พัฒนาการเด็กด้านอารมณ์ ที่คุณแม่ต้องติดตาม 1000 วันแรกของชีวิต

18 October 2017
7730 view

พัฒนาการเด็กด้านอารมณ์

พื้นฐานทางอารมณ์ของทารกมีความแตกต่างระหว่างเด็กแต่ละคน เป็นผลมาจากพันธุกรรมและสภาพแวดล้อมขณะที่อยู่ในครรภ์ส่งผลทำให้ทารกแรกเกิดการแสดงพฤติกรรมที่แตกต่างกัน พัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กวัยเตาะแตะนี้ อารมณ์โกรธเป็นอารมณ์ที่พบได้บ่อย เนื่องจากเด็กมักใช้เป็นข้อเรียกร้องเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ อีกทั้งยังไม่สามารถสื่อสารเพื่อบอกความต้องการของตนเองได้ไม่ดีนัก จึงมีพฤติกรรมร้องอาละวาดในเด็กวัยนี้ รวมถึงแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น กัด เตะ และทุบตีพ่อแม่ พี่น้อง หรือเด็กคนอื่น มักแสดงความรู้สึกอิจฉาและความเป็นเจ้าของ

พัฒนาการเด็กด้านอารมณ์ของทารก

เด็กทารกจะมีอารมณ์ตื่นเต้นเพียงอย่างเดียว จากนั้นจะมีพัฒนาการทางอารมณ์ดังนี้

อารมณ์พอใจ แจ่มใส ดีใจ จะเกิดเมื่อทารกถูกสัมผัสตัวเบาๆ หรือเมื่อได้รับความอบอุ่นด้วยการกอดจากแม่เป็นต้น

อารมณ์ไม่พอใจ จะเกิดขึ้นเมื่อทารกถูกจับไม่ให้เคลื่อนไหว ถูกเปลี่ยนท่าอย่างรวดเร็ว หรือมีความเจ็บป่วย

อารมณ์ทั้งสองลักษณะของทารกจะเกิดขึ้นสลับกันไป ขึ้นอยู่กับประสบการณ์การเลี้ยงดูที่ได้รับ หากได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสม จะช่วยให้ทารกมีความรู้สึกมั่นใจ อบอุ่น มีอารมณ์แจ่มใส และมองโลกในแง่ดีต่อไป

พัฒนาการเด็กด้านอารมณ์ของเด็กอายุ 1-3 ปี

อารมณ์ของเด็กวัยนี้ เป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาอารมณ์ จะมีการพัฒนาอารมณ์มากขึ้นตามลำดับของวุฒิภาวะและประสบการณ์การเรียนรู้ที่ได้รับจากการเลี้ยงดู ลักษณะอารมณ์ที่พัฒนาขึ้นในระยะนี้ มีดังนี้

อารมณ์โกรธ เกิดจากการที่ไม่ได้รับการตอบสนอง หรือถูกขัดขวางความต้องการ มักจะแสดงออกด้วยการส่งเสียงร้องอย่างไม่สบอารมณ์ ร้องกรี๊ด นอนบนพื้นถีบขาไปมา อารมณ์โกรธอาจเกิดจากการเลียนแบบพ่อแม่ หากอารมณ์โกรธเกิดสม่ำเสมอจะพัฒนาเป็นบุคคลที่มีบุคลิกลักษณะก้าวร้าว รุนแรง

อารมณ์กลัว เด็กมักจะกลัวคนแปลกหน้า กลัวสถานที่ที่แปลกใหม่ กลัวสิ่งที่มีเสียงดัง กลัวความมืด เป็นต้น มักจะแสดงออกด้วยการหลบหลีก ร้องไห้ การแอบหลังผู้ใหญ่ในบางครั้ง ความกลัวนี้อาจเป็นสิ่งกระตุ้นให้เด็กเกิดความอยากรู้อยากเห็นได้

อารมณ์อิจฉา เกิดจากการรวมเอาอารมณ์โกรธและกลัวเข้าด้วยกัน มักเกิดได้ง่ายเมื่อมีน้องและพ่อแม่เอาใจใส่น้องเป็นพิเศษ ทำให้ตนขาดความสำคัญ พ่อแม่ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจถึงสภาพเป็นจริงและควรดูแลเอาใจใส่ไม่ทำให้ลูกรู้สึกเหมือนขาดความอบอุ่นหรือพ่อแม่ไม่ได้รักเขา

อารมณ์อยากรู้ยากเห็น เมื่อเด็กได้รับการกระตุ้นที่รุนแรงก็จะรู้สึกสนใจขึ้นมา มักยากจะเห็นสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ความกลัวก็เป็นลักษณะหนึ่งที่ช่วยให้ทารกเกิดความอยากรู้ยากเห็นได้

อารมณ์ดีใจ เป็นอารมณ์แห่งความรื่นรมย์ มีความสุข มักเกิดขึ้นกับเด็กที่มีสุขภาพดี จะรู้จักยิ้มกับผู้อื่นหรือร่วมหัวเราะไปกับผู้อื่นเมื่อรู้สึกพอใจ

อารมณ์รัก เด็กจะต้องการความเป็นอิสระ เมื่อผู้เลี้ยงตามใจหรือตอบสนองความต้องการของเด็ก เด็กจะรักและไว้ใจเป็นพิเศษเมื่อเด็กมีอารมณ์รัก

เด็กแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะและความต้องการแตกต่างกัน เด็กจะสามารถปรับตัวได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของพ่อแม่และพื้นฐานทางด้านอารมณ์ของเด็ก ดังนั้นพ่อแม่ควรเข้าใจธรรมชาติของลูก ปรับตัวเข้าหา จะช่วยพัฒนาด้านอารมณ์ของเด็ก ทำให้การเลี้ยงดูมีความราบรื่นมากขึ้นค่ะ

บทความแนะนำ

1. เด็กอารมณ์ไม่ดี ส่งผลต่อ IQ ได้อย่างไร

2. 12วิธีเลี้ยงลูกให้ดี EQ สูง อารมณ์ดี เลี้ยงง่าย

3. 4เทคนิคฝึกลูกให้เป็นเด็กยิ้มเก่งและอารมณ์ดี๊ดี

เรียบเรียงโดย :  Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง :

1. ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย.คู่มือสำหรับพ่อแม่เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการดูแลและพัฒนาเด็ก.วัยเด็กเล็ก 0-3 ปี.เข้าถึงได้จาก http://www.thaipediatrics.org/Media/media-20171010123052.pdf .[ค้นคว้าเมื่อ 14 ตุลาคม 2560]

2. Dr A.J.R Waterston,MD,FRCP,FRCPCH,DRCOG,DCH.คัมภีร์การดูแลทารกและเด็กเล็ก.พัฒนาการเดือนต่อเดือนของลูก,หน้า 105-134.สำนักพิมพ์เอ็มไอเอส.กรุงเทพฯ.[ค้นคว้าเมื่อ 16 ตุลาคม 2560]