เด็กขาดธาตุเหล็ก
ธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบของโปรตีนในร่างกายหลายชนิด ธาตุเหล็กมีหน้าที่ช่วยในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่จะนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ช่วยในการเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกาย เป็นส่วนประกอบของเอนไซน์ที่ร่างกายใช้ในการเผาผลาญพลังงาน โดยธาตุเหล็กเป็นธาตุอาหารสำคัญที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ จึงจำเป็นที่จะต้องได้จากอาหารอย่างเพียงพอ การขาดธาตุเหล็กจะส่งผลต่อพัฒนาการ ต่อการทำงานของร่างกายในส่วนต่างๆ แต่นอกเหนือไปจากนั้น ธาตุเหล็ก ยังเป็นส่วนประกอบสำคัญของสารสื่อประสาท ช่วยในการพัฒนาสมองของเด็กด้วย มีการศึกษาพบว่าเด็กที่ขาดธาตุเหล็กตั้งแต่วัยทารกจะมีผลการเรียนรู้ต่ำกว่าเด็กที่ไม่มีภาวะขาดธาตุเหล็ก ด้วยเหตุนี้ Mama expert จึงได้นำเกร็ดความรู้ดีๆ เกี่ยวกับธาตุเหล็กมาฝากคุณพ่อคุณแม่ มาดูกันเลยค่ะ
เด็กขาดธาตุเหล็กสาเหตุเกิดจากอะไร
ภาวะขาดธาตุเหล็ก เกิดจากร่างกายได้รับธาตุเหล็กจากอาหารไม่เพียงพอ หรือมีภาวะที่ร่างกายมีความต้องการธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ขาดธาตุเหล็ก ได้แก่
- แม่ขาดธาตุเหล็กในระหว่างตั้งครรภ์
- เด็กคลอดก่อนกำหนด (อายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์)
- การดื่มนมวัวปริมาณมาก (มากกว่า 2 ลิตรต่อวัน)
- การให้นมแม่นานกว่า 6 เดือน โดยไม่ให้อาหารเสริมที่มีธาตุเหล็กเพียงพอ
- อาหารที่รับประทานขาดธาตุเหล็ก หรือธาตุเหล็กไม่เพียงพอ (อาจเกิดจากการกินอาหารมังสวิรัติ)
เด็กขาดธาตุเหล็กมีอาการอย่างไร
การขาดธาตุเหล็กในระยะแรกอาจยังไม่มีอาการใดๆที่แสดงออกได้อย่างชัดเจน เนื่องจากมีธาตุเหล็กที่เก็บสะสมสำรองอยู่ในร่างกาย เมื่อการขาดธาตุเหล็กนั้นเป็นมากขึ้นจึงจะค่อยๆเริ่มแสดงอาการ โดยอาการที่เกิดได้บ่อยและทำให้แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดธาตุเหล็กได้นั้นมักเกิดจากอาการทางระบบเลือด คือ การเกิดภาวะโลหิตจาง อาการของภาวะโลหิตจาง ได้แก่ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หรือหากเป็นมากอาจมีอาการเหนื่อยเวลาอยู่เฉยๆ มีอาการเวียนศีรษะ หมดสติ ใจสั่น บางรายอาจแสดงออกทางสีผิว คือผิวซีดลง คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการของเด็กที่ขาดธาตุเหล็กเบื้องต้นได้ ดังนี้
- หัวใจเต้นแรง ชีพจรเร็วกว่าปกติ
- ร่างกายอ่อนเพลีย หายใจลำบาก เหนื่อยง่ายเวลาออกแรงหรือดูดนม
- ผิวซีด เปลือกตาล่าง ริมฝีปากหรือผิวมีภาวะซีด ไม่มีเลือดฝาดเหมือนผิดเด็กปกติ ปลายมือปลายเท้าเย็น
- มีแผลในปาก หรือมีอาการปวดบวมที่ลิ้น ลิ้นอักเสบ ปากหรือบริเวณรอบปากแห้ง
- เบื่ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อยลง
- คลื่นไส้อาเจียน ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ท้องผูกและหรือท้องเสีย
เมื่อคุณพ่อคุณแม่สังเกตพบว่าลูกน้อยมีอาการดังกล่าว ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคโดยเร็ว
เด็กขาดธาตุเหล็กต้องรักษาหรือไม่
