ท้องนอกมดลูก
กระบวนการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติของผู้หญิงนั้นเมื่อไข่ (ovum) ตกจากรังไข่ (ovary) แล้วบังเอิญมีตัวอสุจิ (sperm) ของผู้ชายเดินทางผ่านจากช่องคลอดเข้าไปยังมดลูกแล้วออกไปทางท่อนำไข่ไปพบกับ ไข่เข้า ก็จะเจาะไข่เข้าไปผสม (fertilization) กลายเป็นตัวอ่อน (embryo) จากนั้นตัวอ่อนจะเดินทางกลับมาตามท่อนำไข่ผ่านเข้าไปในมดลูก (uterus) ซึ่งเป็นที่ที่เหมาะจะเป็นที่ฝังตัว (implant) เพื่อการเจริญเติบโตต่อไป และเมื่อตัวอ่อนฝังตัวในตัวแม่แล้วนั้นจึงจะเรียกว่ามีการตั้งท้องหรือตั้ง ครรภ์เกิดขึ้น
ท้องนอกมดลูกคืออะไร
การเดินทางของตัวอ่อนอาจไม่สะดวกหรือเดินทางเร็วเกินไป หรืออาจวกวนจนทำให้มันไม่อาจไปฝังตัวในที่ที่เหมาะสมในโพรงมดลูกได้ การที่มันฝังตัวในที่อื่นๆ นอกเหนือจากในโพรงมดลูกนี้เรียกว่า “ท้องนอกมดลูก” ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นประมาณ 1-2% และจะมีโอกาสเกิดมากยิ่งขึ้นหากผู้นั้นเคยตั้งท้องนอกมดลูกมาก่อนแล้ว
สาเหตุของการท้องนอกมดลูก
สาเหตุสำคัญคืออะไรก็ตามที่ทำให้การเดินทางของตัวอ่อน ไม่สามารถเดินทางได้ดีตามระยะเวลา ที่เหมาะสมในการจะฝังตัว (โดยปกติการฝังตัวของตัวอ่อนมักจะเกิดขึ้นประมาณวันที่ 7 หลังจากการผสมของไข่และตัวอสุจิแล้ว) เช่น
- เคยมีการติดเชื้อที่ท่อนำไข่และอุ้งเชิงกรานซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้ท่อนำไข่อุดตัน
- มีแผลเป็นหรือพังผืดดึงรั้งในช่องท้องกับรังไข่และท่อนำไข่ เช่น การเป็นโรคเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญนอกโพรงมดลูก (endometriosis) ปฏิกิริยาแผลเป็นจากการผ่าตัด หรือเคยเกิดการอักเสบในอุ้งเชิงกราน ทำให้การเคลื่อนตัวของตัวอ่อนเป็นไปไม่สะดวก
- คนที่เคยรับการผ่าตัดที่ท่อนำไข่ ไม่ว่าจะเป็นการทำหมันแล้วบังเอิญเกิดการต่อกลับมาเองได้ตามธรรมชาติ หรือการผ่าตัดแก้ไขการอุดตันของท่อนำไข่เพื่อช่วยให้มีลูกได้
- คนที่สูบบุหรี่มีโอกาสท้องนอกมดลูกสูงกว่าคนปกติมากถึง 5 เท่า อาจเป็นเพราะนิโคตินไปกระตุ้นให้ท่อนำไข่บีบรัดตัวทำให้ตีบตัน ยากแก่การที่ตัวอ่อนจะเดินทางโดยสะดวก
- การใช้ยาบางอย่าง เช่น ยากระตุ้นการตกไข่ หรือการใช้ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน
การท้องนอกมดลูกสามารถเกิดขึ้นได้ที่ใด
