จะรู้ได้อย่างไร ว่าลูกเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด?

23 February 2012
2466 view

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็ก ในประเทศไทยพบประมาณ 5-8 คนจากเด็กเกิดมีชีพ 1,000 คนโดยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ทั้งในด้านพยาธิสภาพ อาการและ อาการแสดง ดังนั้นการรักษาและการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงต้องแตกต่างกันไปด้วย ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพที่รุนแรง การที่ได้รับการวินิจฉัยล่าช้า ยังส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและเป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตได้

ชนิดของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

ชนิดของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

  1. ชนิดเขียว เช่น โรค TOF ชนิดเขียว เป็นอาการที่เกิดจากเลือดดำไหลเข้าสู่เส้นเลือดแดงที่ส่งไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ทำให้เด็กมีลักษณะผิวหนัง หรือกล้ามเนื้อเขียวคล้ำ มักพบอาการเขียวที่เด่นชัดในบริเวณปลายมือ ปลายเท้า ริมฝีปาก และใบหน้า
  2. ชนิดไม่เขียว เช่น โรคผนังกั้นห้องหัวใจรั่วทั้งบนและล่าง โรคลิ้นของเส้นเลือดไปปอดตีบ โรคเส้นเลือดเกิน ชนิดไม่เขียว เป็นอาการที่เกิดจากร่างกายได้รับออกซิเจนที่ส่งมากับเลือดไม่เพียงพอ และหัวใจมีการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้น้อยลง ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากได้เหมือนคนปกติ ในวัยทารกจะมีอาการเหนื่อยง่ายขณะดูดนม เมื่อเด็กโตขึ้นจะมีอาการเหนื่อยง่ายเมื่อทำกิจกรรมหรือออกแรงทำสิ่งใดๆ หากมีการทำกิจกรรมที่หนักอย่างต่อเนื่องอาจทำให้ร่างกาย และสมองขาดออกซิเจน เป็นลมหมดสติได้ง่าย

รู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

  1. ลูกเขียวหรือเปล่า ลูกผิวคล้ำแดงทั่วร่างกาย แถวริมฝีปาก ลิ้น ปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า เวลาดูดนม หรือเวลาร้องจะดูเดียวมากขึ้น
  2. ลูกหายใจเร็วกว่าปกติ เพราะมีการคั่งของเลือดในปอด ทำให้หายใจเร็วกว่าปกติ
  3. หัวใจลูกเต้นเร็ว และแรงกว่าปกติ โดยจะมีการกระเพื่อมของหน้าอกซ้ายด้านล่างแถวๆใกล้ราวนม และบางครั้งอาจเห็นการกระเพื่อมที่หน้าอกคล้ายกลองที่ถูกตี
  4. ดูดนมแล้วเหนื่อยง่ายกว่าปกติ ดูดนมทีละน้อยๆ ต้องหยุดพักก่อน
  5. ลูกมีเหงื่อออกง่ายกว่าปกติ ดูดนมไม่ค่อยเก่ง ดูดทีละน้อยๆ ต้องหยุดพักบ่อย และใช้เวลานานกวา่ปกติ
  6. ลูกไม่ค่อยโต หรือเติบโตช้ากว่าปกติ ดูดนมไม่เก่ง รับประทานอาหารได้น้อย และอาจมีการดูดซึมอาหารของลำไส้ไม่ดีเท่าปกติ
  7. ลูกเป็นหวัดง่าย ไอ หรือปอดบวมบ่อย เพราะมีการคั่งของเลือดที่เยื่อบุผิวของหลอดลมและปอด ทำให้ติดเชื้อง่าย จึงเป็นหวัด หรือ ปอดบวมง่าย และป่วยบ่อยกว่าเด็กปกติทั่วๆไป

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด มีอาการอย่างไร?

อาการของโรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิดจะขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของความผิดปกติ บางรายที่มีความรุนแรงน้อยมักมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการเลย ส่วนผู้ป่วยที่เป็นมากอาจมีอาการที่สังเกตได้ดังต่อไปนี้

  1. อาการเขียว จะมีสีม่วงคล้ำที่เล็บ ริมฝีปากและเยื่อบุภายในช่องปาก
  2. หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็วและหายใจลำบาก เหนื่อยง่าย ในทารกจะสังเกตได้เวลาดื่มนม ทำให้ดื่มนมได้น้อย
  3. เลี้ยงไม่โต
  4. เหงื่อออกมาก อ่อนเพลีย

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด รักษาอย่างไร

  1. รักษาด้วยยา ในรายที่หัวใจมีความผิดปกติไม่มากและหายเองได้ เช่น ผนังหัวใจห้องล่างรั่ว หรือในรายที่ยังไม่เหมาะสมต่อการผ่าตัด อาจจะรักษาด้วยยาไปก่อน รวมถึงการรักษาภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ปอดบวม
  2. การผ่าตัด จะการผ่าตัดในรายที่เป็นมาก รักษาด้วยยาไม่ได้ผล หรือทำการผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติของหัวใจ ส่วนผลของการผ่าตัดจะได้ผลดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับระดับความผิดปกติของหัวใจ ขนาดของร่างกายผู้ป่วย ถ้าน้ำหนักตัวน้อยก็จะมีความเสี่ยงสูงกว่า

ลูกเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ดูแลอย่างไร?

เด็กที่เป็นโรคหัวใจมักมีภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว คุณพ่อคุณแม่จึงควรเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น โรคปอดอักเสบหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น ควรหมั่นดูแลสุขภาพช่องปากและฟันเด็กให้ดี ป้องกันฟันผุ เพื่อระวังการติดเชี้อเข้ากระแสเลือดและเกิดการอักเสบที่หัวใจในภายหลัง 

หากสังเกตว่ามีอาการที่แสดงถึงความผิดปกติ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปปรึกษากุมารแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจเพิ่มเติม เพื่อ ตรวจคลื่นหัวใจ เอกซเรย์หัวใจ คลื่นเสียงความถี่สูงหัวใจ และการสวนหัวใจเพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอน จะได้รู้ว่าลูกน้อยของเรา มีภาวะของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดหรือไม่ เพื่อการดูแลและรักษาต่อไปในอนาคตค่ะ

บทความแนะนำสำหรับแม่ตั้งครรภ์

1. การตรวจความผิดปกติหัวใจของทารกในครรภ์

2. โรคภูมิแพ้ในแม่ตั้งครรภ์

3. โรคอันตรายระหว่างตั้งครรภ์

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team