เด็กขาดธาตุเหล็กควรได้รับการรักษา การดูแลและการเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพราะเด็กที่ขาดธาตุเหล็กจะมีพัฒนาการที่ช้ากว่าเด็กปกติ เนื่องจากการขาดธาตุเหล็กส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของสมอง หากพบว่าลูกมีอาการเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็ก คุณพ่อคุณแม่ควรรีบหาวิธีควบคุม ป้องกันและรักษาให้โดยเร็ว แนวทางการรักษาภาวะขาดธาตุเหล็ก คือ การให้ธาตุเหล็กเสริมอาหาร อาจโดยการกินหรือการฉีด (กรณีนี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและสาเหตุของโรค) และ การให้อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง นอกจากนั้น แพทย์จะรักษาตามอาการของเด็ก เช่น การรักษาด้วยการให้ยาถ่ายพยาธิเมื่อการขาดธาตุเหล็กเกิดจากพยาธิ
เด็กขาดธาตุเหล็กป้องกันได้หรือไม่
การป้องกันภาวะเด็กขาดธาตุเหล็ก สามารถทำได้โดย
- ป้องกันไม่ให้แม่ขาดธาตุเหล็ก ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ และระหว่างตั้งครรภ์
- พาลูกตรวจสุขภาพตั้งแต่แรกเกิด หรือตามที่แพทย์นัดเสมอ เพื่อการดูแลสุขภาพเด็กและการคัดกรองภาวะซีด
- Delay umbilical cord clampimg 30- 60 วินาที หรือ การตัดสายสะดือทารกหลังคลอดให้ช้าลง 2 นาที
- ให้อาหารลูกน้อยตามวัยที่เหมาะสม และถูกหลักโภชนาการ
- เมื่อพบว่าลูกมีอาการอยู่ในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็ก ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลและรักษา
เด็กขาดธาตุเหล็กเลี้ยงดูอย่างไร
เมื่อพบว่าลูกน้อยมีภาวะเสี่ยงในการขาดธาตุเหล็ก อันดับแรกต้องพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลรักษา โดยคุณพ่อคุณแม่เองก็มีส่วนสำคัญในการดูแลลูก สำหรับเด็กที่กินนมแม่ คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เน้นอาหารตามโภชนาการเนื่องจากสารอาหารต่างๆที่แม่รับประทาน สามารถผ่านทางน้ำนมได้ และสำหรับเด็กที่เริ่มอาหารเสริมแล้ว คุณแม่ควรเลือกสรรอาหารเสริมที่เหมาะสมตามช่วงวัยและถูกหลักโภชนาการ และที่สำคัญควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อตรวจติดตามอาการและรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง
เรื่องของโภชนาการสำหรับทารกในขวบปีแรก สิ่งที่ดีที่สุดก็คือการให้กินนมแม่ ควบคู่ไปกับอาหารตามวัยที่ถูกต้องและเหมาะสม จะทำให้ลูกน้อยของของคุณพ่อคุณแม่ มีสุขภาพแข็งแรง เติบโตสมวัย ฉลาด ไอคิวดีค่ะ
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
3.เมนู ข้าวตุ๋นตับหมู เพิ่มธาตุเหล็กเพื่อลูกน้อย
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team
อ้างอิง
1.คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. อาจารย์.นพ. ชัยเจริญ ตันธเนศ.โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก.เข้าถึงได้จาก http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=850 .[ค้นคว้าเมื่อ 26 มีนาคม 2561]
2.มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย. รศ พญ อุมาพร สุทัศน์วรวุฒิ. นมแม่และธาตุเหล็ก.เข้าถึงได้จาก http://www.thaibreastfeeding.org/articles.php?mode=content&id=24 .[ค้นคว้าเมื่อ 26 มีนาคม 2561]
3.ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก.เข้าถึงได้จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Iron-deficiency_anemia.[ค้นคว้าเมื่อ 26 มีนาคม 2561]