ผู้หญิงที่ท้องนอกมดลูกส่วนใหญ่มากกว่า 95% พบว่าตัวอ่อนจะไปฝังตัวที่ท่อนำไข่ (fallopian tube) นอกนั้นอาจพบที่รังไข่ ปากมดลูก หรือในช่องท้อง ซึ่งล้วนไม่ใช่ที่ที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของตัวอ่อน ในที่สุดก็ไม่สามารถพัฒนาและอยู่รอดได้ (ยกเว้นในบางรายแต่พบน้อยมากที่มีรายงานว่าตัวอ่อนไปฝังตัวในช่องท้องและ เติบโตจนครบกำหนดคลอด แต่แม่ก็มีปัญหาต่อเนื่องจากการที่รกไปฝังตัวที่อวัยวะอื่นๆ ในช่องท้อง เรียกได้ว่าถึงรอดมาได้ก็สะบักสะบอมทั้งแม่-ลูก และแพทย์-พยาบาล) เมื่อตัวอ่อนฝังตัวได้แล้วก็จะเริ่มหยั่งรกลงไปในที่ๆ มันฝังตัว และเริ่มเจริญเติบโตขึ้น แต่เพราะที่อยู่ไม่เหมาะสมจึงไม่สามารถอยู่รอดได้ โตไม่ได้ ถ้ามันอยู่บริเวณปลายท่อนำไข่ก็อาจจะหลุดออกมา หรือจุดที่มันฝังตัวก็จะแตกและมีเลือดออกตั้งแต่เล็กน้อยและหยุดได้เองซึ่ง มีไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะเกิดเลือดออกอย่างรวดเร็วและมากจนทำให้ช็อกได้ และเลือดที่ออกนี้จะถูกขังอยู่ในช่องท้องไม่ไหลออกมาข้างนอกให้เห็น จึงเรียกกันว่าเลือดตกใน
อันตรายของการท้องนอกมดลูก
ในช่วงก่อนศตวรรษที่ 19 อัตราการตายจากท้องนอกมดลูกมีมากถึง 50% แต่พอถึงปลายศตวรรษที่19 การพัฒนาทางแพทย์เจริญขึ้นมากจนทำให้ลดอัตราตายจากท้องนอกมดลูกลงเหลือเพียง 5% เท่านั้น นั่นเพราะเดิมเรายังไม่สามารถค้นพบว่ามีการตั้งท้องนอกมดลูกได้อย่างรวดเร็ว พอ กว่าจะพบว่าผิดปกติก็ตอนที่ท่อนำไข่แตก เกิดการเสียเลือดในช่องท้องอย่างรวดเร็วและมากจนไม่สามารถจะช่วยชีวิตได้ทันการลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ก็คือการค้นให้พบว่ามีการตั้งท้องนอกมดลูกได้เร็วที่สุด หรือถ้าพบในระยะที่ท่อนำไข่แตกเสียแล้ว การวินิจฉัยและการผ่าตัดเพื่อห้ามเลือดต้องทำให้ได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่ว่าวิธีการไหนต่างก็มีข้อจำกัดทั้งสิ้น
อาการที่น่าสงสัยว่าจะเกิดการท้องนอกมดลูก
- อาจเกิดอาการตั้งแต่ตอนที่ประจำเดือนยังไม่ทันจะขาด หรือเมื่อประจำเดือนเพิ่งเริ่มจะขาดหายไปเพียงไม่กี่วันก็ได้ เป็นต้นว่า
- อาจเริ่มมีอาการของคนตั้งท้อง เช่น คลื่นไส้ เต้านมคัดตึง หรือบางคนก็ไม่มีอาการเหล่านี้เลย
- หลังจากประจำเดือนขาดไป 1 สัปดาห์ หรืออาจเร็วหรือช้ากว่านั้น มักจะมีเลือดออกจากช่องคลอด มักเป็นสีน้ำตาลคล้ำคล้ายช็อกโกแลตเหลว ไม่มากมายนักโดยมักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นประจำเดือน
- ปวดท้องที่ท้องน้อยส่วนล่าง อาจบอกได้ว่าข้างไหน หรือบอกไม่ได้ในคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการท้องนอกมดลูกดังที่กล่าวมาแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์แต่เนิ่นๆ เมื่อเริ่มตั้งท้อง อย่างเร็วที่สุดที่จะตรวจพบว่าท้องก็คือ 7-8 วันหลังจากไข่ผสมกับอสุจิอันเป็นเวลาที่ตัวอ่อนเริ่มฝังตัวนั่นเอง หรือเมื่อเริ่มมีอาการเหล่านี้ อย่างไรก็ตามคนที่พบว่าท้องนอกมดลูกแม้จะมาหาแพทย์ได้ไวแต่ตัวอ่อนก็ไม่ สามารถจะเจริญเติบโตต่อไปได้ แต่การตรวจพบแต่เนิ่นๆ ก่อนที่ท่อนำไข่จะแตก จะทำให้ไม่ต้องเผชิญกับการเสียเลือดมากจนแพทย์ต้องรีบห้ามเลือดโดยการสละ อวัยวะที่มันเกาะอยู่เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต และแพทย์สามารถเลือกทางรักษาโดยพยายามเก็บท่อนำไข่หรือรังไข่ไว้เพื่อการ ตั้งท้องในครั้งใหม่ได้
ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานโดยไม่ไปพบแพทย์ หรือเหตุการณ์เกิดขึ้นต่อเนื่องรวดเร็วมากไม่ทันสังเกต จนอวัยวะที่มันเกาะเกิดแตกขึ้นมา อาการที่เป็นก็คือ
- ปวดท้องน้อยอย่างมาก
- อาจปวดร้าวขี้นไปไหล่และหลัง เพราะเลือดที่ออกมากจะไปกดใต้กระบังลม
- หน้ามืดเป็นลมเพราะเสียเลือดมาก
- ความดันต่ำ หัวใจเต้นเร็ว ซีด ช็อก
อาการเหล่านี้เป็นภาวะฉุกเฉินถึงชีวิตเลยทีเดียว จึงจำเป็นต้องรีบไปโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วที่สุด
จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นท้องนอกมดลูก
ในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการที่น่าสงสัย สิ่งที่จะบอกว่าใช่ท้องนอกมดลูกหรือไม่ก็คือ การตรวจหลายๆ อย่างร่วมกัน
- ตรวจร่างกาย ถ้าคนนั้นมาพบแพทย์ในสภาพที่ท้องนอกมดลูกแตก เสียเลือดมากแล้ว ก็อาจพบว่าซีด และอยู่ในสภาพเกือบช็อกหรือช็อกแล้ว
- ตรวจหน้าท้อง อาจพบว่ามีท้องโป่ง กดและปล่อยเจ็บ
- ตรวจภายใน อาจพบเลือดสีคล้ำในช่องคลอด เมื่อโยกปากมดลูกจะรู้สึกเจ็บ อาจคลำพบก้อนผิดปกติที่ปีกมดลูกด้านใดด้านหนึ่ง ในส่วนลึกสุดของช่องคลอดด้านหลังอาจนูนโป่งจากการที่เลือดไหลไปกองอยู่ใน นั้น
การตรวจร่างกายแล้วพบสิ่งเหล่านี้ถือว่าค่อนข้างชัดแจ้งว่าน่าจะเป็นท้องนอก มดลูกในระยะที่มันแตกออกและเสียเลือดอย่างมากแล้ว (มีมากที่การเสียเลือดตกในช่องท้องไม่ใช่จากท้องนอกมดลูกแตก แต่อาจเป็นม้ามแตก ตับแตกได้โดยดูจากประวัติการถูกเตะ หรือถูกกระแทกจะช่วยให้รู้ว่าน่าจะเป็นจากอะไร แต่ในชีวิตการเป็นหมอมานานก็พบอยู่หลายครั้งที่คนไข้ช็อกสามีนำส่งโรงพยาบาล ไม่มีสามีคนไหนที่จะบอกนำร่องว่าเกิดอะไรขึ้นทั้งๆ ที่ถามแล้วถามอีก จนผ่าตัดแล้วพบว่าเป็นเพราะม้ามแตก ออกมาถามหลังผ่าตัดเสร็จจึงได้รับคำสารภาพว่าเตะเขาเบาๆ เท่านั้น ยังนึกว่าเมียใจเสาะทำท่าปวดท้องหน้ามืดเป็นลม ยังดีที่นำส่งโรงพยาบาลไม่งั้นได้ติดคุกฐานฆ่าเมียแน่) บางครั้งการตรวจร่างกายก็ก้ำกึ่งไม่พบอะไรที่ชัดเจน จำเป็นต้องใช้วิธีอื่นช่วย อาทิเช่น
