ชักจากไข้สูง
เมื่อลูกรักมีไข้สิ่งสำคัญที่คุณแม่ต้องเฝ้าระวัง คือ การชักจากไข้สูง โดยเฉพาะในเด็กเล็กมีโอกาสเสี่ยงต่อการชักจากไข้สูงได้มากที่สุด คุณพ่อคุณแม่ควรทราบถึงอันตรายของการชัก เพื่อดูแลป้องกันได้อย่างถูกต้องในวันที่ลูกมีไข้
การชักจากไข้สูงคืออะไร
การชักจากไข้สูง คือ อาการชักที่เกิดขึ้นขณะมีไข้สูง ร้อยละ 75 พบว่าเด็กมีอาการชักเมื่ออุณหภูมิสูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส และพบมากในเด็กอายุ 6 เดือน – 7 ปี เนื่องจากเป็นวัยที่สมองกำลังเจริญเติบโต และไวต่อการกระตุ้น จากอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้น
การชักจากไข้สูงมีผลต่อสมองและพัฒนาการของเด็กหรือไม่
การชักจากไข้สูงโดยทั่วไปจะหยุดภายใน 3 – 5 นาที จากการศึกษาพบว่าไม่มีผลต่อสมองหรือพัฒนาการ ยกเว้นในเด็กที่มีการชักต่อเนื่องนานเกิน 30 นาที ชักจนตัวเขียว ขาดออกซิเจน ส่งผลต่อสมองและพัฒนาการของเด็กในอนาคตได้
การดูแลเมื่อลูกชักจากไข้สูง
ขณะลูกชัก สิ่งสำคัญคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองต้องตั้งสติ อย่าตกใจ จับลูกนอนตะแคงเพื่อป้องกันการสำลัก ห้ามใช้นิ้วมือ หรือ วัตถุใดๆ ล้วง หรือ งัดปากโดยเด็ดขาด หากลูกชักนานเกิน 5 นาที ปากเขียวคล้ำ ให้รีบนำลูกส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
เด็กที่เคยชักจากไข้สูง มีโอกาสชักซ้ำได้หรือไม่
เด็กที่อายุน้อยมีโอกาสชักซ้ำได้มากกว่าเด็กที่อายุมาก และพบว่าเด็กที่เคยมีประวัติการชักจากไข้สูงครั้งแรกเมื่ออายุน้อยกว่า 1 ปีจะชักซ้ำบ่อยที่สุด การชักซ้ำบ่อยๆ และชักยาวนาน อาจส่งผลต่อสมองและพัฒนาการของลูกรักได้ เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครอง ต้องเฝ้าระวังการชักจากไข้สูง ด้วยการทำให้อุณหภูมิกายของลูกให้ลดลงเร็วที่สุด
จะป้องกันการชักจากไข้สูงในเด็กได้อย่างไร
1.ป้องกันการชักจากไข้สูงด้วยการเช็ดตัวลดไข้อย่างถูกวิธี
เมื่อลูกมีไข้ ควรเช็ดตัวลดไข้อย่างถูกวิธี ในเด็กเล็กควรใช้น้ำอุ่น เด็กโตใช้น้ำอุณหภูมิห้อง ห้ามใช้น้ำเเข็งเช็ดตัวถึงแม้จะอุณหภูมิสูงก็ตาม เพราะลูกอาจชักจากความเย็นของน้ำได้ เทคนิคการเช็ดตัวที่ถูกต้องและได้ผลดี คือ การเช็ดย้อนรูขุมขนเพื่อระบายความร้อน ขณะเช็ดตัวให้ออกแรงเหมือนถูตัว จะช่วยทำให้เส้นเลือดขยายตัว และรูขุมขนเปิดกว้างระบายความร้อนได้ดีขึ้น เวลาเช็ดตัวไม่ควรนานเกิน 15 นาที หลังเช็ดตัวควรซับตัวลูกให้แห้ง แล้วสวมเสื้อผ้าเบาสบาย ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าหนาหรือห่อตัว เพราะจะทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น
2. ป้องกันการชักจากไข้สูงด้วยยาลดไข้
ดูแลให้ลูกได้รับยาลดไข้พาราเซตามอลสำหรับเด็ก ให้ถูกต้องตามคำแนะนำในการใช้ยา หลังรับประทานยาลดไข้ควรวัดไข้ซ้ำเป็นระยะ หากไข้ไม่ลดลงหรืออุณหภูมิสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด
การดูแลลูกรักอย่างถูกต้องเหมาะสมขณะมีไข้ ด้วยการให้ยาลดไข้ร่วมกับการเช็ดตัวอย่างถูกวิธี แค่นี้ลูกรักของคุณจะปลอดภัยห่างไกลจากการชักได้ค่ะ
บทความแนะนำเพิ่มเติม
1. รู้ได้ยังไงว่าลูกมีไข้ และวิธีรับมือเบื้องต้น
2.เช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำอุ่นผสมมะนาว
3.สัญญาณอันตรายเมื่อลูกมีไข้ร่วมกับ15อาการต้องพบแพทย์ด่วน
เรียบเรียงโดย : Mama Expert Editorial Team
เรียบเรียงโดย Mamaexpert Editorial Team