การนอนของเด็กวัย 25-30 เดือน
เมื่อลูกน้อยก้าวเข้าสู่วัยสองถึงสามขวบ เขายังควรที่จะต้องนอนคืนละประมาณ11 ถึง 12 ชั่วโมงและนอนในช่วงบ่ายประมาณชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมงทุกวัน ส่วนใหญ่เด็กในวัยนี้จะเข้านอนตอนประมาณหนึ่งทุ่มถึงสามทุ่ม และตื่นในช่วงประมาณหกโมงครึ่งถึงแปดโมงเช้า ซึ่งอาจดูเหมือนว่าในที่สุดเจ้าตัวน้อยก็เริ่มมีการนอนที่เหมือนกับคุณพ่อคุณแม่แล้ว แต่ที่จริง เขาจะมีช่วงระยะที่หลับไม่สนิท (REM sleep) ยาวนานกว่าคุณพ่อคุณแม่ค่ะ และเมื่อนอนเข้าสู่ช่วงระยะที่หลับสนิท (non-REM sleep) ลูกก็จะหลับในระดับที่ลึกกว่าคุณพ่อคุณแม่ด้วย ซึ่งจากการที่ร่างกายของลูกมีการเปลี่ยนช่วงระยะการนอนที่แตกต่างกันมาก นี่เองทำให้ลูกตื่นบ่อยกว่าคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกน้อยพยายามหลับได้เองหากตื่นขึ้นมาในช่วงกลางดึก
การสร้างสุขนิสัยการนอนของเด็กวัย 25-30 เดือน
เมื่อน้องเริ่มโตขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจนำเทคนิคใหม่ๆ มาใช้ช่วยให้ลูกน้อยนอนหลับสนิทได้ดีขึ้นดังเช่นต่อไปนี้ค่ะ
- การย้ายลูกน้อยไปนอนเตียงที่ใหญ่ขึ้นและชมเชยเขาเวลาที่เขายอมนอนอยู่ในเตียงแต่โดยดี ช่วงนี้เป็นช่วงอายุที่คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มเปลี่ยนให้ลูกน้อยไปนอนเตียงที่ใหญ่ขึ้นสำหรับเด็กเริ่มโตแทนเตียงเดิมค่ะ ทั้งนี้เพราะเขาตัวโตเกินเตียงเดิมแล้ว รวมไปถึงคุณแม่ที่อาจกำลังจะมีน้องใหม่ด้วยค่ะ ถ้าคุณแม่กำลังจะมีน้องอีกคน คุณแม่ควรรีบตัดสินใจในเรื่องการเปลี่ยนเตียงนอนนี้และฝึกให้เขาย้ายไปนอนเตียงใหม่อย่างน้อยสองถึงสามเดือนก่อนที่จะคลอดน้องคนใหม่นะคะเพื่อให้เขาคุ้นเคยกับเตียงใหม่ก่อน ก่อนที่จะเห็นว่าเตียงเดิมถูกน้องคนใหม่มาใช้แทน เมื่อเขาย้ายไปนอนเตียงใหม่และเริ่มคุ้นเคยแล้ว อย่าลืมชมเชยลูกน้อยเวลาที่เขานอนบนเตียงได้โดยไม่ลุกขึ้นมาบ่อยๆ หรือนอนยาวในตอนกลางคืนด้วยนะคะทั้งนี้การย้ายเขาไปเตียงใหม่นี้ ลูกน้อยมีโอกาสที่จะพยายามลุกออกจากเตียงใหม่บ่อยๆ เพราะไม่มีอะไรกันเขาไว้อีกแล้ว ถ้าเขาทำอย่างนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามเก็บอารมณ์ไว้ และพาเขากลับไปที่เตียงเพื่อเข้านอน และย้ำกับเขาอย่างหนักแน่นว่าถึงเวลานอนแล้ว แล้วก็ออกไปจากห้องเพื่อให้เขาหลับได้เอง
- การรวมสิ่งที่ลูกน้อยชอบขอเข้ากับกิจวัตรประจำก่อนนอน ถ้าลูกน้อยเริ่มโยเยไม่ยอมเข้านอนและเริ่มเรียกร้องจะเอาสิ่งต่างๆ เช่นอยากฟังนิทานอีกเรื่อง ฟังเพลงอีกเพลง หรือเอาน้ำอีกแก้ว แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่รวมเอาสิ่งที่เขาชอบขอบ่อยๆไปรวมเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรก่อนนอนเลยค่ะ นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่อาจจะยอมให้เขาขอได้อีกหนึ่งอย่างแต่ต้องบอกเขาให้เข้าใจนะคะว่าขอเพิ่มได้แค่อย่างเดียว วิธีนี้จะทำให้เจ้าตัวเล็กรู้สึกว่าเขาได้อย่างที่ต้องการ แต่จริงๆแล้วคุณพ่อคุณแม่ต่างหากที่เป็นผู้คุมเกมตัวจริง
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พึงระวังกับการนอนของเด็กวัย 25-30 เดือน
หลังจากเปลี่ยนไปนอนเตียงใหม่แล้ว ถ้าลูกน้อยเริ่มไม่ยอมนอนและลุกขึ้นมาบ่อยมากขึ้น ให้คุณพ่อคุณแม่พาเขากลับไปที่เตียงแล้วย้ำให้เขาเข้านอนค่ะ ส่วนจะแก้ไขสถานการณ์อย่างไร อันนี้คงต้องแล้วแต่เทคนิคของคุณพ่อคุณแม่แต่ละคนด้วยเช่นกันค่ะ ผู้เชี่ยวชาญเองก็มีความเห็นที่ต่างกันในเรื่องนี้ บางท่านแนะนำว่าไม่ควรโอ๋หรือเอาเขาไปนอนที่เตียงคุณพ่อคุณแม่ ในขณะที่บางท่านก็บอกว่า ถ้าน้องสามารถหลับได้ด้วยตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถเข้าไปกล่อมลูกน้อยได้ บางท่านก็แนะนำว่าให้ไปที่ห้องเขาทันทีและหาสาเหตุของปัญหาที่ทำให้ลูกน้อยไม่ยอมนอน นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่อาจจะเริ่มสังเกตเห็นว่า ช่วงนี้ลูกน้อยเริ่มมีการกลัวหรือกังวลในบางสิ่งบางอย่างเมื่อถึงตอนดึก เช่น กลัวความมืด กลัวสัตว์ประหลาดใต้เตียง หรือกลัวการที่ต้องแยกจากคุณพ่อคุณแม่ ความกลัวเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาของเด็กวัยนี้ค่ะ คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ต้องกังวลมากจนเกินไป ความกลัวเป็นส่วนหนึ่งในพัฒนาการตามปกติของเด็ก ถ้าเขาฝันร้ายคุณพ่อคุณแม่ควรไปหาเขาทันทีแล้วพูดคุยและปลอบเรื่องฝันร้ายให้เขาหายตกใจ แต่ถ้ายังคงฝันร้ายอยู่บ่อยๆ คุณพ่อคุณแม่ควรหาต้นเหตุที่ทำให้ลูกน้อยฝันร้ายนะคะ ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่แนะนำว่า ถ้าหากพบว่าลูกน้อยมีความหวาดกลัวมากจริงๆ ให้พาเขามานอนกับคุณพ่อคุณแม่บ้างเป็นครั้งคราวก็ได้ค่ะ
การนอนจะช่วยให้เด็กเติบโต ช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้หลายด้าน คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรตีกรอบเวลานอนของลูกวัยนี้มากเกินไปนะคะ เมื่อลูกนอนหลับยากคุณแม่ควรหาเคล็ดลับวิธีดีดีมาใช้กับลูก จะดีกว่าการบังคับให้ลูกนอนค่ะ
บทความแนะนำเพิ่มเติม
1. เด็กควรนอนวันละกี่ชั่วโมง คุณแม่ควรรู้
2. 10เทคนิคปรับพฤติกรรมเบบี๋หลับยาก
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team