- ตรวจปัสสาวะพบฮอร์โมนที่บ่งว่ามีการตั้งครรภ์ ซึ่งจะพบได้เมื่อตัวอ่อนเริ่มฝังตัวนั้นเอง แต่บางครั้งก็มีข้อจำกัดที่ผลตรวจเป็นลบ ซึ่งไม่ได้แปลว่าไม่ตั้งครรภ์ เพียงแต่ตรวจไม่พบฮอร์โมนที่บอกว่าตั้งครรภ์จากการแท้งหรือตัวอ่อนไม่พัฒนา แล้วจึงทำให้ระดับฮอร์โมนน้อยจนตรวจไม่พบในปัสสาวะได้
- ตรวจอัลตราซาวนด์ทางช่องคลอดหรือหน้าท้องส่วนล่าง เพื่อดูว่ามีการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูกหรือที่ส่วนไหน แต่ข้อจำกัดก็คือ ช่วงก่อนสัปดาห์ที่ 5 หากทำอัลตราซาวนด์จะยังไม่เห็นถุงน้ำที่บ่งบอกว่ามีการตั้งครรภ์ จะเห็นได้เร็วที่สุดต้องหลัง 5 สัปดาห์ขึ้นไปแล้ว
- ตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมน beta-HCG ก็จะช่วยได้ถ้าฮอร์โมนอยู่ในระดับที่บอกว่าตั้งครรภ์ แต่การตรวจครั้งเดียวก็ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นท้องแบบไหน ต้องตรวจติดตามทุก 2 วัน เพื่อดูระดับถ้าสูงขึ้นเกินกว่า 2 เท่าตัวของแต่ละครั้งที่ผ่านมา ก็น่าจะไม่มีปัญหาการแท้ง แต่ถ้ามันสูงขึ้นน้อยกว่า 2 เท่าตัวหรือลดลง ก็แปลว่าน่าจะมีปัญหาเรื่องการเจริญเติบโตของตัวอ่อน เช่น แท้งหรือท้องนอกมดลูกได้ ไม่อาจฟันธงว่าเป็นท้องนอกมดลูกเพียงอย่างเดียว
- ส่องกล้องทางช่องท้อง (laparoscopy) เป็นการส่องกล้องผ่านช่องท้องเข้าไปดูว่ามีปัญหาเช่นไร ท้องนอกมดลูกที่จุดไหน และทำการผ่าตัดแก้ไขไปด้วยได้เลย
- ใช้เข็มเจาะในช่องคลอด (culdocentesis) เพื่อตรวจพิสูจน์ว่ามีการตกเลือดในช่องท้องจริง เพราะบางครั้งสิ่งที่อยู่ในช่องท้องที่ทำให้มีอาการและผลการตรวจร่างกาย คล้ายกันอาจเป็นจากหนองหรือเซรั่มก็ได้
การรักษาการท้องนอกมดลูก
- การใช้ยา สิ่งสำคัญต้องรู้ว่าการท้องนอกมดลูกไม่อาจจะทำให้ตัวอ่อนเติบโตต่อไป และไม่สามารถย้ายตัวอ่อนไปฝังตัวใหม่ให้ถูกที่ถูกทางในโพรงมดลูกได้ ดังนั้นถึงแม้จะวินิจฉัยพบได้เร็วตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ก็จำเป็นต้องสละตัวอ่อนทิ้งเพียงอย่างเดียว โดยทางเลือกที่จะใช้ยา methotrexate แทนการผ่าตัดยังคงทำได้ ทำให้มันฝ่อลง พอจะช่วยรักษาสภาพของท่อนำไข่ไว้เพื่อการตั้งครรภ์ครั้งหน้าได้
- โดยการผ่าตัด ท้องนอกมดลูกที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่จำเป็นต้องทำการผ่าตัดรักษา แต่การจะตัดมากน้อยแค่ไหน เก็บซ่อมแซมท่อนำไข่และรังไข่ได้ดีขนาดไหน ก็ขึ้นกับสภาพความเสียหายที่มันเกาะหรือการแตกของท่อนำไข่นั้น
- ถ้ารังไข่หรือท่อนำไข่ที่แตกมีความเสียหายมาก ก็มักจะตัดท่อนำไข่ออกไปพร้อมๆ กับตัวอ่อนเลย
- ถ้าสภาพท่อนำไข่ยังดีอยู่ไม่แตกออก การพยายามรีดเอาตัวอ่อนออกมาโดยเก็บท่อนำไข่ไว้ก็อาจทำได้
- แนวความคิดของการรักษานั้นคือ พยายามเก็บท่อนำไข่และรังไข่ไว้เพื่อการตั้งท้องในครั้งหน้า แต่ถ้ามีลูกพอเพียงแล้ว การตัดเอาส่วนที่มีการตั้งท้องนอกมดลูกออกก็จะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด
สำหรับการผ่าตัดนั้น มี 2 วิธีที่แพทย์จะเลือกใช้ตามความเหมาะสม
- การใช้กล้อง laparoscope ผ่านรูเล็กๆ ทางหน้าท้อง ซึ่งจะใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลน้อยลงและเจ็บแผลหลังผ่าตัดน้อยลง
- การผ่าตัดเปิดหน้าท้องตามปกติ ถ้าคนไข้เสียเลือดมาก หรือช็อก การผ่าตัดโดยเปิดแผลกว้างจะเป็นวิธีที่สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้นในการหยุด เลือด ซึ่งย่อมสำคัญต่อการรักษาชีวิตไว้ได้มากกว่า
มีโอกาสท้องนอกมดลูกอีกหรือไม่ในอนาคต
พบว่าคนที่เคยมีประสบการณ์ท้องนอกมดลูก มีโอกาสที่จะเป็นได้อีกถึง 12% ถ้าท่อนำไข่ยังคงสภาพดีก็มีโอกาสที่จะตั้งท้องปกติได้ แต่มีความเสี่ยงที่จะเป็นอีกสูงกว่าคนทั่วไป จึงควรเริ่มพบแพทย์โดยทันทีที่ประจำเดือนเริ่มขาดหายไป
จะป้องกันการท้องนอกมดลูกได้หรือไม่ ?
คำตอบคือไม่สามารถป้องกันได้ค่ะ แต่ทางที่จะช่วยไม่ให้ท่อนำไข่เสียหายจากการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานอันจะส่ง ผลต่อเนื่องให้ท่อนำไข่อุดตันอันเป็นโอกาสให้เกิดท้องนอกมดลูกนั้น อาจทำได้โดยหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์อย่างสำส่อน และควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ แม้ไม่อาจป้องกันการท้องนอกมดลูกได้โดยตรง แต่การลดความเสียหายและสูญเสียชีวิตจากการท้องนอกมดลูกสามารถทำได้ ถ้าค้นพบและจัดการกับมันได้เร็ว
บทความแนะนำเพิ่มเติม
1. เนื้องอกในมดลูกขณะตั้งครรภ์
2. ภาวะมดลูกแตกภาวะอันตรายที่แม่ท้องต้องระวัง!!
3. ปากมดลูกหลวมขณะตั้งครรภ์ แม่ท้องต้องระวัง!!!
เรียบเรียงโดย : Mama Expert Editorial Team