผลให้เด็กมีการเรียนรู้ที่ดีและมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันพบว่าเด็กขาดสมาธิ ไม่สามารถอดทนรอต่อสิ่งต่างๆ ในระยะเวลานานๆ ได้ เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมทางสังคม โดยเฉพาะสิ่งเร้าด้านเทคโนโลยี ที่เข้ามาทำลายสมาธิของลูก อยากให้ลูกมีสมาธิจดจ่อเริ่มที่กิจกรรมง่ายๆ แต่ได้ผล ดังนี้

  • พ่อแม่ต้องเป็นผู้กำกับ คอยกำกับช่วยเหลือลูกในการช่วยเหลือตัวเองให้สำเร็จ เช่น การทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ แปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว เล่นแล้วเก็บของเล่นเข้าที่ สิ่งเหล่านี้ต้องใช้สมาธิจดจ่อและต่อเนื่องถึงจะทำกิจวัตรได้สำเร็จ
  • ของเล่นสร้างสมาธิได้ การเล่นของเด็กวัย 1-3 ขวบ ที่ส่งเสริมทักษะด้านสมาธิ ได้แก่ การต่อบล็อค การต่อจิ๊กซอว์ การปั้น พับกระดาษ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวต้องใช้สมาธิจดจ่อและต่อเนื่องถึงจะสำเร็จได้ เมื่อจบกิจกรรมและลูกทำสำเร็จอย่าลืมชื่นชม แต่...หากลูกทำไม่สำเร็จอย่าลืมบทบาทผู้กำกับคอยช่วยเหลือนะคะ ที่สำคัญลูกควรเล่นทีละอย่าง มีหลายงานวิจัยพบว่าการที่พ่อแม่ให้ของเล่นกับเด็กมากกว่า 1 ชิ้นในคราวเดียวกันส่งผลเสียต่อเด็กมากกว่าผลดีโดยเฉพาะเด็กต่ำกว่า 5 ขวบเพราะการให้ของเล่นเด็กมากเกินไปทำให้เด็กตื่นเต้นและไม่สามารถจดจ่ออยุู่กับของเล่นใดของเล่นหนึ่งได้นานๆ
  • ปิดประตูสิ่งเร้าทำลายสมาธิ การฝึกสมาธิทำได้และพังได้ง่าย เช่นกัน ลูกสมาธิพังมากจากสิ่งเร้าด้านเทคโนโลยี เช่น ทีวี คอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟน ไม่อยากให้ลูกสมาธิพังต้องปิดประตูสิ่งเร้าค่ะ

2. กิจกรรมฝึกทักษะอดทนรอคอย (Self - regulation)

เด็กเล็กมีพฤติกรรมตามวัยที่มักยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ขาดความอดทน อยากได้อะไรต้องได้ ประกอบกับสภาพสังคมปัจจุบันมีความเป็นอยู่ที่เร่งรีบ ถ้าไม่ฝึกทักษะการรู้จักรอคอยตั้งแต่วัยเด็ก ส่งผลเสียตามมาอย่างแน่นอน กิจกรรมที่ต้องโฟกัสเพื่อให้ลูกรู้จักอดทนรอคอยทำได้ ดังนี้

