ลูกดูดนมข้างเดียว เต้านมไม่เท่ากัน น้ำนมลดลง น้ำนมแห้ง แก้อย่างไรดี?

05 January 2012
40440 view

ลูกดูดนมข้างเดียว

ลูกดูดนมข้างเดียว อาจจะเกิดจากความถนัดของคุณแม่หรือความเคยชินของลูกเอง ถ้าลูกดูดนมแม่แค่ข้างเดียวบ่อยๆ เกิน  6 เดือนขึ้นไป ขนาดหน้าอกของคุณแม่จะไม่เท่ากันแน่นอนค่ะ Mamaexpert มีเคล็ดลับวิธีในการแก้ปัญหาลูกดูดนมข้างเดียว ที่ส่งผลทำให้เต้านมไม่เท่ากัน น้ำนมลดลง น้ำนมแห้ง มาบอกต่อแม่ๆเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มาดูกันเลยค่ะ

ลูกดูดนมข้างเดียว มีสาเหตุเกิดจาก

การที่ลูกมีพฤติกรรมชอบดูดเต้าข้างเดียว เกิดจากปัจจัยด้านคุณแม่และคุณลูกร่วมกันค่ะ ส่วนมากมักเกิดจากความถนัดส่วนตัวของคุณแม่ เช่น คุณแม่ที่ถนัดขวา หรืออุ้มลูกมือขวาก็จะให้ลูกกินนมเต้าซ้าย จึงสังเกตได้ว่าคุณแม่ที่ถนัดขวา หน้าอกด้านซ้ายจะใหญ่กว่าเพราะเป็นเต้านมที่ลูกดูดบ่อย จึงมีการผลิตน้ำนมอยู่เป็นประจำ เต้านมข้างที่ไม่ได้ดูดก็จะผลิตน้ำนมน้อย ขนาดของเต้านมก็จะเล็กลงค่ะ หรืออีก กรณีคือลูกของคุณแม่ติดความเร็วของน้ำนม เมื่อให้นมลูกไปประมาณ 1 เดือน นมข้างที่คุณแม่ให้ลูกกินน้ำนมจะผลิตได้มากกว่าและเร็วกว่า ซึ่งนมข้างที่เล็กกว่าจะผลิตน้ำนมได้น้อย ไหลช้ากว่าและเป็นน้ำนมข้น ตามกลไกการผลิตข้างที่มีปริมาณน้นมน้อยจะมีโซเดียมปริมาณมาก ทำให้มีรสชาติเค็มพอลูกดูดจะไม่ชอบใจ แต่นมข้างที่ปริมาณน้ำนมมากกว่าจะมีรสหวานถูกใจมากกว่าค่ะ

ขนาดเต้านมไม่เท่ากันจาก ลูกดูดนมข้างเดียว

หากลูกน้อยของคุณแม่ มีพฤติกรรมชอบเลือกเต้า หรือเลือกดูดนมแม่ข้างเดียวนานกว่า 6 เดือนขึ้นไป อาจส่งผลให้หน้าอกของคุณแม่จะไม่เท่ากันอย่างชัดเจน ข้างหนึ่งเล็ก อีกข้างหนึ่งใหญ่กลายเป็นปัญหากลุ้มใจของคุณแม่อีกเรื่องได้ หากยังอยู่ในช่วง 3 เดือนแรกที่ลูกกินนม การแก้ไขปัญหาติดดูดข้างเดียวจะทำได้ง่ายกว่าปล่อยให้ผ่านไปจนลูกอายุ 6 เดือนขึ้นไป เพราะจะเริ่มกินอาหารเสริมแล้ว จำนวนมื้อนมก็จะลดลง การกระตุ้นให้ลูกมาดูดนมข้างเล็ก จะฝึกยากค่ะ วิธีแก้ปัญหา ลูกดูดเต้าข้างเดียวมีดังนี้คะ