  • ลูกรอคอยเป็นเพราะพ่อแม่สร้างเงื่อนไข อยากให้ลูกรู้จักรอคอยจนเป็นนิสัย พ่อแม่ต้องเป็นคนสร้างเงื่อนไขที่ลูกสามารถทำตามได้และมีระยะเวลาแน่นอน เช่น ถ้าอยากต่อเลโก้ต้องเขียนการบ้านเสร็จก่อน งดใช้ “รอก่อน” “แป๊บนะ” เพราะไม่มีกรอบระยะเวลาที่แน่นอน ลูกไม่เข้าใจว่าต้องรอถึงตอนไหน
  • ฝึกรอคอย ต้องรอคิว มารยาททางสังคมที่แม่ต้องฝึกลูกลำดับต้นๆ เลยก็คือการต่อคิว การเข้าแถวรอคิวเป็นการฝึกทักษะการรอคอยได้เป็นอย่างดี เช่น เข้าแถวรอซื้อขนม เข้าแถวรอเข้าห้องน้ำ ในการฝึกแรกๆ ลูกอาจจะเบื่อ พ่อแม่ต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจด้วยว่าทุกคนต้องรอเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ ไม่มีอะไรได้มาในทันทีทันใด ที่สำคัญพ่อแม่ต้องทำเป็นตัวอย่าง และอย่าลืมฝึกให้ลูกรอคำอนุมัติด้วยนะคะว่า อนุญาต หรือไม่ อนุญาต  อนุญาตเวลาไหน เป็นการรอคอยอีกรูปแบบหนึ่งค่ะ

3. กิจกรรมฝึกทักษะรู้จักแก้ปัญหา (Problem Solving)

เด็กแต่ละคนสามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้แตกต่างกัน เด็กบางคนไม่สามารถเผชิญและแก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ได้ เพราะขาดการกระตุ้นฝึกฝนให้คิดแก้ปัญหาอย่างมีระบบ อยากให้ลูกแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ โฟกัสกิจกรรมตามนี้ค่ะ

  • ตั้งโจทย์ชีวิตพิชิตอุปสรรค กิจกรรมนี้พ่อแม่ต้องสร้างสถานการณ์จำลองขึ้นมาให้ชีวิตประจำวันของลูกมีอุปสรรคบ้าง ทุกอย่างไม่ได้ราบรื่นหรือได้มาอย่างง่ายๆ แต่คุณพ่อคุณแม่ห้ามเข้าไปช่วยทันทีนะคะ ปล่อยให้ลูกได้คิด หากจะช่วยให้ช่วยด้วยคำถาม เช่น
    “ทำไมลูกยกไม่ได้ ” คำถามนี้จะช่วยให้ลูกคิดตามว่า ทำไมสิ่งของถึงยกไม่ขึ้น หนักไป หรือ ติดขัดตรงไหน และให้ถามต่อ “ลูกจะทำยังไงต่อคะ ให้ยกวัตถุนี้ขึ้นได้ ” สถานการณ์และคำถามเหล่านี้จะช่วยให้ลูกฝึกคิดหาวิธีแก้ปัญหาให้เขาพิชิตภาระกิจได้สำเร็จ
  • งดเว้นการประคบประหงม กิจกรรมนี้เหมาะมากๆ กับเด็กวัยแบบเบาะ เพราะลูกวัยนี้พ่อแม่ทะนุถนอมเหมือนไข่ในหิน ควรปล่อยให้ลูกได้คืบคลานอย่างอิสระ ตั้งไข่ล้ม การปล่อยให้ลูกได้ใช้ร่างกายของตัวเองอย่างเต็มที่ ลูกจะเรียนรู้ได้เองว่า คลานไปเจอสิ่งกีดขวางต้องทำอย่างไรต่อ ตั้งไข่ล้มแล้วต้องทำอย่างไรถึงจะไปต่อได้ การที่พ่อแม่คอยประคบประหงมตลอดเพราะกลัวลูกเกิดบาดแผล ถือว่าพลาดมาก!!! เพราะคุณกำลังปิดกั้นทักษะการแก้ปัญหา

4. กิจกรรมฝึกทักษะจดจำนำมาใช้ (Good memory)

ความจำคือจุดเริ่มต้นของสมาธิ เพราะความจำเกิดจากความสนใจ + สมาธิ ความจำยังเกิดได้จากการสังเกตและการเชื่อมโยง การทำซ้ำบ่อยๆ ครั้ง ก็ช่วยให้เกิดความจำได้เช่นกัน กิจกรรมที่ช่วยให้ลูกมีความจำที่ดี ง่ายๆ 3 ขั้นตอน ดังนี้

  • ขั้นตอนที่ 1 ใช้คำถาม “นี่คือ…”
  • ขั้นตอนที่ 2 ใช้คำถาม “อันไหนคือ …?”
  • ขั้นตอนที่ 3 ใช้คำถาม “นี่คืออะไร ?”

ตัวอย่างการฝึกสมองลูก

นำปากกา ดินสอ พู่กันมาให้เด็กดู จากนั้นชูดินสอขึ้นพร้อมกับบอกเด็กว่า “นี่คือดินสอ” อันดับต่อไปให้ชูปากกา ดินสอ พูดกันขึ้นพร้อมกัน แล้วถามเด็กว่า “แท่งไหนคือดินสอ?” เมื่อเด็กชี้ได้ถูกต้องแล้ว ก็มาถึงขั้นที่สาม ให้ชูดินสอขึ้นแล้วถามว่า “นี่คืออะไร?” ถ้าฝึกความจำของเด็กด้วยวิธีนี้บ่อยๆ เด็กก็จะมีความจำดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์เลยทีเดียว

5. กิจกรรมฝึกทักษะสื่อสารการเข้าใจ (Good Communication)

การสื่อสารคือจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ เด็กมีทักษะการสื่อสารที่แตกต่างกันถึงแม้จะอยู่ในวัยเดียวกัน เด็กบางคนไม่สามารถสื่อสารให้คนอื่นรับรู้ และเข้าใจถึงความต้องการของตัวเองได้ เพราะขาดการฝึกฝน คุณแม่ควรเริ่มฝึกฝนตั้งแต่วัย 1 ขวบขึ้นไป กิจกรรมช่วยกระตุ้นให้ลูกบอกความต้องการง่ายๆ เป็นคำพูด  เช่น...

               “หนูหิวน้ำ” “หนูปวดอึ”   “หนูไม่ชอบแตงโม”
เพราะการสื่อสารคือจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ สื่อสารได้เข้าใจง่ายขึ้น สื่อสารได้เรียนรู้ได้ง่ายขึ้น  

6. กิจกรรมฝึกทักษะริเริ่มสร้างสรรค์ (initiative)

เด็กที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มักเป็นเด็กฉลาด จากการศึกษาเชิงจิตวิทยาพบว่า เด็กทุกคนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อยู่แล้ว และสามารถพัฒนาได้ตามระดับความสามารถของเด็กแต่ละคน หากเด็กคนนั้นๆ ได้รับการวางพื้นฐานการคิดสร้างสรรค์ตั้งแต่เด็ก กิจกรรมที่คุณแม่ต้องโฟกัสเพื่อส่งเสริมให้ลูกเป็นเด็กมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ คือ

  • ฝึกคิดนอกกรอบ คิดสร้างสรรค์เริ่มด้วยการคิดนอกกรอบ พ่อแม่ต้องหมั่นใช้คำถามปลายเปิดกับลูกเพื่อจุดประกายความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เช่น ใช้คำว่า “ถ้า” ถ้าลูกบินได้เหมือนนก ลูกจะบินไปไหน คำถามปลายเปิด เป็นคำถามไม่ฟิกคำตอบ เด็กสามารถใช้จินตนาการได้อย่างเต็มที่ เป็นการฝึกการทำงานของสมองได้อย่างดีเยี่ยม
  • กิจกรรมเล่าไปถามไป การเล่านิทานแล้วถามลูกกลับ เล่าไปถามไปเป็นการสื่อสารสองทางที่ช่วยให้ลูกคิดตามตลอด มีสมาธิจดจ่อ เพื่อให้ตัวเองสื่อสารตอบคำถามของผู้เล่าได้ นอกจากการเล่านิทานประกอบภาพแลัว การเล่าเรื่องจากเงาก็ช่วยสร้างสรรค์จินตนาการของเด็กได้อย่างมากทีเดียว

7. กิจกรรมฝึกทักษะเข้าสังคม (Social Skill)

ตั้งแต่แรกเกิด ลูกคุ้นชินเฉพาะสังคมครอบครัวซึ่งเป็นสังคมขนาดเล็ก พ่อแม่ควรเปิดโลกกว้างให้ลูกได้พบปะผู้คน เรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น และที่สำคัญเรียนรู้การทำกิจกรรมแบบทีมเวิร์ค กิจกรรมที่พ่อแม่ต้องโฟกัสเพื่อให้ลูกอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ได้แก่

  • กิจกรรมเรียนรู้กติกาสังคม ทุกสังคมมีกฎกติกา คุณแม่สามารถฝึกทักษะทางสัมคมให้ลูกได้จากกิจวัตรประจำวัน เช่น “ลูกมีเวลาทานอาหารว่าง 30 นาที” ถ้าครบ 30 นาที แล้วยังทานไม่เสร็จแม่จะเก็บ พอถึงเวลาคุณแม่ต้องเก็บจริง ไม่ใจอ่อนเพียงเพราะลูกร้องขอ ครั้งต่อไปลูกจะพยายามสนใจอยู่กับการรับประทานอาหารว่าง ไม่เล่นไปทานไป เพราะกลัวทานไม่ทันเวลา นอกจากนี้แล้ว มารยาททางสังคมที่เด็กทุกคนต้องมีคือ การรู้จัก ขอโทษ ขอบคุณ ขออนุญาต ฝึกลูกให้เป็นนิสัย ลูกจะได้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
  • สอนเรื่องการเล่นกับเพื่อน การเล่นกับเพื่อนทำไมต้องสอน เล่นเลยไม่ได้หรือ? เหตุผลที่ต้องสอนเพราะเด็กยังไม่รู้ถูกผิด สิ่งไหนไม่ชอบใจก็อาจเกิดแสดงกิริยาไม่เหมาะสมกับสังคมเพื่อนได้ เช่น อยากเล่นตุ๊กตาตัวเดียวกัน แม่ต้องสอนลูกให้ต่อคิวเล่น หรือรอให้เพื่อนเล่นเสร็จก่อน หลังเล่นต้องช่วยเพื่อนเก็บของเล่น การช่วยเหลือกันและกัน ทำให้งานเสร็จสำเร็จเร็วขึ้น

8. กิจกรรมฝึกทักษะมีคุณธรรม (Integrity)

คุณธรรมเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่ต้องใช้เวลาในการฝึกฝน เพราะเป็นเรื่องของจิตใจ การสอนลูกให้รู้จัก ผิด ชอบ ชั่ว ดี ได้ดีที่สุดคือการที่พ่อแม่ปฏิบัติเป็นตัวอย่าง ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ที่ช่วยฝึกทักษะด้านคุณธรรมนั้น ได้แก่

  • เล่านิทานที่สอดแทรกแง่คิดด้านคุณธรรม
  • พาลูกไปบริจาค แบ่งปันสิ่งของต่างๆ ตามโอกาส
  • พาลูกไปกราบญาติผู้ใหญ่ในเทศกาลสำคัญ
  • เลี้ยงสัตว์ที่เหมาะกับช่วงวัยและเหมาะกับสภาพบ้าน การเลี้ยงสัตว์จะหล่อ หลอมให้เด็กมีจิตใจอ่อนโยนและเมตตา เป็นคุณธรรมอีกข้อที่นำพาอนาคตลูกสู่ความสำเร็จได้

การเตรียมความพร้อมให้ลูกมุ่งสู่ความสำเร็จในอนาคต เป็นเรื่องใกล้ตัวที่คนเป็นพ่อแม่อยู่นิ่งเฉยไม่ได้ วันนี้คุณเริ่มแล้วหรือยัง? อนาคตกำหนดได้ยังไม่จบเพียงเท่านี้ ยังมีกลยุทธ์เด็ดๆ อีกมากมาย แล้วพบกันค่ะ

สนับสนุนโครงการ 8 ทักษะเตรียมความพร้อมเพื่ออนาคต โดยเอนฟาโกร เอพลัส

เรียนรู้เพิ่มเติมที่ www.enfababy.com/enfa8skills