วิธีแก้ปัญหา ลูกดูดนมข้างเดียว

1. เปลี่ยนท่าให้นม ถ้าเป็นลูกที่ติดดูดนมข้างซ้าย เวลาดูดนมแก้มด้านขวาของลูกจะชิดเต้านมแม่พอดี ถ้าสลับให้ลูกมาดูดนมข้างขวา แก้มด้านขวาก็จะมาอยู่ด้านบนแทน ทำให้ลูกไม่คุ้นเคยประกอบกับมีน้ำนมไหลช้า ลูกก็จะงอแงระหว่างให้นม และไม่อยากดูดนมข้างนั้นได้ คุณแม่จึงควรเปลี่ยนทำให้นมมาใช้ท่าฟุตบอลค่ะ โดยสลับมาให้ลูกกินนมข้างขวา คุณแม่อุ้มลูกนอนตะแคง ให้ลำตัวและขาของลูกแนบบริเวณเอวคุณแม่ แล้วประคองลูกไว้ การให้นมท่าฟุตบอล แก้มขวาของลูกจะอยู่ติดที่เต้านมคุณแม่ ทำให้ลูกไม่รู้สึกว่าการกินนมของเขาแตกต่างไปจากเดิม

2. เป็นคุณแม่นักปั้ม ในขณะที่ให้นมลูกข้างที่น้ำนมไหลมาก ก็ให้ปั๊มนมข้างที่น้ำนมไหลน้อยไปพร้อมกันเลย ทำให้สามารถเก็บเป็นสต๊อกน้ำนมได้ด้วย หรือคุณแม่อาจจะปั๊มนมหลังจากที่ลูกกินนมเสร็จก็ได้ แล้วแต่ความสะดวก เพราะการปั๊มนมออกเป็นการกระตุ้นให้เต้านมผลิตน้ำนมออกมามาก ๆ ลดปัญหาที่น้ำนมแต่ละข้างไหลเท่ากัน หลังจากที่เต้านมทั้ง 2 ข้างถูกกระตุ้นแล้ว ก็ลองสลับเต้าให้ลูกดูดค่ะ

3. สลับข้างดูดในเวลาที่เหมาะสม ช่วงที่ลูกน้อยกำลังหิวควรให้ลูกกินนมข้างที่ใหญ่กว่าก่อนประมาณ 5 นาที ลูกก็จะได้รับน้ำนมเกินครึ่งท้องแล้ว หลังจากนั้นค่อยเปลี่ยนสลับมากินอีกข้าง จะช่วยลดอาการหงุดหงิดจากความหิวของลูกลงได้ และนมทั้ง 2 ข้างของคุณแม่ก็จะได้รับการกระตุ้นไปพร้อม ๆ กัน

4. หลอกลูกด้วยการเสริมปริมาณน้ำนม ด้วยเต้านมที่ไม่ค่อยได้รับการกระตุ้น ทำให้น้ำนมออกน้อย คุณแม่สามารถเพิ่มปริมาณน้ำนม โดยการนำขวดนมมาหยดน้ำนมลงบนเนื้อนมของคุณแม่ใกล้ ๆ ริมฝีปากลูก น้ำนมเหล่านี้จะช่วยชวนเชิญให้ลูกกินนมข้างนี้อย่างต่อเนื่องไปได้ แต่ถ้าวิธีนี้ไม่ได้ผล ก็อาจหาสายยางเล็ก (สาย NG) แปะไปที่หัวนม ส่วนปลายอีกข้างหนึ่งให้หย่อนลงขวดนม และให้ลูกดูดนมไปพร้อมกับการดูดนมจากสายยาง เพื่อให้ปริมาณน้ำนมเพียงพอ

ถ้าคุณแม่รู้สึกว่าลูกชอบดูดนมเพียงข้างใดข้างหนึ่งควรรีบหาวิธีแก้ไขภายใน 3 เดือน เพราะถ้าหากปล่อยให้เลยช่วงนี้ไปแล้ว ลูกมักไม่ยอมดูดนมตามที่คุณแม่ต้องการแล้วค่ะ ยิ่งถ้าปล่อยไว้นานไปถึง 6 เดือน อาจจะแก้ไข้ไม่ทันแล้วเพราะหลัง 6 เดือน เป็นช่วงที่ลูกกินอาหารเสริม และอาจจะกินนมแม่น้อยลงค่ะ การที่จะไปกระตุ้นข้างที่เล็กให้กลับมาใหญ่เท่ากันนั้นเป็นเรื่องยากแน่นอนค่ะ

บทความแนะนำเพิ่มเติมสำหรับคุณแม่

1. 10 ข้อดีของนมแม่ ที่คุณแม่ไม่รู้ไม่ได้

2. 12 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับนมแม่

3. ลูกไม่ยอมดูดเต้า ลูกปฏิเสธเต้า ทำอย่างไร

เรียบเรียงโดย : พว.นฤมล  เปรมปราโมทย์

ขอบคุณ : ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต